เบื้องลึก!อธิการฯม.นครพนมลาออก ขัดแย้งหนัก - กก.ร้อง‘บิ๊กตู่’สอบนับสิบเรื่อง
เปิดเบื้องลึก!ก่อน ‘ประวิต เอราวรรณ์’ทิ้งเก้าอี้อธิการฯ มนพ. ภายในขัดแย้ง ถูกไอ้โม่งล้วงหนัก กก.ส่งเอกสารร้อง ‘บิ๊กตู่’ -รมว.ศึกษาฯ-เลขาฯ ป.ป.ช. สอบ บิ๊ก สภาฯสิบเรื่อง ปมธรรมาภิบาล จัดซื้อจัดจ้าง วิทยาลัยการบิน ศูนย์ประชุม ตั้ง รร.สาธิต
กรณี นายประวิต เอราวรรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม (มนพ.) ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี ต่อหน้าคณาจารย์ในพิธีรดน้ำดำหัวขอพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ เมื่อวันที่ 19 เม.ย 2560 มีผลวันที่ 2 พ.ค.2560
(อ่านประกอบ : อธิการบดีม.นครพนม ประกาศลาออก-คณาจารย์รวมตัวพบผู้ว่าฯ ให้ยับยั้ง)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า สภามหาวิทยาลัยนครพนมมีปัญหาความขัดแย้งภายในองค์กรระหว่างฝ่ายผู้มีอำนาจในสภามหาวิทยาลัยฯกับฝ่ายกรรมการเสียงข้างน้อย ในเรื่องของการบริหารงานจัดการภายในมหาวิทยาลัยที่ผู้มีอำนาจเข้าไปแทรกการทำงานของผู้บริหาร และปัญหาในเรื่องธรรมาภิบาล
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2560 นายกฤช ฟอลเล็ต กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (อดีตผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย) ได้ส่งหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบการบริหารงานของผู้มีอำนาจในสภามหาวิทยาลัยในประเด็นธรรมาภิบาลนับสิบเรื่อง
หนังสือร้องเรียนที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติมฉบับวันที่ 28 มี.ค.2560 ระบุถึงปัญหาการบริหารจัดการองค์กรโดยไม่มีการบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk management) , กรณีเกิดคดีฟ้องร้องระหว่าง มนพ. กับ นายสุวิทย์ เลาหศิริวงศ์ อดีตอธิการบดี มนพ.หลายคดี ,การแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบกรณีในวิทยาลัยการบินนานาชาติ ,การตั้งกรรมการสอบ อดีตคณบดี วิทยาลัยการบินนานาชาติ ในเรื่องของการบริหารงาน ต่อมาได้เจรจาจ่ายเงินกว่า 5 แสนบาท ชดเชยให้ออก, การใช้เบิกจ่ายเงิน จำนวน 23 ล้านบาท เกินกว่างบประมาณของวิทยาลัยการบินนานาชาติ , การจ้างครูการบินซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมาเป็นครูนักบิน ,การนำเครื่องบินของวิทยาลัยการบินนานาชาติ ไปให้ผู้อื่นนำใช้ส่วนตัวจนเกิดอุบัติเหตุ , การใช้อำนาจแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรองอธิการบดี จำนวน 7 คน นอกวาระประชุมสภาฯ ,การจัดตั้งโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยนครพนมที่ใช้งบประมาณสูงกว่า 15 ล้านบาท และขอเพิ่มอีก 2.4 ล้านบาท แต่มีนักเรียนเพียง 6-10 คน ,การก่อสร้างห้องทดลองวิทยาศาสตร์ ของคณะวิทยาศาสตร์ มีนักศึกษาทั้งคณะแค่ 20 คนเศษ ปีนี้มีนักศึกษาแค่ 2-3 คน แต่มีอาจารย์จำนวนมากซึ่งอาจารย์ส่วนใหญ่จะทำวิจัยมากกว่าทำการสอน เพราะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากงานวิจัย,การเร่งรีบให้มีการเสนอโครงการก่อสร้างศูนย์กลางการประชุมมูลค่า 300 ล้านบาท ฯลฯ
หนังสือฉบับดังกล่าวอ้างเอกสารรายการประชุมลับ รวม 3 เล่ม เอกสารพยานประกอบการร้องเรียน 173 แผ่น ระเบียบวาระการประชุมสภาฯ มนพ. เดือน มิ.ย.-ส.ค.2559 ,เดือน พ.ย.-ธ.ค. 2559 ,เดือน ม.ค.2560 และ เดือน มี.ค.2560 พร้อมเรียกร้องให้ดำเนินการเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องทางวินัย อาญา และให้พ้นจากตำแหน่ง
นายกฤช เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2560ว่า ได้ส่งเรื่องร้องเรียนไปยัง นายกรัฐมนตรี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบการบริหารงานของผู้มีอำนาจในสภามหาวิทยาลัยนับสิบเรื่อง แต่ยังไม่มีความคืบหน้าของหน่วยงานในการตรวจสอบ มีเพียงสำนักปลัดสำนักนายกฯที่ติดต่อมาเพื่อขอเอกสารเพิ่มเติมซึ่งตนได้ส่งข้อมูลไปให้แล้ว
เมื่อสอบถามกรณีการลาออกจากตำแหน่งของอธิการบดีของนายประวิต นายกฤชกล่าวทราบข่าวดังกล่าวแล้วคาดว่ามาจากการถูกล้วงลูกในการบริหารงาน และเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นภายใน มนพ.จะได้รับรู้รับทราบไปถึงนายกรัฐมนตรี
“ในการประชุม กรรมการฯ ผมไม่เห็นด้วยกับการบริหารงานหลายเรื่อง แต่กรรมการส่วนใหญ่จะมีความเห็นไปทางนายกสภาฯ”นายกฤชกล่าว
สำนักข่าวอิศราตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างบางรายการของมหาวิทยาลัยนครพนม อาทิ การจัดตั้งโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยนครพนม ว่าจ้างเอกชนวงเงิน 48.8 ล้านบาท ,การก่อสร้างห้องทดลองวิทยาศาสตร์ ของคณะวิทยาศาสตร์ มีการใช้งบประมาณในการว่าจ้างผู้รับเหมา 174 ล้านบาท โดยมีผู้รับเหมารายเดียวกันเป็นคู่สัญญาทั้งสองโครงการ
จะอย่างไรก็ตาม มนพ.เป็นมหาวิทยาลัยแห่งล่าสุดที่ปะทุปัญหา ก่อนหน้านี้ถูกเปิดโปง ตกเป็นข่าวหลายแห่ง
ต้องติดตามความคืบหน้ากันต่อไป
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายประวิต เอราวรรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม (มนพ.) จาก www.komchadluek.net