หลากมุมมอง เป็นครู ต้องจบสายตรง จำเป็นไหม
"...คนที่ไม่ได้จบครูมาโดยตรงหากมีความรู้มีความตั้งใจมีศักยภาพที่พร้อมจะเป็นครูและเชื่อมั่นว่าตัวเองสอนได้และรักในการสอนก็ควรจะเปิดโอกาส..." เสียงสะท้อนจากนักเรียน
ทันทีที่กระทรวงศึกษาธิการมีมติอนุญาตให้ผู้ไม่มีวุฒิครูมาสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี พ.ศ. 2560 ได้นั้น
เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งฝ่ายเห็นด้วย และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย จากคนในแวดวงการศึกษาทั้งกลุ่มครูและนักศึกษาในหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ต่างมองว่า การคัดเลือกผู้ที่จะมาอยู่ใน “วิชาชีพครู” ถือเป็นเรื่องกระบวนการที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ
" ภัชร วังมี" อาจารย์โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เล่าว่าเธอเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้จบครูมาโดยตรง หากเปรียบเทียบระหว่างคนที่เรียนครูมาโดยตรงกับคนที่ไม่ได้จบครูมา คนที่เรียนครูก็มีสิทธิค้านในเรื่องนี้ทำไมถึงให้คนที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูมาสอบได้ เพราะการที่จะเป็นครูได้นั้นต้องมีการสอบและต้องผ่านหลักสูตรการเรียน 5 ปี ถึงจะได้เป็นครู และมีใบประกอบวิชาชีพ
ส่วนคนที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพต้องไปเรียน ป.บัณฑิต ถึงจะมีสิทธิได้ใบประกอบวิชาชีพครู
ในส่วนของประเด็นที่ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิครูก็สอบได้นั้น ภัชร มองว่า ไม่เป็นธรรมสำหรับคนที่เรียนคณะครุศาสตร์ ถ้าผู้ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพมาสอบแล้วติด และได้ใบประกอบวิชาชีพไป จะสร้างความไม่เป็นธรรมสำหรับคนที่เรียนครู จึงทำให้คนในสังคมมองว่าจะมีครูที่เรียนคณะครุศาสตร์ไว้ทำไม ในเมื่อเรียนสาขาวิชาอื่นก็สามารถสอบครูได้
“วิชาชีพครูเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และใช้เวลาในการเรียนรู้วิธีการสอน เทคนิคการสอน วิจัยในชั้นเรียน และการทำแผนการสอน หรือสอบมาตรฐานต่างๆ กับคนที่ไม่ได้ผ่านการเรียนในด้านครูโดยตรงนั้น มีความแตกต่างกัน จึงไม่สามารถวัดได้ว่าเก่งจริง หรือสามารถถ่ายทอดให้กับนักเรียนได้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดปัญหากับลูกหลานในอนาคต” ภัชร กล่าว
ขณะที่ฟากนักศึกษาคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา "นิรุธ อ่อนหัวโทน" กลับมองว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจ หากมีแนวคิดที่เอาคนเก่งมาเป็นครู เพราะระบบการศึกษาอาจจะไม่เพียงพอ ในบางวิชา เช่น สาขาวิชาภาษาเยอรมัน และภาษาฝรั่งเศส
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การเพิ่มสาขาวิชาที่มีคนเรียนจำนวนมากอยู่แล้ว เช่น วิชาภาษาไทยหรือสังคมศึกษา ซึ่งค่อนข้างเสียเปรียบและไม่ยุติธรรมสำหรับสาขาที่เปิดอยู่
ฉะนั้นเห็นด้วยถ้าจะเปิดโอกาสให้กับคนที่มีความสามารถได้มาเป็นครู แต่ควรจะเปิดเฉพาะสาขาที่ขาดแคลนเท่านั้น
"ไม่ได้จบครูโดยตรง หากมีความรู้ มีทักษะที่จะสื่อให้เด็กเข้าใจในเนื้อหา ก็สามารถเป็นครูได้ " ผู้อำนวยการสถาบันกวดวิชาชื่อดังรายหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ให้ความเห็น และมองว่า ความเป็นครูโดยคุณวุฒิและความเป็นติวเตอร์ มีความแตกต่างกัน เนื่องจากการเรียนในโรงเรียนเป็นการเรียนที่เด็กต้องถูกบังคับให้นั่งฟังตามหน้าที่ ครูเองก็มีหน้าที่สอนไปเรื่อยๆ ตามเนื้อหาหรือแผนการสอน ในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป เริ่มต้นจากการเรียนปูพื้นฐาน และลักษณะห้องเรียนที่มีจำนวนนักเรียนเยอะ รวมทั้งความฉลาดของเด็กในห้องเรียนที่ไม่เท่ากัน ส่งผลทำให้เด็กบางคนไม่สนใจการเรียน
