3 นักวิชาการประวัติศาสตร์ สังคมท้องถิ่น แนะวิจัยให้ถึงรากหญ้า วางแผนแก้ปมความขัดแย้ง
ดร.อคิน เสนอใช้งานวิจัยท้องถิ่นผสานความแตกร้าวในประเทศ หาตัวแปรความเคียดแค้น-ค้นความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้าน สู่การวางแผนแก้ปัญหา แนะชุมชนบันทึกประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเอง อ.ศรี ศักดิ์ ชี้วินาศกรรมกรุงเทพฯสร้างสำนึกร่วมรักเมืองของคนกรุง ท้องถิ่นก็เช่นกันต้องให้คำตอบตัวเอง ดร.สุกรี ชี้อ่าวปัตตานีกำลัง วิกฤติจากการบุกรุกครอบครอง แนะกรณีศึกษาเทือกเขาบูดูแก้ปัญหาที่ทำกิน
วันนี้(26 พ.ค.) มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) จัดสัมมนา“ภูมิวัฒนธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้” ที่ ม.ราชภัฏสวนดุสิต ดร. ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ประธานมูลนิธิชุมชนไท ปาฐกถา“การศึกษาท้องถิ่นเพื่อให้เข้าถึงคน" ว่า งานวิจัยเชิงคุณภาพสามารถเข้าถึงความต้องการและจิตใจชาวบ้านได้มากกว่าการ วิจัยเชิงปริมาณ และหากต้องการได้ข้อมูลที่ชัดเจนต้องอาศัยเวลาและสร้างความเชื่อมั่นให้คน ซึ่งอุปสรรคของนักวิชาการที่ต้องระวังคือความถือตัว ไม่เคารพชาวบ้าน
“งานวิจัยชาวบ้านที่มีคุณภาพต้องอาศัยคนในท้องถิ่นจึงจะทำได้ บางคนไม่คิดว่างานวิจัยจากชาวบ้านคืองานวิจัย ผมมองว่าชาวบ้านเก่งกว่าเรา เพราะเขารู้ว่าอะไรเป็นปัญหา และต้องแก้อย่างไร”
ม.ร.ว.อคิน ยังกล่าวว่า งานวิจัยเชิงคุณภาพนอกจากเข้าถึงชุมชนได้อย่างแท้จริง ยังช่วยผสานความแตกร้าวในประเทศ ปัจจุบันต้องเร่งแก้ไขความเคียดแค้นที่เกิดจากความไม่ยุติธรรม ซึ่งสามารถนำงานวิจัยไปวางแผนแก้ปัญหา เช่น ค้นหาตัวแปรที่ทำให้เกิดความเคียดแค้น ค้นความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้าน
“ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้มีเรื่องชุมชนศรัทธาคือการปรองดองกันเอง ทำร่วมกับผู้นำศาสนาและ อบต. หลายหมู่บ้านประสบความสำเร็จ แต่เสนอรัฐไม่เอา เพราะมีการแย่งชิงงบระหว่างทหารตำรวจ เงินไม่ถึงท้องถิ่น อย่างตอนนี้มีการผลักดันสภาประชาชนที่จะแก้ปัญหาชาวบ้าน และเป็นตัวบังคับให้รัฐต้องทำ ก็น่าจะเยียวยาความเดือดร้อนประชาชนได้ เพราะชาวบ้านด้วยกันเองย่อมรู้เรื่องตัวเองดี”
ประธานมูลนิธิชุมชนไท ยังส่งเสริมให้ชาวบ้านทำประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งจะทำให้รู้ว่าชุมชนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ทำไมถึงเปลี่ยน จากการศึกษาพบว่าชุมชนไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ พ.ศ.2500 ที่รัฐหันไปสนับสนุนทุนนิยม ภาคอุตสาหกรรรม ใช้ตัวเงินวัดความร่ำรวยของประเทศ ซึ่งตัวชี้วัดดังกล่าวสร้างความทุกข์ให้กับคนต่างจังหวัดจำนวนมาก เช่น โครงการพัฒนาต่างๆ เช่น เมื่อมีการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ รัฐให้ชาวบ้านอพยพขึ้นไปอยู่นิคมสร้างตนเองบนเขาซึ่งพื้นที่มีแต่กิน ทำการเกษตรไม่ได้เหมือนก่อน รัฐบอกว่าให้เสียสละ แต่คนที่ทนไม่ไหวก็ต้องหนีไปที่อื่น
