“นั่งแค็บ-กระบะ” ได้ถึงปีใหม่ ตร.จี้ ขนส่งฯอะลุ่มอล่วย
ตำรวจ เสนอผ่อนผันนั่งแค็บ-กระบะถึงช่วงปีใหม่ จี้ กรมขนส่งออกกฎเกณฑ์อะลุ่มอล่วยในการใช้รถกระบะของประชาชน
เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2560 หลังเทศกาลสงกรานต์ผ่านไป สิ่งที่ประชาชนถามถึงกันมากที่สุดตอนนี้คือเรื่องการใช้รถกระบะ ที่ทางการผ่อนผันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาว่าให้สามารถนั่งในแค็บและท้ายกระบะรถได้ไม่เกิน6คน และแจ้งไว้ว่าหลังสงกรานต์จะมาคุยอีกครั้งว่าจะเอาอย่างไร
ล่าสุด พล.ต.ท.วิทยา ประยงค์พันธ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร เปิดเผยกับ “คมชัดลึกออนไลน์” ถึงเรื่องดังกล่าวว่าเมื่อวันที่ 7 เม.ย. ที่ผ่านมา ตนในฐานะผู้ช่วย ผบ.ตร.ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้กรมการขนส่งออกหลักเกณฑ์มารองรับการใช้รถกระบะบรรทุกผู้โดยสาร ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 เพิ่มเติม
ทั้งนี้ พล.ต.ท.วิทยา กล่าวว่า เรื่องการใช้รถยนต์ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ในมาตรา 21 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมปี 2528 ใจความโดยสรุปคือ “ให้สามารถใช้รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลได้” ส่งผลให้สามารถใช้รถกระบะบรรทุกคนได้
“ต่อมาปี 2557 มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนี้อีกครั้ง และเพิ่มนำหนักรถเป็น 2,200 กิโลกรัม และเขียนเงื่อนไขต่อท้ายว่า ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด อย่างไรก็ตามจนถึงบัดนี้ทางกรมขนส่งยังไม่ได้ออกหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในเรื่องนี้ออกมา”
ผู้ช่วย ผบ.ตร.กล่าวว่า ตามกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเคยมีการอนุญาตให้ใช้รถกระบะในการบรรทุกคนได้ เพียงแต่หลังจากมีการแก้กฎหมายในปี2557และกำหนดเงื่อนไขไว้ ทำให้ถ้ายึดตามกฎหมายจริงๆจะไม่สามารถใช้รถกระบะบรรทุกคนได้ แต่ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าทางกรมขนส่งยังไม่เคยออกกฎเกณฑ์ในเรื่องนี้ออกมา ดังนั้นทางตำรวจจึงเสนอว่ากรมการขนส่งควรจะออกระเบียบเรื่องนี้ออกมา และเขียนเพื่ออะลุ่มอล่วยให้ประชาชนสามารถใช้รถกระบะบรรทุกคนได้โดยให้มีความปลอดภัยระดับหนึ่ง รวมถึงให้สามารถนั่งในแค็บได้ด้วย เพราะกฎหมายเดิมก็เคยให้ทำได้
ทั้งนี้ ในหนังสือที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำถึงอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า ตามที่ สตช.นำแนวทางปฏิบัติเรื่องบังคับให้ใช้เข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ได้รับคำร้องเรียนจากผู้ใช้รถกระบะจำนวนมากว่าไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ด้วยความจำเป็นและข้อขัดข้องหลายประการ
“สตช.พิจารณาแล้ว เห็นว่า กรมการขนส่งทางบกควรพิจารณาออกหลักเกณฑ์และวิธีการที่มีความปลอดภัยระดับหนึ่งให้กับประชาชนที่มีความจำเป็นต้องใช้รถยนต์กระบะบรรทุกเป็นรถยนต์โดยสารบ้างในบางโอกาส โดยมิต้องไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงลักษณะรถเป็นรถยนต์บรรทุกคนโดยสารส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง” หนังสือของ สตช. ระบุ
ทั้งนี้ สตช.ได้เสนอแนวทาง 3 ข้อ คือ 1.ที่นั่งแค็บรุ่นที่กว้างเพียงพอให้ติดตั้งเข็มขัดนิรภัย 2 หรือ 3 จุด แล้วนั่งโดยสารได้
2.สำหรับท้ายกระบะ หากจำเป็นต้องบรรทุกคน ให้บรรทุกได้ไม่เกิน 6 คน และติดตั้งราวจับยึด หรือเข็มขัดนิรภัยเท่าที่ทำได้
3.รถกระบะที่บรรทุกคนให้ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ผู้ช่วย ผบ.ตร.ย้ำว่า หากทางกรมขนส่งยังไม่ออกกฎเกณฑ์เงื่อนไขดังกล่าวออกมา ทางตำรวจก็จะยังไม่จับปรับประชาชนที่ใช้รถผิดประเภท จะยังผ่อนผันไปก่อน และหากทางกรมขนส่งออกกฎเกณฑ์มา ก็คาดว่าจะนำมาบังคับใช้อย่างจริงจังในช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งจะมีการเดินทางกันมากอีกครั้ง
“คาดว่าระยะเวลาอีกประมาณครึ่งปี น่าจะเพียงพอในการประชาสัมพันธ์และให้ประชาชนเตรียมตัว” พล.ต.ท.วิทยา กล่าว
ทั้งนี้ พล.ต.ท.วิทยา กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (18 เม.ย.) จะมีการหารือเรื่องนี้กับทางกรมขนส่งอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เรื่องมาตรการในการให้ประชาชนรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งนั้น เจตนาของรัฐคือเพื่อให้เกิดความปลอดภัย เมื่อผ่านไประยะหนึ่งก็ต้องเป็นเรื่องจิตสำนึกของประชาชนที่จะปฏิบัติ เพราะรัฐคงไม่สามารถไปเฝ้าตรวจรถทุกคันได้ แต่หากประชาชนปฏิบัติตามก็จะส่งผลให้บรรเทาความรุนแรงจากอุบัติเหตุได้
ข้อมูลประกอบ
พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522
มาตรา 21 ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้
(1) การใช้รถยนต์บริการธุรกิจหรือรถยนต์บริการทัศนาจรในกิจการส่วนตัว
(2) การใช้รถยนต์สาธารณะในกิจการส่วนตัว โดยมีข้อความแสดงไว้ที่รถนั้นให้เห็นได้ง่ายจากภายนอกว่าใช้ในกิจการส่วนตัว
(3) การใช้รถยนต์สาธารณะบรรทุกของที่ติดตัวไปกับผู้โดยสาร
*(3 ทวิ) การใช้รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล หรือใช้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ(ฉบับที่5)พ.ศ. 2528)
(4) ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
ล่าสุด มีการแก้ไขมาตรา21ข้อ 3 ทวิ อีกครั้งโดย พ.ร.บ.รถยนต์ (ฉบับที่17 ) พ.ศ.2557 โดยแก้ไขเป็นเพิ่มน้ำหนักรถและเงื่อนไข “3/1การใช้รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกินสองพันสองร้อยกิโลกรัม เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล หรือใช้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด”