เปิดบ้านนายอากร...ถ่ายทอดภาพความหลังและความมั่งคั่งของปัตตานี
ลูกหลานชาวปัตตานีถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์เมืองตานีผ่านมุมมอง “เปิดบ้านนายอากร” จากภาพถ่ายสวยๆ และการบอกเล่าของทายาทตระกูลวัฒนายากร
กิจกรรมดีๆ ที่สะท้อนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมนี้ จัดขึ้นที่ Melayu Living พื้นที่กลางการสร้างสรรค์ บนถนนปัตตานีภิรมย์ ย่านเมืองเก่าปัตตานี
ในอดีต...บ้านที่ Melayu Living ใช้เป็น “พื้นที่กลาง” นี้ คือบ้านของตระกูลวัฒนายากร ซึ่งเคยเป็น “นายอากร” หรือเรียกเต็มๆ ว่า “เจ้าภาษีนายอากร” ของดินแดนแห่งนี้ ทำหน้าที่เก็บภาษีแทนรัฐบาล
บ้านหลังนี้จึงเปรียบเสมือนประตูเมืองของความเจริญที่จะเข้ามาในปัตตานี เดิมเปิดเป็นร้านขายของชำ ขายข้าวสาร แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ลูกหลานไม่ได้สืบทอดกิจการค้าขายแบบบรรพบุรุษ บ้านนี้จึงไม่ได้ใช้ทำการค้าอะไรอีก จึงเปลี่ยนมาเป็นให้เช่า กระทั่งปัจจุบันมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ในปัตตานีขอใช้พื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์มากขึ้นในแง่วัฒนธรรม
ราชิต ระเด่นอาหมัด และ สมโภช เจ๊ะอาลี ตัวแทนของ Melayu Living ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของสถาปนิกที่เป็นคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกันบอกเล่าเรื่องราวก่อนมาปลุกฟื้นคืนชีวิตให้บ้านหลังนี้
“ครั้งแรกที่เราได้ฟังพี่ปั้ม (ปิยวัชร วัฒนายากร ทายาทของตระกูลวัฒนายากร) เล่าประวัติของบ้านหลังนี้ (บ้านที่ MELAYU LIVING ใช้สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ) เรารับรู้ถึงความพิเศษ ความสำคัญของสถานที่แห่งนี้ ดินแดนแห่งนี้ เรื่องราวของความสัมพันธ์ ความผูกพันของผู้คน เรื่องราวของเศรษฐกิจ ธุรกิจ ความรุ่มรวยของพื้นที่แห่งนี้ ทรัพยากรวัฒนธรรม การแต่งกาย ภาษา อาหาร สิ่งของเครื่องใช้ ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ ทรัพยากรธรรมชาติ แร่ ดีบุก ทองคำ ผืนป่า แม่น้ำ และน้ำมัน มีความสัมพันธ์ การค้า เรือสำเภาที่เดินทางจากทั่วโลกมาเทียบท่าที่นี่”
“ทุกครั้งที่เจอพี่ปั้ม เราจะได้ฟังเรื่องราวเก่าๆ ผ่านใบหน้าที่แลดูมีความสุข ทำให้เราเห็นถึงความยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์ และคิดว่าต้องทำให้คนปัตตานีได้รับรู้ คิดเสมอว่าต้องให้มาเล่าให้คนรุ่นพวกเราได้ฟัง มารำลึกถึงความทรงจำที่น่าจดจำให้เป็นบันทึกว่าครั้งหนึ่งสถานที่แห่งนี้เคยต้อนรับทุกท่านที่มาเยือนปัตตานี” ราชิต และ สมโภช ช่วยกันถ่ายทอดแนวคิด ก่อนจะแปรมาสู่งาน “เปิดบ้านนายอากร”
