เปิดข้อสังเกตหน่วยงานรัฐต่อร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
สำนักข่าวอิศรา นำความเห็น ข้อสังเกต ข้อกังวล ของหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ ทั้งสภาความมั่นคง กระทรวงพาณิชย์ แบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง ที่มีต่อการร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ....มานำเสนอ ล่าสุดภาคประชาชน แถลงขอรัฐปฏิบัติตามรธน.60 มาตรา 77 ฟังความอย่างรอบด้าน
หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.....ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน จนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้งเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับ ร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ไว้อย่างน่าสนใจ
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีข้อสังเกตถึงการได้มาซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นๆ โดยวิธีการถมทะเลเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษว่า ควรมีการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องรวมทั้งกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยและกฎหมายว่าด้วยการประมง โดยจะต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่้งแวดล้อมทางทะเลตลอดจนผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนในระยะยาว โดยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
กระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อสังเกตถึงการให้อำนาจสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ตามมาตรา 28 (8) และการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการหรือผู้อาศัยในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษตามมาตรา 43 (5) นั้น ควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขโดยคำนึงถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนำของต้องห้ามเข้ามาและส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ของต้องห้ามในการนำผ่านสินค้าที่ใช้ได้สองทาง รวมทั้งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
ร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการมอบหมายให้เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือผู้ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกมอบหมาย ในเรื่องการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ หรือรับจดทะเบีบนหรือรับแจ้งตามกฎหมาย ดังนี้
- ให้อำนาจในการอนุมัต อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ หรือรับจดทะเบียน หรือรับแจ้งตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์นั้น อาจไม่สอดคล้องกับหลักการกระจายอำนาจ ที่กำหนดให้ถ่ายโอนภารกิจในการรับจดทะเบียนพาณิชย์ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันมีการกระจายอำนาจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลแล้ว ดังนั้น การรวมศูนย์อำนาจกลับไปยังเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จึงอาจไม่สอดคล้องกับหลักการ
-อำนาจการอนุมัต อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ หรือรับจดทะเบียน หรือรับแจ้งตามกฎหมายอื่นนั้น อาจมีความหมายรวมถึงการอนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจด้วยนั้น เห็นว่า พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ได้กำหนดประเภทธุรกิจไว้ 3 บัญชี ได้แก่ บัญชีที่หนึ่ง ธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบกิจการด้วยเหตุผลพิเศษ บัญชีที่สอง ธุรกิจที่เกี่ยวกับความปลอดภัยหรือความมั่นคงของประเทศหรือมีผลกระทบต่อศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี หัตถกรรมพื้นบ้าน หรือทรัพยากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บัญชีสาม ธุรกิจที่คนไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะแข่งขันในการประกอบกิจการกับคนต่างด้าว (มาตรา 8) ซึ่งหากบัญญัติมอบอำนาจให้เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีอำนาจอนุมัต หรืออนุญาตการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ย่อมถือได้ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.2542
ดังนั้นการยกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงควรคำนึงถึงความสอดคล้องกับหลักการของพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เช่น กรณีการแจ้งขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือกรณีได้รับหนังสืออนุญาตให้ประกอบอุตสาหกรรมหรือประกอบการค้าเพื่อส่งออก ตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (มาตรา12) รวมถึงกรณีมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติเรื่องการอนุญาตของคนต่างด้าวไว้เป็นการเฉพาะ ก็ให้ปฏิบัติตามกฎหมายนั้น โดยมิให้นำกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวมาใช้บังคับ (มาตรา 13)
ด้านกระทรวงการคลัง พิจารณาแล้ว เห็นว่า ในประเด็นการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษี และการทำธุรกรรมทางการเงินเป็นการให้สิทธิประโยชน์มากกว่า ร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ที่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ต.ค.2559 ซึ่งเป็นการยกเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวจ้องอาจก่อให้เกิดผลกระทบและช่องโหว่ในการกำกับดูแลในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ควรกำหนดเฉพาะนโยบาย และให้หน่วยงานที่รับผิดชอบรับไปดำเนินการในทางปฏิบัติต่อไปจะเป็นการเหมาะสมกว่า
ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีข้อกังวลในการที่จะให้คณะกรรมการนโยบายเป็นผู้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขให้ถือปฏิบัติแทน ธปท.ในเรื่องที่เกี่ยวกับการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เพราะอาจจะทำให้เกิดช่องโหว่ของกฎหมายที่จะมีผลต่อการดูแลเสถียรภาพการเงินของประเทศ และถ้าหากเกิดวิกฤตทางการเงิน ธปท.อาจไม่สามารถกำกับดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยนได้ทันการณ์ จึงขอให้พิจารณายกเลิกความในมาตรา 57 และธปท.จะหารือร่วมกับคณะกรรมการนโยบายให้ออกหลักเกณฑ์ภายใต้พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เพื่อให้สิทธิประโยชน์ในการทำธุรกรรมทางการเงินแก่ผู้ประกอบการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเป็นพิเศษต่อไป
ส่วนสำนักนายกรัฐมนตรี ก็มีข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการตรากฎหมายที่กำหนดให้ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง (ประชาชน) วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน
และล่าสุด เครือข่ายจับตาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลทำการวิเคราะห์ผลกระทบของร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามขั้นตอนองรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 โดยภาคประชาชน แสดงความเป็นห่วงการให้อำนาจในการเวรคืนที่ดินและแถมทะเล การรวบอำนาจในการให้ใบอนุญาตต่างๆ ไว้ที่หน่วยงานเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้มีคณะกรรมการชุดพิเศษในการพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
ฉะนั้น ต้องจับตาดูกันต่อไป รัฐบาลคสช. จะเปิดใจรับฟังข้อสังเกต ข้อกังวลจากหน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและมีการวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบคอบและเป็นระบบหรือไม่อย่างไร
ขอบคุณภาพจาก:http://daily.bangkokbiznews.com