วัดความสำเร็จ แอปฯ สุดเจ๋ง คัดกรอง นร.ยากจน 'นครพนม' ต้นเเบบ
สสค.จับมือภาคีเครือข่าย โชว์ผลสำเร็จระบบคัดกรอง นร.ยากจน ผ่านแอปพลิเคชั่น ‘ปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน’ สร้างการบูรณาการช่วยเหลือทุกภาคส่วน พร้อมเปิดตัวต้นแบบ จ.นครพนม 1 ใน 10 จว.นำร่อง เตรียมขยายครอบคลุมทั่ว ปท. ปีการศึกษา 60
ประเทศไทยมีนักเรียนยากจนในการศึกษาภาคบังคับ ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มากถึง 2.86 ล้านคน (ร้อยละ 57) ในขณะที่มีงบประมาณเพียง 2.5 พันล้านบาท/ปี ซึ่งสามารถช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มนี้ได้ 1.7 ล้านคน (ร้อยละ 35) เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียนยากจนทั้งหมด
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ (สสค.) จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย พัฒนาเครื่องมือคัดกรองเด็กยากจนผ่านระบบสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการคัดกรองเด็กยากจนเป็นรายบุคคล (Data Management Center:DMC) ผ่านแอปพลิเคชั่น ‘ปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน’ เพื่อจะได้นักเรียนยากจนจริงและได้รับการสนับสนุนต่อเนื่อง
‘นครพนม’ เป็น 1 ใน 10 จังหวัดนำร่อง (น่าน เชียงราย แม่ฮ่องสอน อุดรธานี นครราชสีมา จันทบุรี กาญจนบุรี ตรัง ภูเก็ต) ครอบคลุมโรงเรียน 5,000 แห่ง ที่ทดลองระบบนี้ โดยใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาความยากจน จะต้องมีรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนไม่เกิน 3,000 บาท/คน/ปี และต้องมีภาระพึ่งพิง ในครอบครัวมีผู้พิการหรือผู้สูงอายุเกิน 60 ปี หรือคนว่างงานอายุ 15-65 ปี หรือเป็นพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยว
นอกจากนี้ต้องตรวจดูสภาพที่อยู่อาศัยว่า เป็นบ้านเช่า มีสภาพชำรุดทรุดโทรม หรือทำจากวัสดุพื้นบ้าน ไม้ไผ่ ใบจาก และไม่มีห้องสุขา ต้องไม่มีรถยนต์ส่วนตัว รถกระบะ รถเกี่ยวข้าว หรือรถอื่น ๆ ประเภทเดียวกัน และกรณีเป็นเกษตรกรต้องมีที่ดินทำกิน รวมเช่า ไม่เกิน 1 ไร่ หรือไม่มีที่ดินทำกินของตนเอง โดยข้อมูลทั้งหมดจะรวบรวมไว้ที่ส่วนกลางผ่านระบบแอปพลิเคชั่น
บรรยากาศการประชุมความก้าวหน้า ระบบสารสนเทศคัดกรองเด็กยากจน ณ จ.นครพนม
เมื่อศึกษาหลักเกณฑ์จนเข้าใจแล้ว คุณครูจะต้องใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตในการสำรวจผ่านแอปพลิเคชั่น ด้วยการบันทึกข้อมูลของผู้ปกครอง รายได้ และสถานะครัวเรือน พร้อมถ่ายภาพสภาพบ้านของนักเรียน ก่อนจะอัพโหลด รวมถึงเก็บค่าพิกัดจาก GPS ของโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตด้วย
หรือคุณครูจะบันทึกผลการสำรวจผ่านเว็บแอปพลิเคชั่นก็ได้ โดยนำกระดาษแบบคัดกรอง นร.01 ที่ได้คัดกรองนักเรียนยากจนแล้ว มาบันทึกเข้าสู่ระบบสารสนเทศผ่านเว็บแอปพลิเคชั่นในคอมพิวเตอร์ พร้อมแนบรูปสภาพบ้านของนักเรียนเข้าสู่ระบบ และปักหมุดตำแหน่งที่ตั้งบ้านของนักเรียนใน Google Map
ทั้งนี้ ภายหลังการใช้ระบบคัดกรองฯ พบว่า จังหวัดนครพนม ได้จำนวนนักเรียนยากจนที่ตรงกลุ่มเป้าหมายจริงและลดลงมากกว่าครึ่ง โดยมีนักเรียนที่มีคะแนนความยากจนมากกว่า 0.5 จำนวน 24,188 คน (ร้อยละ 33.05) เท่านั้น จากเดิมมีนักเรียนยากจนตามที่โรงเรียนรายงานตามระบบคัดกรองเดิมสูงถึง 52,049 คน (ร้อยละ 71.12) จากนักเรียนทั้งหมด 73,186 คน เช่นเดียวกับอีก 9 จังหวัดนำร่อง ที่ได้จำนวนนักเรียนยากจนตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้ช่วยผู้จัดการด้านวิจัยและนโยบาย สสค. ระบุว่า ข้อมูลทั้งหมดที่รวบรวมไว้ในแอปพลิเคชั่น ปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน ไม่ได้มีเฉพาะเพื่อการคัดกรองนักเรียนยากจนและด้อยโอกาสเท่านั้น แต่คุณครูยังสามารถประเมินพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ ได้ด้วย ในที่สุดจะเป็นหลักประกันโอกาสเรียนรู้ทางการศึกษาภาคบังคับ โดยในปีการศึกษา 2560 จะมีการขยายผลให้ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด
