แถลงการณ์เครือข่ายจับตาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
แถลงการณ์เครือข่ายจับตาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เรื่อง การเรียกร้องให้รัฐบาลทำการวิเคราะห์ผลกระทบของร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ. ศ. 2560 มาตรา 77
ตามที่รัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2560 ให้เดินหน้ากระบวนการร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 3 จังหวัด ซึ่งมีเนื้อหาหลายประการที่สุ่มเสี่ยงต่อการสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตและคุณภาพชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการทำให้กระบวนการเช่าที่ดินระยะยาว 99 ปี ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ชาวต่างชาติสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากกรมที่ดินอีกต่อไป การยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง การรวบอำนาจในการให้ใบอนุญาตต่างๆ ไว้ที่หน่วยงานเดียว การให้มีคณะกรรมการชุดพิเศษในการพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ การให้อำนาจในการเวนคืนที่ดินและถมทะเล เเละอื่นๆ
นอกจากนี้ รัฐบาลก็ยังเดินหน้าผลักดันร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อใช้ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด โดยมีเนื้อหากฎหมายใกล้เคียงกัน นั้นคือ การเพิ่มอำนาจรัฐและลดขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติ/อนุญาตในการลงทุน พร้อมกันนั้น ก็จำกัดสิทธิของประชาชนที่เคยมีในกระบวนการเดิม เช่น กระบวนการผังเมือง หรือการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปด้วยในตัว
องค์กรภาคประชาชน เครือข่ายตะวันออก และกลุ่ม/องค์กรที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และเขตเศรษฐกิจพิเศษ จึงมารวมตัวกันในนาม “เครือข่ายจับตาเศรษฐกิจพิเศษ” เพื่อติดตามตรวจสอบการดำเนินการเดินหน้าร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับอย่างใกล้ชิด และพบว่า รัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการ หรือกำหนดแนวทางในการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ. ศ. 2560 อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งกำหนดให้ “ก่อนการตรากฎหมายใดๆ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง และการวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้านและเป็นระบบ”
เครือข่ายจับตาเศรษฐกิจพิเศษจึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้
1. ให้รัฐบาลเปิดเผยร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษล่าสุดที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการของภาครัฐ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ. ศ. 2560 มาตรา 59 ที่รัฐบาลต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข่าวสารข้อมูลสาธารณะได้โดยสะดวก เพื่อให้ประชาชนได้ใช้วิจารณญาณไตร่ตรอง และเตรียมข้อมูลหลักฐานและข้อคิดเห็นเพื่อเข้าร่วมกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมาย และถือเป็นก้าวแรกของการแสดงความจริงใจของรัฐบาล
2. ให้รัฐบาลจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมาย หรือ Regulatory Impact Assessment (RIA) ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฯ อย่างเคร่งครัด โดยให้องค์กรที่มีความเป็นอิสระและมีความเป็นกลางเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้จะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมายดังกล่าวด้วย
3. ให้รัฐบาลทบทวนเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะเนื้อหาที่มีการลิดรอนสิทธิของประชาชนและชุมชนท้องถิ่น ในการดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และไม่มีมลพิษหรือสิ่งคุกคามสุขภาพใดๆ เพื่อแลกกับการให้การอนุมัติ/อนุญาตการลงทุนที่รวดเร็ว แต่ปราศจากความรอบคอบและการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ หากภาครัฐหลีกเลี่ยงที่จะดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่พระราชทานมาให้ประชาชนชาวไทยเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ที่ผ่านมาเครือข่ายจับตาเขตเศรษฐกิจพิเศษก็พร้อมจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด เพื่อให้กระบวนการตราพระราชบัญญัติเป็นไปตามเจตจำนงแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างแท้จริง
พร้อมกันนี้ เครือข่ายจับตาเขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีการจัดเวทีวิชาการและกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนในประเทศ และในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษ ได้มีความตื่นตัวและแสดงความคิดเห็นของตนอย่างเต็มที่ ตามวิถีทางแห่งประชาธิปไตย และเพื่อให้การกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทุกหมู่เหล่าอย่างแท้จริง
พอเพียง เสมอภาค และยั่งยืน
เครือข่ายจับตาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
26 เมษายน 2560