งบพัฒนาจังหวัด7.3หมื่นล้าน เบิกจ่ายจริงแค่470ล้าน
ผอ.สำนักงบประมาณ เผยจัดสรรงบแล้ว 1.45 แสนล้านบาท งบพัฒนาจังหวัด 7.3 หมื่นล้าน แต่เบิกจ่ายจริงแค่ 470 ล้าน คาดเบิกจ่ายทั้งหมดภายในปี 61
นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยความคืบหน้าของการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมวงเงิน 1.9 แสนล้านบาท ว่า ขณะนี้สำนักงบฯได้ดำเนินการจัดสรรไปแล้วจำนวน 1.45 แสนล้านบาท และกำลังจัดสรรไว้เป็นงบกลางรายการค่าใช้จ่ายส่งเสริมความเข้มแข็งเศรษฐกิจประเทศจำนวน 1.9 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือทั้งหมดจะจัดสรรไว้เป็นงบสำรองฉุกเฉินเพื่อดูแลเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ งบเพิ่มเติมที่จัดสรรไปแล้วจำนวน 1.45 แสนล้านบาท แบ่งเป็น การจัดสรรงบเพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัดจำนวน 7.3 หมื่นล้านบาท จัดสรรเข้ากองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐจำนวน 2 หมื่นล้านบาท จัดสรรเข้ากองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวน 1 หมื่นล้านบาท จัดสรรเข้ากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท และจัดสรรเพื่อชดใช้เงินคงคลังจำนวน 2.7 หมื่นล้านบาท
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า งบกลางเพิ่มเติมที่จัดสรรไปแล้ว มียอดการเบิกจ่ายจริงจำนวนประมาณ 3.78 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น การเบิกจ่ายของกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวน 1 หมื่นล้านบาท การเบิกจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 2.7 หมื่นล้านบาท และการเบิกจ่ายงบพัฒนากลุ่มจังหวัดจำนวน 470 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการเบิกจ่าย โดยในส่วนของงบพัฒนากลุ่มจังหวัดนั้น อยู่ระหว่างการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเราคาดว่า ภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า จะมียอดการเซ็นสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้60-70% ของวงเงิน 7.3 หมื่นล้านบาท
“ในส่วนของงบพัฒนากลุ่มจังหวัด ที่จริงแล้วกำหนดวงเงินไว้ 7.5 หมื่นล้านบาท แต่อนุมัติให้ 7.3 หมื่นล้านบาท เนื่องจาก ยังมีบางกลุ่มจังหวัดที่ยังไม่มีความพร้อมในการดำเนินโครงการ เราจึงตัดโครงการเหล่านั้นออกไป และนำงบที่ตัดออกไป นำไปจัดสรรให้สำหรับงบกลางเพื่อรายการค่าใช้จ่ายส่งเสริมความเข้มแข็งเศรษฐกิจประเทศ”
สำหรับจำนวนโครงการพัฒนากลุ่มจังหวัดที่ได้รับจัดสรรงบกลางเพิ่มเติม 7.3 หมื่นล้านบาท มีจำนวนกว่า 1 หมื่นโครงการ ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็กวงเงินประมาณ 7-10 ล้านบาท โดยนำไปดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับการสร้างถนนและระบบน้ำ รวมถึงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งจะดำเนินโครงการอยู่ภายใต้หลักการพัฒนา 4 ด้าน คือ 1.การพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมการค้าและการลงทุน 2.การพัฒนาศักยภาพด้านการเกษตร 3.การพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยว และ 4.การพัฒนาสิ่งแวดล้อม
“งบพัฒนากลุ่มจังหวัดนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการขนาดเล็ก ซึ่งเรามีเป้าหมายการเบิกจ่ายจะต้องแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2560 นี้ เพราะมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เม็ดเงินดังกล่าวได้ลงไปเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจปีนี้โตตามเป้าหมาย ซึ่งก็ได้ผล เพราะแม้เม็ดเงินจะยังไม่ลงไปทั้งหมดในขณะนี้ ก็ช่วยสร้างความเชื่อมั่นทางจิตวิทยาแก่นักลงทุนได้ระดับหนึ่งแล้ว”
ส่วนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ จะถูกอยู่ในการจัดสรรงบกลางเพื่อรายการค่าใช้จ่ายส่งเสริมความเข้มแข็งเศรษฐกิจประเทศวงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งโครงการเหล่านี้ อาจจะไม่สามารถเบิกจ่ายได้ภายในสิ้นปีนี้ โดยอาจจะผูกพันไปถึงปีหน้า โดยในวงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาทนี้ ครม.ได้อนุมัติจัดสรรให้กับโครงการขนาดใหญ่แล้ววงเงิน 6,200 ล้านบาท แบ่งเป็น 10 โครงการ ประกอบด้วย