“ระบบสารสนเทศฯ เป็นการปฏิรูปการศึกษาเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนและสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันของสังคม ดังนั้นจังหวัดจำเป็นต้องมีข้อมูลเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษาเป็นรายบุคคลเพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัด” ผู้ช่วยผู้จัดการด้านวิจัยและนโยบาย สสค. กล่าว
ข้อมูลของเด็กและเยาวชนยากจนและด้อยโอกาสเหล่านี้ นำไปสู่การบูรณาการช่วยเหลือของทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในจังหวัดนครพนมอย่างเห็นได้ชัด ดังเช่นกรณีของ ด.ช.เอ (นามสมมติ) นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนบ้านนาราชควาย อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (สมาธิสั้น) มีฐานะยากจน
คุณครูเพชรลัดดา โทพล คุณครูโรงเรียนบ้านนาราชควาย บอกว่า ได้รับรู้ปัญหาของ ด.ช. เอ จากโครงการเยี่ยมบ้าน จึงได้บันทึกข้อมูลทั้งหมดลงในแอปพลิเคชั่น จากนั้นจึงได้ร่วมมือกับทุกฝ่าย ให้การช่วยเหลือ โดยจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับพัฒนาการ รวมถึงพาไปพบแพทย์จิตเวชเพื่อรักษา ภายหลังรับยาเป็นเวลา 8 เดือน พบว่า ด.ช.เอมีพัฒนาการทางสติปัญญาและจิตใจดีขึ้น แต่ยังต้องไปรับยาจนถึงอายุ 9 ปี และคาดว่า จะหายเป็นปกติในเร็ววัน
บ้านพักอาศัยของ ด.ช.บี อยู่ในสภาพทรุดโทรม
หรือกรณีของ ด.ช.บี (นามสมมติ) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนดอนแดงเจริญทอง เป็นอีกหนึ่งคนที่คาดว่าจะไม่ได้รับการศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เนื่องจากมีฐานะยากจน
นายอนุสรณ์ แสนเคน ผู้อำนวยการโรงเรียนดอนแดงเจริญทอง บอกว่า ด.ช.บี อาศัยอยู่กับแม่ และน้องสาวอีก 3 คน ส่วนพ่อเสียชีวิตนานแล้ว ฐานะทางบ้านยากจน ทำให้ไม่มีความคิดจะเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เพราะกลัวว่าน้องสาวจะไม่ได้เรียน จึงเตรียมตัวออกมาหางานทำ
เมื่อโรงเรียนทราบข้อมูลจากแอปพลิเคชั่นจึงได้จัดหลักสูตรพัฒนาทักษะอาชีพ ซึ่ง ด.ช.บี ชื่นชอบการซ่อมรถจักรยานยนต์อยู่เเล้ว ดังนั้นจึงได้ประสานความร่วมมือกับร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ในชุมชนรับเป็นพนักงานชั่วคราวก่อนในระหว่างนี้ เพื่อฝึกทักษะอาชีพจนชำนาญ และสามารถหารายได้เมื่อจบการศึกษาระดับชั้น ม. 3 ปัจจุบันได้ค่าแรงวันละ 100 บาท นำมาจุนเจือครอบครัวได้
เเอปพลิเคชั่นปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน
ขณะที่นายไพฑูรย์ รักษ์ประเทศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวถึงประโยชน์ของข้อมูลที่ได้รับจากระบบการคัดกรองฯ ว่า ทำให้ครู ผู้บริหารการศึกษา หน่วยงานต้นสังกัด ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานด้านสาธารณสุข และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เห็นข้อมูล ปัญหา และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับนักเรียนได้พร้อมกัน และบูรณาการทำงานช่วยเหลือได้เร็วขึ้น
กระนั้น การพิจารณาความยากจน ย่อมต้องมองให้ครบทุกมิติ การช่วยเหลือจะต้องไม่ใช่การสร้างบ้านเท่านั้น แต่ต้องคำนึงว่านักเรียนคนนั้นต้องมีอาหารกิน มีน้ำสะอาด มีเสื้อผ้า มีที่นอน และยารักษาโรค ที่เพียงพอต่อการให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย รวมถึงต้องมีความมั่นคงในการดำรงชีวิต ผู้ปกครองต้องมีรายได้ และนักเรียนห่างไกลจากอบายมุขหรือพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจส่งผลเสียตามมา การช่วยเหลือจึงจะประสบผลสำเร็จ
...ความยากจนเกิดจากความไม่พร้อมของครอบครัว การคัดกรองนักเรียนยากจนผ่านระบบสารสนเทศ จึงทำให้คุณครูเข้าถึงข้อมูลและรู้จักกับนักเรียนมากขึ้น และพร้อมประสานไปยังทุกภาคส่วนช่วยเหลือ ภายใต้หลักความจำเป็น ความมั่นคง และความปลอดภัย เพื่อนักเรียนจะได้เติบโตมาเป็นกำลังหลักที่สำคัญของชาติต่อไป .
คลิกชมตัวอย่างการใช้เเอปพลิเคชั่น ปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน