PwC เผยปัญญาประดิษฐ์จ่อปฏิวัติตลาดแรงงานโลก
PwC เผยปัญญาประดิษฐ์มีแนวโน้มแทนที่แรงงานมนุษย์ หลังถูกพัฒนาต่อยอดจากไอโอทีจนเกิดเป็นเครื่องจักรอัจฉริยะ สามารถเลียนแบบพฤติกรรมและตัดสินใจแทนมนุษย์ในเรื่องต่างๆ ชี้เริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนเอไอและหุ่นยนต์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่า เอไอจะเข้ามาพลิกโฉมตลาดแรงงาน รวมทั้งกลยุทธ์การพัฒนาทักษะและจัดหาบุคลากรขององค์กร พร้อมระบุประโยชน์จากการเข้ามาของเอไอจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท-ลดอุบัติเหตุ-เพิ่มความปลอดภัยในชีวิต-ลดค่าใช้จ่าย-เพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้ แนะทุกอุตสาหกรรมอย่ากลัว เร่งปรับตัวและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้
นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงรายงาน Leveraging the upcoming disruptions from AI and IoT ที่ทำการศึกษาผลกระทบจากการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence: AI) และเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (The Internet of Things: IoT) ว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เอไอ หรือความฉลาดเทียมที่สร้างขึ้นให้กับเครื่องจักรและคอมพิวเตอร์ มีศักยภาพในการทำงานเทียบเท่ากับมนุษย์จะเข้ามาพลิกโฉมตลาดแรงงานทั่วโลก ขณะที่เมื่อมีการนำเอไอมาพัฒนาต่อยอดกับอินเทอร์เน็ตเชื่อมต่ออุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ รถยนต์ โทรทัศน์ ทำให้เกิดเป็นเครื่องจักรอัจฉริยะ (Smart machines) และสามารถทำงานได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าหลายๆ อุตสาหกรรมเริ่มหันมาลงทุนและพัฒนาเพื่อนำนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้กับธุรกิจแล้ว
“เรามองว่า มีความจำเป็นอย่างมากที่วันนี้ภาคธุรกิจต้องมีกลยุทธ์ในการนำเอไอมาผนวกใช้กับไอโอทีเพื่อบริหารจัดการข้อมูลเชิงลึกเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน วันนี้เราเห็นการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างคนกับคน คนกับสิ่งของ หรือสิ่งของกับสิ่งของ เช่น กล้องวงจรปิดหรือเครื่องใช้ต่างๆ ในบ้านที่เราสามารถควบคุมด้วยอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ และอื่นๆ ศักยภาพของเอไอเมื่อถูกผสมผสานเข้ากับไอโอทีจะปลดล็อกมูลค่าทางธุรกิจและเปลี่ยนโฉมตลาดแรงงาน ทักษะแรงงานที่นายจ้างต้องการ รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลในทุกอุตสาหกรรมก็จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง” นางสาววิไลพร กล่าว
ทั้งนี้ เอไอจะเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการข้อมูลของไอโอทีทั้งการจัดเก็บ รวบรวม ประมวลผลเชิงลึก ผ่านการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine learning) โดยรายงานระบุว่า ด้วยความสามารถในการทำงานแบบเรียลไทม์ผ่านการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ของเครื่องจักรอัจฉริยะซึ่งถูกพัฒนาต่อยอดจากเอไอและไอโอทีจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจอย่างมหาศาล และส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนในเอไอทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยในระยะข้างหน้า
นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า กระแสของการนำเอไอมาผนวกใช้กับไอโอทีกับภาคธุรกิจจะยังได้รับแรงกดดันจากพนักงานขององค์กรที่ต้องการได้รับความสะดวกสบายในการทำงานมากขึ้นผ่านแอปพลิเคชันของเอไอ เฉกเช่นเดียวกับการใช้ชีวิตประจำวันที่บ้าน
'เอไอ' แทนที่ตลาดแรงงานมนุษย์
นางสาววิไลพร กล่าวต่อว่า เนื่องจากวิวัฒนาการของเอไอกำลังเข้ามาปฏิวัติการทำงานในโลกอุตสาหกรรม จะส่งผลให้ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบ รวมทั้งองค์กรต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การจ้างงานและเสริมสร้างทักษะของพนักงานที่มีอยู่เพื่อตอบโจทย์ตลาดที่ต้องการแรงงานที่มีทักษะสูงขึ้น ขณะที่ลดสัดส่วนจำนวนพนักงาน (Headcount) ขององค์กรลง
รายงานของ PwC ระบุว่า อาชีพที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเข้ามาของเอไอมากที่สุด ได้แก่ ผู้ช่วยส่วนตัว คนขับรถแท็กซี่ พนักงานเก็บเงิน พนักงานรับโทรศัพท์ พนักงานต้อนรับ และพนักงานธนาคาร นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า จะมีอาชีพอื่นๆ ด้วยที่ได้รับผลกระทบ หลังจากที่เอไอถูกนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ
“การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตลาดแรงงานทั่วโลก ถือเป็นความท้าทายขององค์กรที่ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ทั้งในแง่การวางกลยุทธ์ในการบริหารงานทรัพยากรบุคคล ทักษะที่ต้องการ และการฝึกอบรบพนักงาน ซึ่งวันนี้หลายบริษัททั้งขนาดเล็กและใหญ่ ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการนำเอไอมาใช้กับธุรกิจ” นางสาววิไลพร กล่าว
