ยอดพุ่ง 6 วัน เซ่นเมาขับ-เที่ยวสงกรานต์ดับ 335
6 วันดับเซ่นเมาขับ-ซิ่งเที่ยวสงกรานต์ 335 ศพ "โคราช-เชียงใหม่" แชมป์สูญเสียไม่ตก "ศปถ." สั่งเข้มจุดตรวจรับขากลับหนาแน่น ด้าน "อธิบดีปภ." เผยตายมากบนถนนทางหลวง
17 เม.ย. 2560 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ปี2560 ได้สรุปสถิติอุบัติเหตุของวันที่ 16 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่ 6 ของการรณรงค์ในช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์ โดย รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานแถลงสรุปสถิติสรุปผลการดำเนินงานว่า เกิดอุบัติเหตุ 403 ครั้ง โดยมีสาเหตุสูงสุด 3 อันดับแรกจากการเมาแล้วขับ 152 ครั้ง ขับรถเร็ว 125 ครั้ง และทัศนวิสัยไม่ดี 64 ครั้ง ประเภทยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 2 อันดับแรก ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 341 คัน รถปิกอัพ 35 คัน แยกเป็น รถส่วนบุคคล 387 คัน รถโดยสารสาธารณะ 14 คัน รถบรรทุก 3 คัน พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิตและบาดเจ็บ 5 อันดับแรก ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย เมาแล้วขับ ขับรถเร็ว ตัดหน้ากระชั้นชิด และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ผู้เสียชีวิต 44 ราย แยกเป็น เสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ 23 ราย และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 19 ราย ระหว่างนำส่งโรงพยาบาล 2 ราย
สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ขับรถเร็ว 21 ราย ทัศนวิสัยไม่ดี 9 ราย และตัดหน้ากระชั้นชิด 8 ราย ประเภทรถที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 30 ราย (ไม่สวมหมวกนิรภัย 21 ราย) รองลงมาได้แก่ รถปิกอัพ 6 ราย รถเก๋ง 6 ราย รถตู้ 1 ราย และรถประเภทอื่นๆ 1 ราย จากการไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 7 ราย สถานะของผู้เสียชีวิตเป็นผู้ขับขี่ 29 ราย ผู้โดยสาร 12 ราย คนเดินถนน 3 ราย ผู้บาดเจ็บ 427 คน
ผู้ช่วยรมต.ประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการวิเคราะห์สถิติอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 16 เม.ย. พบว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาแล้วขับ ร้อยละ 37.72 ขับรถเร็ว ร้อยละ 31.02 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.58 รถปิกอัพ ร้อยละ 8.37 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 63.52 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 38.96 บนถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 33.5 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 27.30 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 23.14
จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี 17 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 4 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี 16 คน โดยได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,041 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 64,375 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 824,061 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 147,890 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 43,282 ราย ไม่มีใบขับขี่ 37,066 ราย จัดตั้งด่านชุมชน 21,526 ด่าน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 173,556 คน ส่วนข้อมูลการเดินทางโดยการใช้รถขนส่งสาธารณะ วันที่ 16 เม.ย. รวมจำนวน 9,972,035 คน ลดลงจากปี พ.ศ.2559 ร้อยละ 0.28
อย่างไรก็ตาม มีผู้บาดเจ็บระหว่างวันที่ 11 – 16 เม.ย. 2560 เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 21 ราย สรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม 6 วัน (11 - 16 เม.ย.) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,388 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 335 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 3,506 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมี 7 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ นราธิวาส พังงา ภูเก็ต แม่ฮ่องสอน สมุทรสงคราม และอำนาจเจริญ จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บในช่วง 6 วัน ได้แก่ ชัยภูมิ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 153 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 17 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 160 คน
"วันนี้เป็นวันหยุดสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ระหว่างเดินทางกลับ ทำให้เส้นทางสายหลักจากภูมิภาคต่างๆ ที่มุ่งเข้าสู่กรุงเทพมหานคร มีปริมาณรถหนาแน่น ประกอบกับความอ่อนล้าของผู้ขับขี่ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุง่วงหลับใน ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน หรือศปถ.จึงได้เน้นย้ำให้จังหวัดเพิ่มจุดตรวจ จุดบริการบนเส้นทางสายหลัก เข้มข้น การดูแลความปลอดภัยในการเดินทางและอำนวยการจราจรแก่ประชาชน โดยเปิดช่องทางพิเศษ ปิดจุดกลับรถ และปิดสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมถึงกวดขันการจอดรถริมทางและร้านค้าที่วางสิ่งของล้ำช่องทางจราจร เพื่ออำนวยการจราจรให้มีความคล่องตัวและป้องกันอุบัติเหตุจากการแซงริมไหล่ทาง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกบริเวณเส้นทางที่มีการจราจรแออัด โดยเฉพาะเส้นทางเชื่อมสู่ถนนสายหลัก อีกทั้งเข้มข้นการดูแลเส้นทางสายรอง ขอฝากผู้ใช้รถใช้ถนนไม่ขับรถเร็ว ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด หยุดพักรถทุก 1-2 ชั่วโมง ไม่ฝืนขับรถเมื่อมีอาการง่วงนอน ให้จอดพักรถตามจุดบริการต่างๆ หรือสถานีบริการน้ำมัน เพื่อให้เดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย" รศ.นพ.โศภณ กล่าว
ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีปภ. กล่าวว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงการเดินทางกลับ พบว่า อุบัติเหตุบนเส้นทางสายหลัก ซึ่งเป็นถนนในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และกว่าร้อยละ 54.66 ของผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นบนถนนทางหลวง ซึ่งวันนี้คาดว่าเส้นทางสายหลักจะมีปริมาณรถหนาแน่นตลอดทั้งวัน ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุชนท้าย และเฉี่ยวชน ศปถ.ได้กำชับจังหวัดให้เพิ่มความถี่ในการจัดตั้งจุดตรวจบนเส้นทางสายหลัก เพื่อชะลอความเร็วรถและป้องกันการแซงในระยะกระชั้นชิด รวมถึงเข้มข้นการดูแลจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ ทางโค้งที่มักเกิดอุบัติเหตุรถแหกโค้ง ทางลาดชันที่มักเกิดอุบัติเหตุเบรกแตก และเส้นทางตรงที่มีระยะทางยาวที่มักเกิดอุบัติเหตุจากการหลับใน