เทียบชัดๆ6เอกชน vs. บ.ขายซอฟท์แวร์ ก่อนท่าเรือแหลมฉบังใช้วิธีพิเศษจ้างขนสินค้า 52 ล.
เปิดชัดๆ ข้อมูล 6 เอกชน vs. บ.ขายซอฟท์แวร์ ก่อน สตง. ลุยสอบท่าเรือแหลมฉบัง ใช้วิธีพิเศษจ้างขนสินค้า7เดือน52 ล. พบ ทุกรายจดทะเบียนจัดตั้งมานานนับสิบปี แจ้งวัตถุประสงค์ทำธุรกิจขนส่ง-สถานที่เก็บสินค้าโดยตรง มีรายได้หลักร้อยล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่ถูกเชิญเข้าร่วมคัดเลือก ล่าสุดผอ.การท่าเรือฯ ชี้อิศราแจง ว่าจ้างในนามกลุ่มกิจการร่วมค้า เสนอราคาต่ำสุด ดำเนินการตามระเบียบจัดซื้อจ้าง
เหตุใดท่าเรือแหลมฉบัง จึงต้องดำเนินการจัดหาผู้รับจ้าง โดยวิธีพิเศษ เข้ามารับจ้างงานบริการยกขนและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าขึ้นลงรถไฟเป็นการชั่วคราว ระยะเวลา 7 เดือน วงเงินกว่า 52 ล้านบาท โดยปรากฎชื่อ บริษัท บูรพา เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งทำธุรกิจซื้อขายซอฟท์แวร์ และมีรายได้ในปี 2558 เพียงแค่ 3 แสนบาท เป็นผู้รับจ้าง ทั้งที่ ในปัจจุบัน บริษัทเอกชนที่มีประสบการณ์ในการให้บริการยกขนและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าขึ้นลงรถไฟในประเทศไทย มีจำนวนกว่า 6 ราย
น่าจะเป็นเงื่อนปมสำคัญที่สุด จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในช่วงเดือน มี.ค.2560 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือถึง ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า เหตุใดท่าเรือแหลมฉบัง จึงต้องดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างโดยวิธีพิเศษ เข้ามารับจ้างงานบริการยกขนและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าขึ้นลงรถไฟเป็นการชั่วคราว ระยะเวลา 7 เดือน วงเงินกว่า 52 ล้านบาท
โดยปรากฎชื่อ บริษัท บูรพา เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งทำธุรกิจซื้อขายซอฟท์แวร์ และมีรายได้ในปี 2558 เพียงแค่ 3 แสนบาท เป็นผู้รับจ้าง
(อ่านประกอบ : ลุยสอบท่าเรือแหลมฉบัง ใช้วิธีพิเศษจ้าง บ.ขายซอฟท์แวร์ รับงานขนสินค้า7เดือน52 ล.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลบริษัทเอกชน 6 แห่ง ที่ถูกระบุว่า มีประสบการณ์ในการให้บริการยกขนและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าขึ้นลงรถไฟในประเทศไทย แต่ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมคัดเลือกรับงานนี้ด้วย คือ 1. บริษัท สยามชอร์ไซด์เซอร์วิส จำกัด 2.บริษัท อีสเทิร์นซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด 3.บริษัท เอเวอร์กรีนคอนเทนเนอร์เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด 4. บริษัท ทิฟฟ่า ไอซีดี จำกัด 5.บริษัท ไทย ฮันจิน โลจิสติกส์ จำกัด 6.บริษัท เอ็น.วาย.เค.ดิสทริบิวชั่น เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด
ปรากฎข้อมูลดังต่อไปนี้
@ บริษัท สยามชอร์ไซด์เซอร์วิส จำกัด
จดทะเบียนจัดตั้ง 22 มิ.ย.2526 ทุน 20 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 33/4 หมู่ที่ 1 ถนนเจ้าคุณทหาร แขวงคลองสามประเวศ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า
ปรากฎชื่อ นาย โซเร็น โชสตาน เจคอบเซ็น นาย แมทไทจ์ส บาสเตียน แวน เดน โฮเวลล์ นาย โชต หาญอุทัยกิจ นาย สมควร รุ้งสุวรรณ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 30 เมษายน 2559 บริษัท บริษัท อินแลนด์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด
นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ณ 31 ธันวาคม 2558 แจ้งว่า มีรายได้รวม 1,098,247,793 บาท รวมรายจ่าย 1,067,161,186 บาท กำไรสุทธิ 21,670,377 บาท
@ บริษัท อีสเทิร์นซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด
จดทะเบียนจัดตั้ง 13 ธ.ค.2533 ทุน 200 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง ท่าเทียบเรือตู้สินค้า ที่ 3 ถนนสุขุมวิท ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
แจ้งประกอบธุรกิจขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า
ปรากฎชื่อนายวอง ซึ ปิง , นาย ออง คิม ปอง ,นายชิเกกิ คิคุโนะ , นายโทชิฮิโระ โฮริอุจิ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 17 มีนาคม 2559 บริษัท ไทย พอร์ท เวนเจอร์ส จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด
นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ณ 31 ธันวาคม 2558 แจ้งว่า มีรายได้รวม 2,022,545,479 บาท รวมรายจ่าย 1,248,778,511 บาท กำไรสุทธิ 681,032,452 บาท
@ บริษัท เอเวอร์กรีนคอนเทนเนอร์เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด
จดทะเบียนจัดตั้ง 10 เม.ย. 2534 ทุน 1,874,700,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 108 หมู่ที่ 14 ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
แจ้งประกอบธุรกิจขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า (บริการท่าเทียบเรือตู้สินค้า เพื่อการนำเข้าและส่งออก บริการขนส่งตู้สินค้า ลานตู้สินค้า และบรรจุหีบห่อ เพื่อนำเข้าและส่งออก)
ปรากฎชื่อ นาย นิวัตน์ แจ้งอริยวงศ์ นาย ธีระ เกียรติมงคลกุล นาย โยชิยูกิ ไซมิซึ น.ส. อภิรักษ์ รัตนอร่าม น.ส. พิมพ์ขวัญ เวทยาวิกรมรัตน์ นาย หยาง ต๋า เจิ่น นาย ไต้, จิ่น-ฉวน เป็นกรรมการผู้ รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 28 เม.ย.2559 บริษัท เอเวอร์กรีนอินเตอร์เนชั่นแนลโฮลดิ้ง(ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด
นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ณ 31 ธันวาคม 2558 แจ้งว่า มีรวมรายได้ 2,192,861,299.64 บาท รวมรายจ่าย 1,895,549,243.39 บาท กำไรสุทธิ 231,587,897.65 บาท
@ บริษัท ทิฟฟ่า ไอซีดี จำกัด
จดทะเบียนจัดตั้ง 10 พ.ย.2540 ทุน 60 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 33/4 หมู่ที่ 1 ถนนเจ้าคุณทหาร แขวงคลองสามประเวศ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า (บริการขนส่ง ขนถ่ายสินค้า บรรจุและแยกสินค้ากล่อง บริการโรงพักสินค้า)
ปรากฎชื่อนายสุวิทย์ รัตนจินดา นายสมชาย บรรลือเสนาะ นายพงศ์เทพ ตั้งพินิจจิต นายธัญญา ธัญญพงศ์พานิช นายวิฑูรย์ สันติบุญญรัตน์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 22 เมษายน 2559 บริษัท ทิฟฟ่า จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด
นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ณ 31 ธันวาคม 2558 แจ้งว่า มีรายได้รวม 278,172,734.84 บาท รวมรายจ่าย 263,301,550.02 บาท กำไรสุทธิ 11,654,558.88 บาท
@ บริษัท ไทย ฮันจิน โลจิสติกส์ จำกัด
จดทะเบียนจัดตั้ง 10 พฤศจิกายน 2540 ทุน 75 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 33/4 (ไอซีดี) หมู่ที่ 1 ถนนเจ้าคุณทหาร แขวงคลองสามประเวศ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า (ให้บริการสถานีบรรจุสินค้า ขนส่งสินค้าทางบกและบริการที่เกี่ยวข้อง)
ปรากฎชื่อ นายยอง จุง อก เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ นาย วู จอง ยาง นาย เกียรติณรงค์ โคมิน นาย สามารถ เพ็ชรตระกูล รวมเป็นกรรมการ รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 22 เมษายน 2559 บริษัท ฮันจิน ชิปปิ้ง จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด
นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ณ 31 ธันวาคม 2558 แจ้งว่า มีรายได้รวม 278,090,894.98 บาท รวมรายจ่าย 264,720,305.76 บาท กำไรสุทธิ 8,711,694.01 บาท
@ บริษัท เอ็น.วาย.เค.ดิสทริบิวชั่น เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด
จดทะเบียนจัดตั้ง 29 มิถุนายน 2538 ทุน 20 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 33/4 หมู่ที่ 1 ถนนเจ้าคุณทหาร แขวงคลองสามประเวศ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจขนถ่ายสินค้าบริการอื่นที่เกี่ยวกับกิจการท่าเรือ (การขนส่ง)
ปรากฎชื่อ นายทาคาชิ ซาไก นายณัฎฐพันธุ์ ศิริรัตนพล นายวิษณุ รัตนโชติช่วง นายฮิโรคาซุ โนกุจิ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 29 กรกฎาคม 2559 บริษัท เอ็น วาย เค ไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด
นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ณ 31 ธันวาคม 2558 แจ้งว่า มีรายได้รวม 476,191,480.52 บาท รวมรายจ่าย 393,701,758.54 บาท กำไรสุทธิ 65,877,866.72 บาท
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าบริษัทเอกชนทั้ง 6 ราย จดทะเบียนจัดตั้งมานานนับสิบปี และแจ้งวัตถุประสงค์การทำธุรกิจขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าโดยตรง ทุกรายมีรายได้หลักร้อยล้านบาทขึ้นไป
