ชาวบ้านสะเอียบเผาหุ่นแช่งเสธฯหนั่น ยื่นหนังสือนายกฯเลิกปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้น
ชาวบ้านสะเอียบเผาหุ่น พล.ต.สนั่น เรียกวิญญาณถ่วงแม่น้ำ ประท้วงปลุกกระแสเขื่อนแก่งเสือเต้น ยกหลายงานวิจัยชี้ไม่ควรสร้าง อยู่บนรอยเลื่อนเปลือกโลก ไม่คุ้มทุน เยียวยาน้ำท่วมแค่ 8% ทำลายป่าสักทองผืนสุดท้าย เสนอ 19 แผนจัดการทั้งระบบแก้น้ำแล้งน้ำท่วม หนุนนโยบายพ่อเมืองแพร่สร้างล้านฝาย ยื่นจดหมายถึงนายกฯเลิกโครงการเด็ดขาด ออกกฏชุมชนห้ามผู้ไม่หวังดีเข้าพื้นที่
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ชาวบ้านตำบลสะเอียบกว่า 1,000 คน รวมตัวกันที่ผาอิง ริมแม่น้ำยม ต.สะเอียบ จ.แพร่ เผาหุ่นพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี และทำพิธีเรียกวิญญาณเข้าหม้อถ่วงแม่น้ำยมตามความเชื่อ เพื่อตอบโต้ที่ออกมาให้สัมภาษณ์จะฟื้นเขื่อนแก่งเสือขึ้นมาสร้างให้ได้ ชาวบ้านสะเอียบซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงหากมีการสร้างเขื่อนจึงออกมาประกาศเจตนารมณ์คัดค้าน
“สองสามวันที่ผ่านมา เสธ.หนั่นประกาศจะรื้อฟื้นเขื่อนแก่งเสือเต้น ชาวบ้านจึงเห็นว่าเมื่อคิดไม่ดีมาก็ต้องเผาสาปแช่งเป็นการตอบโต้ให้ได้รับรู้ว่าชาวบ้านจะต่อสู้ถึงที่สุด ไม่ยอมให้เขื่อนเกิดขึ้น เรามีทางออกการจัดการน้ำหลายแนวทาง แต่ฝ่ายการเมืองก็จะสร้างแต่เขื่อน ทั้งที่เขื่อนทั้งประเทศกำลังเกิดวิกฤตแทบไม่มีน้ำอยู่แล้ว” นายอุดม ศรีคำภา แกนนำชาวบ้านคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น กล่าว
น.ส.กัลยานี โสมแจง ตัวแทนชาวบ้านได้อ่านคำประกาศเจตนารมณ์ว่า ชาวบ้านจะปกป้องป่าสักทองกว่า 40,000 ไร่ผืนสุดท้ายในประเทศไว้ไห้ลูกหลานและคนไทย จะต่อสู้คัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นให้ถึงที่สุด และเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการเด็ดขาด โดยให้สนับสนุนนโยบายจังหวัดแพร่ในการสร้างหนึ่งล้านฝายทดน้ำแทนเขื่อน ซึ่งแก้ปัญหาได้โดยไม่กระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชน
“การแก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมต้องร่วมกันรักษาฟื้นฟูป่า ไม่ใช่มาทำลายป่าสักทองเพื่อสร้างเขื่อน เมื่อฝนไม่ตกเขื่อนก็แห้ง เราเห็นด้วยกับผู้ว่าราชการที่มีนโยบายผลักดันโครงการฝายทดน้ำล้านฝายแทนเขื่อนแก่งเสือเต้น จะสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนป่า เมื่อป่าสมบูรณ์ฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล” น.ส.กัลยานี กล่าว
จากนั้นตัวแทนชาวบ้านได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านนายอำเภอสอง จ.แพร่ ระบุว่ามีงานวิจัยมากมายถึงความไม่เหมาะสมการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น กรมทรัพยากรธรณีชี้ว่าเสี่ยงมากที่จะสร้างเขื่อนบนแนว “รอยเลื่อนแพร่” ของเปลือกโลกที่ยังมีการเคลื่อนตัวตลอดเวลา, องค์กรอาหารและการเกษตรโลกระบุว่าเขื่อนนี้สามารถเยียวยาน้ำท่วมได้เพียง 8%, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยระบุว่าไม่คุ้มทุน, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยระบุว่าจะกระทบระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมอย่างมาก
ทั้งนี้จากการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ระบุว่ายังมีทางเลือกการจัดการน้ำอีกหลายวิธีที่ไม่ต้องสร้างเขื่อน โดยมหาวิทยาลัยนเรศวรเสนอ 19 แผนการจัดการน้ำแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมอย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม เช่น แนวทางภูมินิเวศวิทยาที่เน้นการจัดการน้ำที่ยั่งยืน, การจัดการป่าและน้ำโดยประชาชนมีส่วนร่วม เช่น อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ, ขุดลอกตะกอนแม่น้ำและทำทางเบี่ยงน้ำ, ฟื้นฟูที่ราบแม่น้ำยมโดยขุดลอกคูคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำกับหนองบึง ยกถนนสูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ, ปรับปรุงระบบชลประทานขนาดใหญ่ กลาง เล็กจำนวนมากที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ, พัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กตามแผนของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งใช้งบประมาณเพียงหมู่บ้านละ 3 ล้านกว่าบาท, รณรงค์ประหยัดน้ำฤดูแล้ง, ผลักดันนโยบายล้านฝายทดน้ำ
คณะกรรมการกลุ่มราษฎรรักษ์ป่าตำบลสะเอียบ เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นอย่างเด็ดขาด โครงการพัฒนาใดๆในลุ่มน้ำยมต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมบนทิศทางความยั่งยืนของทรัพยากรและวิถีชุมชน และขอให้รัฐบาลสนับสนุนการรักษาป่าในรูปแบบป่าชุมชนของชาวบ้าน
นายศรชัย อยู่สุข ชาวบ้านดอนชัยสักทอง ต.สะเอียบ กล่าวว่าชุมชนสะเอียบตั้งถิ่นฐานอยู่ร่วมกับป่าอย่างสมดุลมากว่า 200 ปี ป่าเป็นเหมือนซุเปอร์ปมาร์เก็ตที่มีเห็ด หน่อไม้ ผัก สมุนไพร ชาวสะเอียบร่วมกันตั้งกลุ่มราษฏรรักษ์ป่ามาเกือบ 20 ปีเพื่อปกป้องรักษาป่าสักทอง ร่วมลาดตระเวนป้องกันป่ากับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ มีพิธีบวชป่าสืบชะตาแม่น้ำ ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ปลูกป่าชุมชน สร้างฝายทดน้ำ
“ยังมีผู้คิดทำลายป่าสักทองธรรมชาติ ทำลายวิถีชีวิตชุมชน ทั้งที่ชาวบ้านได้พยายามเสนอทางออกในการแก้ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งหลายครั้ง โดยใช้งบประมาณน้อยกว่า กระทบป่ากระทบชุมชนน้อยกว่าโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง” นายศรชัย กล่าว
ชาวบ้านสะเอียบยังประกาศห้ามกรมชลประทาน เจ้าหน้าที่บริษัทปัญญา นักการเมืองที่ไม่หวังดีต่อป่าสักทองเข้าพื้นที่ โดยชุมชนจะไม่รับรองความปลอดภัย
.