ภาคีป้องกันอุบัติเหตุฯ ชวนรณรงค์สัปดาห์แห่งความปลอดภัยทางถนน2017
ภาคีป้องกันอุบัติเหตุทางถนนชวนทุกหน่วยงาน ร่วมรณรงค์สัปดาห์แห่งความปลอดภัยทางถนน 2017 ร่วมกับองค์การสหประชาชาติ
นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือแห่งองค์การอนามัยโลกและโรงพยาบาลขอนแก่น ร่วมด้วยแผนงานสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน (สอจร.) ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิไทยโรดส์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เชิญชวนหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน กลุ่มผู้สนใจในโลกเว็บไซด์ โซเชียลมีเดีย หรือ นิวมีเดีย ร่วมกัน แสดงสัญลักษณ์สัปดาห์แห่งความปลอดภัยทางถนน ปี 2017 ครั้งที่ 4 เน้นการจัดการความเร็วที่องค์การสหประชาชาติขอให้ประเทศสมาชิกดำเนินการร่วมกันทั่วโลก ระหว่างวันที่ 8-14 พฤษภาคม 2560 เพื่อลดจำนวน ผู้เสียชีวิตจำนวนกว่าคน 6 แสนคน จาก 1.5 ล้านคน ที่เสียชีวิตเพราะการขับรถเร็ว ภายใต้สโลแกน “SAVE LIVES # SLOW DOWN” หรือ “ลดเร็ว#ลดเสี่ยง”
ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือฯ กล่าวว่า การขับรถเร็วเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักทำให้ผู้ประสบเหตุ ถึงแก่ชีวิตได้ การใช้ความเร็วเพียง 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงบนถนนในเขตเมืองหรือชุมชนที่มีผู้เดินเท้า ขี่จักรยาน หรือ จักรยานยนต์หนาแน่นสามารถช่วยป้องกันการเสียชีวิตจากการชนได้ถึงร้อยละ 95 ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ พร้อมกันนี้ ยังเห็นด้วยและชื่นชมกับมาตรการของรัฐบาล ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ใช้ข้อมูลผลการรายงาน สถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนโลก ปี 2015 ที่องค์การอนามัยโลก และหน่วยงานวิชาการได้ศึกษาไว้ว่า ประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศลิเบีย เสียชีวิตจากมอเตอร์ไซด์เป็นอันดับ 1 ของโลก บวกกับข้อมูลว่า รถยนต์ปิคอัพเป็นยานพาหนะประเภทที่สองที่มีเกิดอุบัติเหตุ และเสียชีวิตมากรองลงมาจากมอเตอร์ไซด์ เกิดเป็นมาตรการป้องกันอุบัติเหตุ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และชี้ให้เห็นว่า ถนนในเมืองไทยอันตรายที่สุดในโลก เพราะมีความเสี่ยง ทั้งจาก คนขับรถเร็ว คนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับ ไปจนถึงพฤติกรรมละเมินกฎจราจรจำนวนมาก
ด้าน รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐพงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย อธิบายถึง ความเหมาะสมของการใช้ความเร็วที่ต้องดูตามบริบทของถนน เช่น ถนนในชุมชนที่มีผู้สัญจรหรือใช้ถนนมาก ทั้งคนเดินเท้า คนขี่จักรยาน อย่างบริเวณตลาด โรงเรียน ความเร็วที่จะเป็นอันตรายน้อยที่สุดที่จะทำให้ 9 ใน 10 คน ไม่เป็นอันตรายหากถูกชน อยู่ที่ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ถ้าเป็นเส้นทางหลวงหรือมอเตอร์เวย์ ผู้ขับขี่สามารถใช้ความเร็วได้ไม่เกินตามกฎหมายกำหนด
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ให้ข้อสังเกตว่า ความปลอดภัย บนถนนยังเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อม เช่น สิ่งกีดขวางข้างทาง ซึ่งการใช้ความเร็วบนถนนสายหลัก หากขับรถ ด้วยความเร็วเกินกว่าป้ายกำหนดแล้วเกิดการชน แน่นอนว่า ความเสียหายจะรุนแรงตามไปด้วย
ด้านนายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เน้นถึงการปรับทัศนคติของประชาชนที่ว่า “คนถึงที่ตายก็ต้องตาย” ว่าในทางปฏิบัติแล้ว เราสามารถป้องกันได้มากกว่าที่จะเชื่อเช่นนั้น โดยยกตัวอย่าง การเกิดเหตุผู้ขับรถยนต์มิตซูบิชิ ปาเจโร เสียหลักบนถนนจนมีผู้เสียชีวิตถึง 3 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตทั้งหมด ไม่คาด เข็มขัดนิรภัย โดยชี้ให้เห็นว่า หากผู้โดยสารทั้งหมดคาดเข็มขัดนิรภัย จะเกิดความสูญเสียที่เบาลงกว่านี้มาก