เปิดข้อมูล "ครู-นักเรียน" เหยื่อไฟใต้ 568 ราย จี้ขอเยียวยาเท่าชุมนุมการเมือง
สมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รายงานสถิติครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนนักศึกษาที่เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และ/หรือทรัพย์สินเสียหายจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง 8 ปีเศษ ท่ามกลางกระแสความสนใจของประชาชนและข้าราชการทุกกลุ่มเกี่ยวกับการจ่ายชดเชยเยียวยาอัตราใหม่ของรัฐบาล
ข้อมูลของสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.2547 (วันที่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส) ถึงวันที่ 17 ม.ค.2555 มีครูอาจารย์เสียชีวิตไปแล้ว 118 ราย บุคคลากรทางการศึกษา 33 ราย และนักเรียน 42 ราย
นอกจากนั้นยังมีครูอาจารย์ได้รับบาดเจ็บ 120 ราย บุคคลากรทางการศึกษา 23 ราย และนักเรียน 175 ราย
ส่วนผู้ที่ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย แยกเป็นครูอาจารย์ 36 ราย บุคลากรทางการศึกษา 21 ราย
สรุป 8 ปีไฟใต้ มีครูและบุคลากรทางการศึกษาเสียชีวิต 151 ราย บาดเจ็บ 143 ราย ทรัพย์สินเสียหาย 57 ราย รวม 351 ราย ส่วนนักเรียน นักศึกษา เสียชีวิต 42 ราย บาดเจ็บ 175 ราย รวม 217 ราย
ฉะนั้นตลอด 8 ปีเศษ มีครูอาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบทุกกรณีทั้งสิ้น 568 ราย
มติสมาพันธ์ครูฯ จี้รัฐเยียวยาเท่าชุมนุมการเมือง
เมื่อวันจันทร์ที่ 20 ก.พ.2555 ที่ห้องประชุมโรงแรมปาร์ควิวรีสอร์ท จ.ปัตตานี สมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา, มัธยมศึกษา และกศน.ในสามจังหวัดชายแดนใต้และพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้นัดประชุมหารือกับผู้แทนครูจำนวน 80 คน เพื่อพิจารณาร่างหลักเกณฑ์เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ภายหลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน และได้เห็นชอบในหลักการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาเท่ากับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุชุมนุมทางการเมือง คือ 7.5 ล้านบาทสำหรับผู้เสียชีวิตและทุพพลภาพ
ทั้งนี้ นายบุญสม ทองศรีพลาย ประธานสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้แจ้งให้เพื่อนครูทราบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2554 ที่ให้เพิ่มค่าเสี่ยงภัยจากเดิม 2,500 บาท เป็น 3,500 บาท โดยลูกจ้างชั่วคราวจะได้รับสิทธินี้ด้วยเช่นกัน จากนั้นที่ประชุมได้หารือถึงหลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยเยียวยา ซึ่งมีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง
นายบุญสม เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ได้ช่วยกันร่างหลักเกณฑ์การเยียวยาให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เพราะครูก็ทำงานเพื่อบ้านเมือง เพื่อความมั่นคงของชาติ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายทำลายล้างใครหรือผู้ใด
“ที่ประชุมได้นำเสนอหลักเกณฑ์กรณีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ควรจะได้รับการเยียวยาเท่ากับกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง คือ รายละ 7.5 ล้านบาท โดยใช้ระบบแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ นี่คือข้อเรียกร้องของผู้แทนครูในวันนี้ ซึ่งข้อเสนอที่เป็นข้อสรุปนี้ ผมจะนำเสนอให้กับคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อพิจารณาและเสนอ ครม.ต่อไป ส่วนรัฐบาลจะทำได้มากน้อยแค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ผมคิดว่าสังคมจะอยู่ได้ ทุกคนต้องได้รับความเสมอภาคและความเป็นธรรม ถ้าจะเยียวยาก็ต้องเยียวยาทุกกลุ่ม ไม่ใช่เลือกเยียวยาเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น” นายบุญสม กล่าว
ตัวเลข 7.5 ล้านไม่มากเกินไป
ด้านตัวแทนครูจาก จ.ปัตตานีรายหนึ่ง กล่าวว่า กรณีเงินชดเชยเยียวยา 7.5 ล้านบาทที่รัฐบาลประกาศจ่ายให้กับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเหตุชุมนุมทางการเมือง และได้ข้อสรุปแล้วนั้น สะท้อนให้เห็นว่าเจตนาที่แท้จริงของรัฐบาลต้องการช่วยเหลือแค่กลุ่มเสื้อแดง ไม่ได้อยากช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ชายแดนใต้ ส่วนสิ่งที่กลุ่มครูออกมาเรียกร้องสิทธิครั้งนี้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรทำตั้งนานแล้ว
"ที่ผ่านมาครูได้รับเงินเยียวยา 5 แสนบาท เราเคยเสนอในที่ประชุมให้ได้สิทธิมากกว่านี้ แต่ก็ถูกท้วงติงว่าเสนอมากไป และคงเป็นไปไม่ได้ แต่พอรัฐบาลประกาศตัวเลข 7.5 ล้านออกมา เราจึงเพิ่งแตกตื่น แต่ก็มองว่ายังไม่สาย และอยากให้รัฐบาลนำไปพิจารณาว่า สิ่งที่ครูปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยง ในพื้นที่สีแดงอย่างนี้ ข้อเสนอของเรามากไปหรือไม่ พ่อแม่ของครูบางคนอายุมากแล้ว มีลูกคนเดียว ส่งลูกเรียนจนได้รับราชการครู ก็หวังพึ่งพาลูก แต่เมื่อสูญเสียลูกไป สิทธิการเบิกต่างๆ ก็เป็นอันเบิกไม่ได้ หลายครอบครัวได้รับความลำบาก จึงคิดว่าการช่วยเหลือครูที่ทำหน้าที่เพื่อบ้านเมือง เสียสละเพื่อบ้านเมือง เป็นสิ่งที่ควรกระทำ และเงินจำนวนนี้เทียบกับความสูญเสียมันไม่ได้มากเกินไปเลย" ตัวแทนครูจาก จ.ปัตตานี กล่าว
--------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 และ 3 ตารางข้อมูลครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนนักศึกษาที่เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และ/หรือทรัพย์สินเสียหายจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งตัวเลขแยกรายจังหวัดและตัวเลขรวม จัดทำโดย ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สำนักบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษาที่ 12)
2 บรรยากาศการประชุมสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้