ด.ร.ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ กล่าวถึง "การศึกษาท้องถิ่นโดยมุมมองภูมิวัฒนธรรม”ว่า ขณะที่นักภูมิศาสตร์ศึกษาโดยใช้มุมมองแบบแผนที่ ที่ทำให้เห็นแค่ว่าพื้นที่ตรงไหนมีอะไร โรงงานจะตั้งตรงไหน แต่มองไม่เห็นชาวบ้าน ชาวบ้านจะมองแบบหนอน เช่น การวาดแผนที่อ่าวปัตตานีโดยชาวบ้านซึ่งอธิบายรายละเอียดทำให้คนรุ่นหลังเกิด ความเข้าใจท้องถิ่นมากขึ้น
“เขาวาดได้ว่านี่แหลมนก อธิบายด้วยว่าเพราะเมื่อก่อนมีนกบินมาตามฤดูกาล ยังพูดถึงการใช้อ่าวปัตตานีร่วมกัน ตรงไหนเป็นแหล่งหอย ปู ปลา มันแสดงให้เห็นนิเวศวัฒนธรรม ความเชื่อ ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจ ภาพนี้ข้างนอกไม่เห็นแต่ถ้ามองจากข้างในเห็น พื้นที่ที่ให้สีต่างกันทำให้รู้ว่าปัจจุบันมีชุมชนอยู่ตรงไหน แหลมนกไม่มีบ้านคนแล้วเพราะกลายเป็นแหล่งอุตสหกรรมขนาดใหญ่ จนทำให้ไม่มีนกในที่สุด”
ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ยังกล่าวว่า วินาศกรรมที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ได้สร้างสำนึกขึ้นด้วย เช่น เมื่อก่อนคนอาจไม่เคยรักกรุงเทพฯ แต่วันนี้มาร่วมมือกันทำความสะอาดเมือง คือคนในพื้นที่ต้องเป็นคนทำ ภาคใต้ก็เหมือนกัน อาจให้เขากำหนดเองว่าตรงนี้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสมบัติร่วมกัน เช่น โรงเรียนสอนศาสนาปอเนาะที่ให้การศึกษาท้องถิ่นของตัวเอง
ผศ.ดร.สุกรี หะยีสาแม รองคณะบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวถึง “ปัญหาการรุกล้ำทรัพยากร ส่วนรวมของคน 3 จังหวัดภาคใต้” ว่า ทรัพยากรส่วนใหญ่กำลังเปลี่ยนไปเนื่องจากการครอบครองทั้งที่บนดิน ในน้ำ ในอากาศ เช่น การแย่งชิงที่ทำกินในอ่าวปัตตานี มีชาวบ้านกว่า 10,000 ครัวเรือน 40,000 คน ชาวประมงกว่า 2,000 ชีวิต เรือประมงกว่า 2,300 ลำ อยู่ในพื้นที่ เพียง 72 ตารางกิโลเมตร มีการจับจองกันเกือบหมด และเริ่มมีการขายที่ดินในทะเลซึ่งไม่มีเอกสารอะไรเลย มีนายทุนและชาวบ้านพยายามปิดอ่าวเพื่อไม่ให้ตื้นเขิน
“การแก้ความตื้นของอ่าวปัตตานีเป็นเรื่องที่เหนือความสามารถมนุษย์ มองว่าท้ายที่สุดจะกลายเป็นพื้นดินจากการทับถมของตะกอน แต่จะทำอย่างไรเพื่อยืนหยัดรักษาอ่าวปัตตานีให้เป็นพื้นที่สาธารณะต่อไป เพราะถ้ามีโฉนดน้ำเมื่อไหร่ ความขัดแย้งจะรุนแรงยิ่งขึ้น
ดร.สุกรี ยังกล่าวถึง กรณีประกาศเขตอุทยานทับที่ทำกิน ซึ่งมีวิธีการแก้ปัญหาของชาวบ้านที่น่าสนใจ เช่น กรณีเทือกเขาบูโด หลังจากประกาศอุทยานฯไม่นานก็เกิดระเบิดที่ภาคใต้ แต่ก็เกิดการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายชาวบ้าน มีการเดินสำรวจด้วยจีพีเอสหาตำแหน่ง ใช้ต้นไม้เป็นหลักฐานว่าทำกินกันมานานก่อนอุทยานฯ จนที่สุดราชการออกโฉนดให้ แต่ก็ยังมีชาวบ้านที่ต้องรอพิสูจน์สิทธิ์อีก .