1.โครงการวางระบบป้องกันน้ำท่วมเมืองพัทยาวงเงิน 600 ล้านบาท 2.โครงการศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการครบวงจรของกระทรวงพาณิชย์วงเงินประมาณ 600 ล้านบาท 3.โครงการตลาดกลางข้าวสารสู่มาตรฐานสากลวงเงิน 323 ล้านบาท 4.โครงการพัฒนาระบบตลาดภูมิภาครองรับตลาดประเทศเพื่อนบ้านวงเงิน 115 ล้านบาท 5.โครงการส่งเสริมตลาดกลางชุมชนประชารัฐเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาควงเงิน 948 ล้านบาท โดยโครงการที่ 2-5 เป็นโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพาณิชย์
6.โครงการพัฒนาแผนบูรณาการขับเคลื่อนสมุนไพรเชิงเศรษฐกิจและโครงการสมุนไพรกลุ่มจังหวัดวงเงิน1,400 ล้านบาท กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าของโครงการ 7.โครงการวิจัยต่างๆเพื่อบ่มเพาะถ่ายทอดเทคโนโลยีวงเงิน 1,200 ล้านบาท มีกระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าของโครงการ 8.โครงการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21วงเงิน 643 ล้านบาท มีกรมอาชีวะฯเป็นเจ้าภาพ 9.พัฒนาการท่องเที่ยว 643 ล้านบาท มีกระทรวงการท่องเที่ยวฯเป็นเจ้าของโครงการ และ 10.โครงการพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ 161 ล้านบาท มีสำนักงานสุขภาพฯเป็นเจ้าของโครงการ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาของการจัดทำงบประมาณแบบกลุ่มจังหวัดที่พบส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาในเรื่องความไม่พร้อมของกลุ่มจังหวัดในการจัดทำโครงการที่มองถึงองค์รวม โดยส่วนใหญ่ยังคิดถึงการพัฒนาเฉพาะจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเท่านั้น เช่น บางจังหวัดคิดโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมภายในจังหวัดของตนเอง แต่ไม่ประเมินถึงผลกระทบที่จะมีต่อจังหวัดใกล้เคียงว่า จะได้รับผลกระทบจากการป้องกันน้ำท่วมในจังหวัดตนเองอย่างไร เป็นต้น ดังนั้น ในหลายโครงการจึงยังไม่ได้รับการอนุมัติ
“ท่านรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อยากให้ร่วมมือพัฒนาพื้นที่ไปในระดับภูมิภาคเลย โดยยกตัวอย่างการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในตลอดฝั่งริมแม่น้ำโขงที่ไม่ได้เป็นการพัฒนาแบบจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง หากสามารถพัฒนาในภาพรวมได้ จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ไม่ใช่เฉพาะคนไทย แต่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีศักยภาพด้านกำลังซื้อเข้ามาได้มากขึ้นด้วย”
ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวอีกว่า สำนักงบฯจึงรับนโยบายในเรื่องการพัฒนาพื้นที่ระดับภูมิภาคมาเป็นแนวทางในการจัดสรรงบประมาณในปี 2561 โดยจะจัดสรรงบเป็นรายภาค ซึ่งแบ่งเป็น 6 ภาคด้วยกัน ประกอบด้วย ภาคเหนือ,ภาคใต้,ภาคตะวันออก,ภาคอีสาน,ภาคกลาง และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือEEC ประกอบด้วย ชลบุรี,ระยอง และฉะเชิงเทรา ออกมาเป็นอีกภาคหนึ่งต่างหาก เนื่องจาก เป็นเขตที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง
การจัดทำงบประมาณในระดับภาค เนื่องจาก ในบางกรณีการพัฒนาโครงการแบบโครงการเดี่ยวๆ ในระดับจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัด อาจไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดให้แก่พื้นที่ได้ เช่น หากจะพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตเพียงจังหวัดเดียว ก็สามารถทำได้ แต่หากทำเป็นแพคเกจ โดยดึงจังหวัดกระบี่ และพังงา เข้ามาร่วมด้วย จะทำให้ความเจริญสามารถกระจายตัวได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ แนวคิดการจัดงบประมาณในระดับภาคเพื่อดึงศักยภาพของพื้นที่ให้สูงขึ้นนั้น ยังไม่จำเป็นต้องมองในแง่พื้นที่ เป็นจังหวัด แต่สามารถมองเป็นเขตภูมิศาสตร์ได้ด้วย เช่น โครงการEast-West Corridorทั้งนี้ การลงทุนในระดับภาค นอกเหนือจากการใช้งบประมาณ และเงินกู้แล้ว ยังสามารถให้เอกชนลงทุนในบางโครงการได้ด้วย