เมื่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ไม่สนใจเข้าร่วมประมูลข้าวในสต็อกของรัฐ?
"...จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการอุตสาหรรม ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย สมาคมโรงไฟฟ้าชีวมวล และสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย สรุปได้ว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ไม่สนใจเข้าร่วมประมูลข้าวสารในสต็อกของรัฐ เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพและปริมาณของข้าวสารยังไม่เพียงพอ สำหรับใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจเข้าร่วมประมูลและการกำหนดราคาเสนอซื้อข้าวสาร และหลักเกณฑ์การส่งมอบ รับมอบ และขนย้ายข้าวสารตามประกาศจำหน่ายยังมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติ.."
การจำหน่ายข้าวสารในสต็อกรัฐบาล เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังมีปัญหาเกิดขึ้น เมื่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ไม่สนใจเข้าร่วมประมูลข้าวในสต็อกของรัฐ
น่าจะเป็นบทสรุปที่สำคัญที่สุด สำหรับการศึกษาการจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐ ของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เสนอให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว พิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาไปเมื่อเร็วๆ นี้
โดยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ถูกเปิดเผยออกมาเป็นทางการ เมื่อสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในช่วงต้นเดือนมี.ค.2560 ที่ผ่านมา สตง. ได้ทำหนังสือถึง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว เพื่อแจ้งให้ทราบถึงผลการศึกษาการจำหน่าข้าวสารในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรม ตั้งแต่ปี 2558-2559 รวมจำนวน 5 ครั้ง โดยประกาศจำหน่าย 281 คลัง ปริมาณรวม 2.511 ล้านต้น และพบว่า มีการจำหน่ายข้าวสารได้เพียง 0.341 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 13.48 ของปริมาณที่ประกาศจำหน่าย ทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแผนการระบายข้าวสารและภาระค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บรักษาข้าวสารของรัฐ
ทั้งนี้ สตง. ระบุว่า จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการอุตสาหรรม ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย สมาคมโรงไฟฟ้าชีวมวล และสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย สรุปได้ว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ไม่สนใจเข้าร่วมประมูลข้าวสารในสต็อกของรัฐ เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพและปริมาณของข้าวสารยังไม่เพียงพอ สำหรับใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจเข้าร่วมประมูลและการกำหนดราคาเสนอซื้อข้าวสาร และหลักเกณฑ์การส่งมอบ รับมอบ และขนย้ายข้าวสารตามประกาศจำหน่ายยังมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติ
โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพและปริมาณยังไม่เพียงพอ
1.1 ข้อมูลคุณภาพข้าวสารที่มีการประกาศจำหน่ายยังไม่เพียงพอ กล่าวคือ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแต่ละประเภทจำเป็นต้องทราบคุณภาพข้าวสารว่ามีคุณลักษณะที่จะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตได้หรือไม่ อย่างไร
เช่น ผู้ประกอบการเอทานอลต้องการทราบปริมาณเชื้อแป้งของวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ ผู้ประกอบการไฟฟ้าชีวมวลต้องการทราบค่าความร้อน (Heat Value) และระยะเวลาการเผาไหม้ของวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ เป็นต้น เนื่องจากคุณลักษณะดังกล่าวของวัตถุดิบย่อมมีผลต่อการคำนวณหาสูตรการผลิตและประมาณการต้นทุนการผลิต เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ต้นทุนกับผลประโยชน์ที่จะได้รับเทียบเคียงกับวัตถุดิบชนิดอื่น และสามารถกำหนดราคาเสนอซื้อข้าวสารที่เหมาะสมได้
1.2 ข้อมูลปริมาณข้าวสารในสต็อกของรัฐโดยรวมที่จะมีการระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมยังไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความต่อเนื่องของวัตถุดิบ
กล่าวคือ ในการนำข้าวสารมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต ผู้ประกอบการบางรายอาจจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตหรือเพิ่มเติมเครื่องจักรและอุปกรณ์บางรายการ ผู้ประกอบการในแต่ละอุตสาหกรรม จึงจำเป็นต้องทราบข้อมูลปริมาณข้าวสารในสต็อกของรัฐที่จะระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมว่าจะมีความต่อเนื่องและปริมาณมากเพียงพอต่อความคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการหรือไม่ อย่างไร
2. หลักเกณฑ์การส่งมอบ รับมอบ และขนย้ายข้าวสารตามประกาศจำหน่ายยังมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติ
กล่าวคือ หลักเกณฑ์ดังกล่าวกำหนดให้ผู้ซื้อจะต้องชำระเงินค่าสินค้าก่อนที่จะรับมอบข้าวสารในแต่ละครั้ง โดยจะส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อ ฯ หน้าคลังสินค้าที่เก็บรักษา ซึ่งผู้ซื้อจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดจากการรับมอบและขนย้าย รวมทั้งต้องชำระเงิน พร้อมรับมอบและขนย้ายข้าวสารตามปริมาณและระยะเวลาที่กำหนดหากไม่แล้วเสร็จภายในเวลากำหนด ผู้ซื้อจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายแล้วแต่กรณีตามปริมาณคงเหลือ
ซึ่งผู้ประกอบการบางรายมีข้อจำกัดด้านสถานที่จัดเก็บหรือมีภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาข้าวสาร ทำให้ต้องใช้เงินทุนเพิ่มขึ้น
ขณะที่วัตถุดิบประเภทอื่นจะเป็นการซื้อขายล่วงหน้าและเป็นราคาหน้าโรงงานของผู้ซื้อ โดยจัดทำสัญญาการส่งมอบวัตถุดิบตามงวดการผลิตและกำลังการผลิต จึงไม่มีภาระค่าใช้จ่ายในการขนย้ายและสถานที่จัดเก็บวัตถุดิบ
ดังนั้น เพื่อให้การระบายข้าวในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมในระยะต่อไปเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บข้าวสารของรัฐ สตง.จึงมีข้อเสนอแนะให้ประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวพิจารณาดำเนินการนำผลการศึกษาข้างต้นไปใช้ประกอบการพิจารณาระบายข้าว พร้อมทั้งศึกษาและรวบรวมปัญหา อุปสรรคอื่นๆ ของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในการใช้ข้าวสารเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณากำหนดแนวทางการระบายข้าวสารในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมและการเผยแพร่ข้อมูลสำคัญที่เป็นประโยชน์ให้ผู้ประกอบการต่อไป
ทั้งหมดนี่ คือ ภาพรวมปัญหาการจำหน่ายข้าวสารในสต็อกรัฐบาล เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งนับเป็นปัญหาสำคัญที่ไม่ควรถูกมองข้ามอย่างเด็ดขาด
เพราะนี่คือ อุปสรรคสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อแผนการระบายข้าวสารและภาระค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บรักษาข้าวสารของรัฐ และจะนำไปสู่ปัญหาใหญ่เกี่ยวกับเรื่องข้าวที่จะตามมาอีกจำนวนมากในอนาคต