ความเป็นมาเป็นไปของปัตตานีในอดีตจึงถูกร้อยเรียงเล่าผ่านภาพถ่าย 10 เรื่องราว อาทิ ไหที่ถูกวางเรียงรายอยู่บนกำแพงบ้านจนเต็มกำแพง ในไหนั้นเต็มไปด้วยทองคำ, เกลือหวานแห่งคาบสมุทรมลายู เป็นต้น
ปิยวัชร วัฒนายากร ย้อนความหลังให้ฟังว่า ความเจริญมาที่ปัตตานีก่อน บ้านทุกหลังย่านนี้มีที่มาที่ไป ปู่คือ ขุนธำรงวัฒนา เคยรับตำแหน่งเป็นนายอากร ทำหน้าที่เก็บภาษีอากร ตรงนี้เป็นร้านของชำที่มีสินค้ามาจากปีนังและอังกฤษ ทุกอย่างมาที่นี่ก่อนไปกรุงเทพฯ ตอนปู่ทำโรงไฟฟ้า พอทำได้ดี รัฐบาลก็มายึดคืน มีนวัตกรรมที่ตามมาคือน้ำแข็ง ทำให้เกิดการเก็บรักษาอาหารได้ดีขึ้น หรือตอนพ่อเป็นวัยรุ่น แอบลงเรือสำเภาไปสิงคโปร์ เมื่อกลับมาก็บอกว่าเราควรเห็นโลกกว้างที่ไม่ได้มีเพียงในปัตตานี เรือสำเภาทำให้ออกไปเผชิญโลกกว้างและมาพัฒนาบ้านเรา
ส่วนเรื่องไหทองคำ ปิยวัชร บอกว่า ครอบครัวทำเหมืองลาบู (ปัจจุบันอยู่ใน จ.ยะลา) โดยซื้อต่อมาจากชาวออสเตรเลียในราคาที่แพงมาก ทั้งที่อยู่ในภาวะสงคราม ตอนนั้นครอบครัวเข้าไปทำเหมืองดีบุก จนหมดยุคดีบุก และเรียนรู้ว่าสิ่งเขียวๆ ที่ติดมากับดีบุกคือทองคำ
“ปัจจุบันผมทำด้านคอนโดฯในกรุงเทพฯ วันนี้กำลังจะมารื้อบ้านตัวเอง มาเจอทองแท้ ทุกคนทำให้ที่นี่เป็นทองคำขึ้นมาแล้ว ไม่กล้ารื้อบ้านใครอีกแล้ว การรื้อเป็นผลเสียหายต่อประวัติศาสตร์จริงๆ เป็นการทำผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ ทำให้ได้ปรับความคิด เห็นคุณค่าของประวัติศาสตร์มากขึ้น ผมอยากเปิดบ้านให้เห็นว่าเรามีความเจริญมาก่อน ชัยภูมิของเราในอนาคตจะเจริญ ให้เป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ทุกคนเข้ามาใช้พื้นที่ได้” ทายาทตระกูลวัฒนายากร ระบุ
ขณะที่ วิวัฒน์ จิตต์นวล นายกสมาคมสถาปนิกทักษิณ ที่ปรึกษาของ Melayu Living บอกว่า เมื่อคนและชุมชนเห็นความสำคัญร่วมกัน ร่วมมือร่วมใจกัน ที่นี่จึงแทบไม่ต้องทำอะไร เพราะสามารถอยู่ได้ เป็นชุมชนที่มีจิตวิญญาณ มีชีวิต วัฒนธรรมของที่นี่เข้มแข็งพอๆ กับเชียงใหม่ ไม่ดัดจริต เป็นวิถีปกติของผู้คนในชุมชน เมื่อคนในเห็นคุณค่า ต้องบันทึกเรื่องราว บรรทึกลายเส้น แปลน รูปร่างอาคารเอาไว้
ก้าวย่างสำคัญเช่นนี้ที่คนรุ่นใหม่เห็นความเป็นไปของชุมชน ควรค่าแก่การรักษาและดูแลให้คงอยู่ เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์แหว่งวิ่นหรือหาหลักฐานไม่เจอ พร้อมไปกับผู้คนในชุมชนตื่นตัวช่วยกันรักษาไปด้วยกัน
เรื่องราวแห่งความทรงจำที่ต้องบอกต่อจึงยังคงอยู่และให้ลูกหลานได้ภูมิใจ
--------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพสวยๆ จากเพจเฟซบุ๊ค Melayu Living