สำหรับประเทศไทย นางสาววิไลพร กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันหลายๆ องค์กรเริ่มมีการปรับตัว โดยนำระบบเอไอและหุ่นยนต์มาใช้แทนที่แรงงานมนุษย์บ้างแล้ว เช่น ธุรกิจค้าปลีกที่มีบริการระบบชำระเงินค่าสินค้าอัตโนมัติภายในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือ ธนาคารพาณิชย์ที่จัดตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกทั้งมีการลดจำนวนพนักงานหน้าเคาน์เตอร์ และนำระบบอัตโนมัติมาใช้ตามสาขาของธนาคารเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ธุรกิจรายอื่นๆ ก็มีการศึกษา พัฒนาและลงทุนด้านเอไอและหุ่นยนต์ เพื่อนำมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจในยุคดิจิทัลเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล
5 การเปลี่ยนแปลงจากการเข้ามาของเอไอ
นอกจากเหนือจากตลาดแรงงานที่จะได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของเอไอแล้ว การขยายตัวของสินค้าและบริการอัจฉริยะต่างๆ จะยิ่งผลักดันให้ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์และบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยเอไอจะทำให้เกิดผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ในตลาด รวมทั้งการล้มหายไปของคู่แข่งที่ปรับตัวไม่ได้
ทั้งนี้ รายงานชี้ให้เห็นว่า การนำเอไอมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 5 ประการ ดังนี้
1. รายได้สูงขึ้น โดยธุรกิจ 3 ประเภทที่มีโอกาสในการเพิ่มรายได้จากการผนวกไอโอทีเข้ากับเซ็นเซอร์อัจฉริยะ อุปกรณ์เชื่อมและเอไอ ได้แก่ ผู้ผลิตอุปกรณ์ไอโอที (IoT device manufacturers) ผู้ให้บริการและจำหน่ายข้อมูลไอโอที (IoT data and information providers/ aggregators) และบริษัทที่นำเสนอบริการแอปพลิเคชันเซ็นเซอร์อัจฉริยะ
2. ความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ระบบการตรวจสอบแบบเรียลไทม์จะช่วยป้องกันการเกิดภัยพิบัติ และเพิ่มความปลอดภัยในด้านต่างๆ ยกตัวอย่าง เช่น กล้องรักษาความปลอดภัยที่ใช้เอไอในการแยกแยะระหว่าง คน สัตว์ และ ยานพาหนะออกจากกัน โดยกล้องยังสามารถทำการเปิดไฟ หรือส่งสัญญาณเตือนภัยต่างๆ ผ่านระบบเซ็นเซอร์
3. การสูญเสียจากอุบัติเหตุและเหตุไม่คาดฝันลดลง ระบบการตรวจสอบแบบเรียลไทม์จะช่วยลดการสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สิน
4. ค่าใช้จ่ายลดลง การมีระบบการตรวจสอบและควบคุมอัจฉริยะที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า มิเตอร์บ้านอัจฉริยะ (Home smart metres) หรือแม้แต่เครื่องใช้ภายในบ้านที่ควบคุมด้วยระบบเซ็นเซอร์ จะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการของธุรกิจและที่อยู่อาศัย
5. ประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าเพิ่มขึ้น เซ็นเซอร์อัจฉริยะยังมีความสามารถถูกปรับเข้ากับพฤติกรรมของผู้ใช้แต่ละคนได้ผ่านการเรียนรู้พฤติกรรมการใช้งานและความชอบของลูกค้า ยกตัวอย่าง เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิภายในบ้านอัจฉริยะ (Smart thermostat) ที่สามารถปรับอุณหภูมิภายในบ้าน ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศที่ผู้อยู่อาศัยต้องการผ่านการตั้งค่าในระบบ และแสดงผลข้อมูลไปยังโทรศัพท์มือถือ หรือ นาฬิกาอัจฉริยะ
นอกจากนี้ รายงานของ PwC ยังระบุว่า ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมต่างๆ เช่น สายการบิน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิต และแท่นขุดเจาะน้ำมันหลายแห่ง ได้เริ่มนำนวัตกรรมเอไอมาผนวกใช้กับไอโอทีเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานแล้ว
“วันนี้ผู้ประกอบการไม่ว่าขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กต้องเร่งปรับตัวในการนำเอไอมาใช้ในการพัฒนารูปแบบการทำธุรกิจ ไม่ว่าเอไอจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อตลาดแรงงานในอนาคตหรือไม่ก็ตาม เรามองว่าทุกฝ่ายต้องอ้าแขนรับกับการเปลี่ยนแปลง และไม่กลัวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ในระยะข้างหน้า ตลาดเอไอจะยิ่งใหญ่ขึ้นและจะถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีความฉลาด และความยืดหยุ่นมากขึ้น จนในที่สุดกลายเป็นสมองของเครื่องจักรอย่างสมบรูณ์แบบ” นางสาววิไลพร กล่าวทิ้งท้าย
เกี่ยวกับ PwC
PwC (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) หนึ่งในเครือข่ายบริษัทผู้ให้บริการด้านตรวจสอบบัญชี บริการให้คำปรึกษาด้านภาษี และบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจรายใหญ่ของโลก มีเครือข่ายไปใน 157 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 223,000 คน สำหรับประเทศไทย บริษัทถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 58 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่างๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรกว่า 1,600 คนในประเทศไทย
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก www.zolkorn.com