อีกทั้ง หากมองในมุมของการเรียนกวดวิชา พบว่า ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องปกติ เพราะสภาพสังคมปัจจุบันมีการแข่งขันสูง เริ่มตั้งแต่สอบเข้าเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงมัธยม เพื่อให้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ดี
“ปัจจุบันที่มีพ่อแม่เป็นบุคคลรุ่นใหม่ จึงมีการวางแผนอนาคตให้ลูกเรียนกวดวิชา เพราะเชื่อว่าเรียนแล้วส่งผลให้มีหน้าที่การงานและอาชีพที่ดี ซึ่งต่างจากเรียนในห้องเรียน บางครั้งไม่สามารถสอบเข้าแข่งขันกับคนอื่นได้”
ดังนั้น การเรียนครูมาโดยตรงกับการจบคณะใดก็ได้แล้วมาสอนเด็กนั้น เขาเห็นว่า ย่อมมีความแตกต่างกัน เนื่องจากคนที่เรียนครู ก็ถูกอบรมบ่มเพาะทั้งเรื่องของจรรณยาบรรณวิชาชีพ การเป็นแบบอย่างที่ดี ต่างจากติวเตอร์ที่ เน้นเทคนิคการสอนและการจำ ที่เด็กไม่ต้องอ่านและท่องจำมาก
ทั้งนี้การเรียนกวดวิชาก็ต้องอาศัยความรู้พื้นฐานในห้องเรียนมาบางส่วนเช่นกัน เพราะเชื่อว่าทั้งติวเตอร์และครูเองก็มีวิธีการสอนที่ต้องเกื้อหนุนกันโดยมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้เด็กประสบความสำเร็จในอนาคต
ขณะที่ "สมจิต เจริญกุล" ผู้ปกครองนักเรียนคนหนึ่ง มองว่า เป้าหมายที่ส่งลูกเรียนกวดวิชา เพื่อที่จะเตรียมสอบเข้าในระดับอุดมศึกษา จะต้องมีการเตรียมเนื้อหาเกี่ยวกับรายวิชาต่างๆ ที่จะเข้าสอบค่อนข้างละเอียด ซึ่งความรู้พื้นฐานจะต้องแน่นพอสมควร เพราะ เรียนในโรงเรียนอาจจะได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งในการสอบเข้าในระดับอุดมศึกษานั้นค่อนข้างยาก ฉะนั้นความรู้ในโรงเรียนอาจจะไม่เพียงพอสำหรับเด็ก จึงคิดส่งลูกเรียนกวดวิชาเพิ่มเติม
ในขณะเดียวกันการเรียนพิเศษจะแตกต่างกับเรียนในห้องเรียนตรงที่เนื้อหา มีเนื้อหาที่หลากหลาย ซึ่งไม่ได้เป็นเนื้อหาพื้นฐานตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนด แต่จะมีเทคนิค มีโจทย์ที่ซับซ้อนและยากกว่าในโรงเรียน เพราะในโรงเรียนจะเป็นหลักสูตรตามกระทรวง
สมจิต ยังมองด้วยว่า ครูที่เข้ามาสอนนั้นไม่จำเป็นต้องจบวิชาชีพครูโดยตรง และไม่ได้ ขึ้นอยู่ที่ว่าจบสถาบันดังหรือไม่ดัง แต่อยู่ที่บุคลากรมากกว่า หากเป็นคนเก่ง มีความรู้ มีความสามารถ สอนเด็กและสื่อสารกับเด็กได้ อีกทั้งถ่ายทอดวิชาความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาให้เด็กเข้าใจในเนื้อหาที่เรียน แค่นี้ก็เพียงพอสำหรับเด็กนักเรียนแล้ว
ด้าน "จิตรนุช แซ่อึ้ง" นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้แสดงความเห็นเรื่องนี้ว่า ครูในโรงเรียนไม่ใช่สอนไม่ดี อาจเกิดที่ตัวเด็กไม่เข้าใจในเนื้อหา ทำให้เลือกที่จะเรียนกวดวิชาเพิ่มเติมนอกเหนือจากเรียนในห้องเรียน เพราะคิดว่าเรียนพิเศษช่วยฝึกตัวเองให้เก่งเร็วขึ้น มีเวลาให้และละเอียดมากกว่า ที่สำคัญจะสอนวิธีลัดและจำง่าย ทำให้เด็กสนใจเรียนมากขึ้น
อย่างไรก็ตามคนที่ไม่ได้จบครูมาโดยตรง หากมีความรู้ มีความตั้งใจ มีศักยภาพที่พร้อมจะเป็นครู และเชื่อมั่นว่าตัวเองสอนได้ และรักในการสอน ก็ควรจะเปิดโอกาสและ เปิดกว้างให้บุคคลเหล่านี้เข้ามาทำหน้าที่ครูอย่างจริงจัง
สำหรับการสอบครูผู้ช่วยในครั้งนี้ สพฐ.เปิดสอบทั้งสิ้น 61 สาขาวิชา มีอัตราบรรจุได้ 6,381 อัตรา ใน 64 จังหวัด และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) ซึ่งแนวปฏิบัติใหม่ในจำนวน 61 สาขาวิชาที่เปิดสอบ กำหนดให้ผู้สมัครต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือผ่านหลักสูตรครู 5 ปี จำนวน 36 สาขาวิชา ส่วนที่เหลืออีก 25 สาขาวิชาจะมีใบอนุญาตฯ หรือไม่มีใบอนุญาตฯ มาสมัครก็ได้
อ่านประกอบ
อธิการบดีมรภ.สวนสุนันทา ค้านรับคนนอกมาเป็นครู ยันอยากได้คนดีคนเก่งต้องใช้เวลา
อ.จุฬาฯ ค้านไม่มีใบวิชาชีพสอบครูผู้ช่วย ยันเสี่ยงเกินไป-ขัดหลักการ
ปฏิรูปการฝึกหัดและการคัดเลือกครูเร่งด่วน เพิ่มคุณภาพศึกษาไทย
ก.ค.ศ. ยันมติรับสมัครครูผู้ช่วย สพฐ. ไม่มีใบวิชาชีพสอบได้ 25 สาขา
นักวิชาการหนุนไร้ใบประกอบวิชาชีพสอบได้ แก้ขาดแคลนครูบางสาขา
ภาพประกอบจาก