ขณะที่ ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูล บริษัท บูรพา เทอร์มินอล จำกัด ที่ปรากฎชื่อ ได้ระบว่าจ้างโดยวิธีพิเศษจากท่าเรือแหลมฉบัง เข้ามารับจ้างงานบริการยกขนและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าขึ้นลงรถไฟเป็นการชั่วคราว ระยะเวลา 7 เดือน วงเงินกว่า 52 ล้านบาท
พบว่า บริษัทฯ จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อ 27 พ.ค.2553 ทุนปัจจุบัน 10 ล้านบาท
ตั้งอยู่เลขที่ 546 ถนนสุคนธสวัสดิ์ แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจให้เช่าทรัพย์สินขายซอฟท์แวร์และให้บริการให้คำปรึกษาทางด้านเทคโนโลยี
ปรากฎชื่อ นาง อัญชลีพร อภิศิตสวัสดิ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 15 กรกฎาคม 2559 นาง อัญชลีพร อภิศิตสวัสดิ์ ถือหุ้นใหญ่สุด 85,500 หุ้น มูลค่า 3,300,000 บาท นาย พลวศุตม์ มหาเอี่ยมศิริ ถืออยู่ 14,499 หุ้น มูลค่า 1,449,900 บาท นาง ใจทิพย์ ยศกรณ์ ถืออยู่ 1 หุ้น มูลค่า100 บาท
นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ณ 31 ธันวาคม 2558 แจ้งว่า มีรายได้จากการขายหรือการให้บริการ 318,373.40 บาท รายได้อื่น 317,262.05 บาท รวมรายได้ 635,635.45 บาท
ส่วนรายจ่ายมี ต้นทุนขายหรือต้นทุนการให้บริการ 298,847.56 บาท ค่าใช้จ่ายในการขาย 25,610.24 บาท ค่าใช้จ่ายในการบริหาร 40,245.47 บาท รวมรายจ่าย 364,703.27 บาท
กำไรสุทธิ 270,932.18 บาท
ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างในการทำธุรกิจกับบริษัทเอกชนทั้ง 6 ราย อย่างมาก โดยเฉพาะการทำธุรกิจขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไร หากจะมีคำถามเกิดขึ้นว่า เหตุใดท่าเรือแหลมฉบัง จึงต้องดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างโดยวิธีพิเศษ เข้ามารับจ้างงานบริการยกขนและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าขึ้นลงรถไฟเป็นการชั่วคราว ระยะเวลา 7 เดือน วงเงินกว่า 52 ล้านบาท โดยปรากฎชื่อ บริษัท บูรพา เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งทำธุรกิจซื้อขายซอฟท์แวร์ และมีรายได้ในปี 2558 เพียงแค่ 3 แสนบาท เป็นผู้รับจ้าง ทั้งที่ ในปัจจุบัน บริษัทเอกชนที่มีประสบการณ์ในการให้บริการยกขนและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าขึ้นลงรถไฟในประเทศไทย มีจำนวนกว่า 6 รายดังกล่าว แต่ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมคัดเลือกรับงานนี้ด้วย
ล่าสุดเมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 24 เม.ย.2560 เรือเอกสุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ติดต่อมายังสำนักข่าวอิศรา เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีนี้ โดยระบุว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าการว่าจ้างงานโครงการนี้ ท่าเรือแหลมฉบังได้ใช้วิธีพิเศษ มีการตั้งคณะกรรมการจัดจ้างขึ้นมาดำเนินการตามขั้นตอนระเบียบการท่าเรือแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2543 โดยมีการเชิญเอกชน 3 ราย เข้าเป็นผู้ร่วมเสนอราคา ได้แก่ บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด บริษัท เอส ซี จี โลจิสติกส์ จำกัด และบริษัท ทีไลน์ ทรานสปอร์ต จำกัด
อย่างไรก็ตาม บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด ได้แจ้งว่า ได้ทำการจดทะเบียนกิจการร่วมค้าใหม่ และขอเข้าร่วมดำเนินการในนามกิจการร่วมค้า บูรพา เทอร์มินอล ซึ่งประกอบไปด้วยบริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด บริษัท บูรพา เทอร์มินอล จำกัด และบริษัท โกลบอล อินเตอร์ จำกัด โดย บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด เป็นผู้ดำเนินการหลัก ส่วนบริษัท บูรพา เทอร์มินอล จำกัด เป็นผู้ให้การสนับสนุนในด้านการจัดทำระบบซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการปฏิบัติงาน ซึ่งคณะกรรมการจัดจ้างฯ ได้พิจารณาราคาของ กิจการร่วมค้า บูรพา เทอร์มินอล พบว่าเสนอราคาต่ำสุด และได้ลงนามว่าจ้าง กิจการร่วมค้า บูรพา เทอร์มินอล
"จากการสอบถามข้อมูลได้รับการชี้แจงว่า เนื่องจากการดำเนินงานส่วนนี้ ต้องใช้เรื่องระบบซอฟต์แวร์เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้บริษัท บูรพา เทอร์มินอล จำกัด เข้ามาร่วมรับงานด้วย แม้ว่าจะไม่ได้ทำธุรกิจขนส่งสินค้าโดยตรงก็ตาม" ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทยระบุ (ดูเอกสารชี้แจงประกอบ)