เปิด2กรณีศึกษามติ 'ก.ต.-คุรุสภา'! ชนวนเหตุ สตง.ชี้หลักสูตรเรียน'ม.รัฐ' มีปัญหา?
"..จากการเปรียบเทียบแผนและผลการรับนักศึกษา หลักสูตรศึกษาศาสตร์/คุรุศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 60 แห่ง จากทั้งหมด 84 แห่ง พบว่า มีสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 31 แห่ง จำนวน 63 หลักสูตร มีการรับนักศึกษามากกว่าแผนที่กำหนด บางหลักสูตรรับนักศึกษามากกว่าแผนสูงกว่าร้อยละ 100 โดยเฉพาะหลักสูตรระดับปริญญาโท สาขาการบริหารการศึกษา นอกจากนี้ ยังมีสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งไม่ได้รายงานแผน และผลการรับนักศึกษาหรือรายงานไม่ครบถ้วนทุกหลักสูตร ทำให้สถาบันอุดมศึกษา มีผลการดำเนินงานหลักสูตรไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาและบัณฑิต ทำให้ไม้ได้รับการอนุมัติใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ.."
ดูเหมือนว่า ปัญหาหลักสูตรการเรียนการสอน ของ มหาวิทยาลัยในประเทศไทย ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน จะไม่ได้จำกัดวงอยู่แค่เพียง มหาวิทยาลัยเอกชน เท่านั้น
เพราะภายหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยข้อมูลล่าสุดว่า มีมหาวิทยาลัยเอกชน ที่มีปัญหาถูกร้องเรียนเรื่องหลักสูตรไม่เป็นไปตามมาตรฐานของ สกอ. จำนวนนับ 10 แห่ง ไปเมื่อเร็วๆ นี้
(อ่านประกอบ : 'กกอ.' เปิด10รายชื่อมหา'ลัย เอกชนไม่ได้มาตรฐาน)
ล่าสุด ก็ถึงคิว มหาวิทยาลัยรัฐ ในสังกัด สกอ. ถูกตรวจสอบพบว่า มีปัญหาเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอน ที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานเช่นเดียวกัน
แถมยังพ่วงปัญหาการเปิดรับนักศึกษาที่ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดเพิ่มขึ้นอีกด้วย
โดยข้อมูลนี้ ถูกเปิดเผยเป็นทางการในหนังสือของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่แจ้งถึงเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อให้ทราบถึงผลการตรวจสอบหลักสูตรและการเปิดรับนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา ในสังกัด สกอ.
ทั้งนี้ ในส่วนของปัญหาการรับนักศึกษาไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด นั้น สตง.ระบุว่า จากการเปรียบเทียบแผนและผลการรับนักศึกษา หลักสูตรศึกษาศาสตร์/คุรุศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 60 แห่ง จากทั้งหมด 84 แห่ง พบว่า มีสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 31 แห่ง จำนวน 63 หลักสูตร มีการรับนักศึกษามากกว่าแผนที่กำหนด บางหลักสูตรรับนักศึกษามากกว่าแผนสูงกว่าร้อยละ 100 โดยเฉพาะหลักสูตรระดับปริญญาโท สาขาการบริหารการศึกษา
นอกจากนี้ ยังมีสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งไม่ได้รายงานแผน และผลการรับนักศึกษาหรือรายงานไม่ครบถ้วนทุกหลักสูตร ทำให้สถาบันอุดมศึกษา มีผลการดำเนินงานหลักสูตรไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาและบัณฑิต ทำให้ไม้ได้รับการอนุมัติใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
ส่วน ปัญหาหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน นั้น สตง.ระบุว่า สกอ. ได้กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษา ดำเนินการประกันคุณภาพภายใน โดยให้จัดทำและรายงานการประเมินคุณภาพภายในประจำปีในระบบฐานข้อมูลด้านการประกันคุณภาพ ซึ่งจากรายงานดังกล่าว พบว่า ผลการดำเนินงานหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาที่ส่งรายงาน ณ วันที่ 6 ต.ค.2559 จำนวน 150 แห่ง จากทั้งหมด 154 แห่ง มีการรายงานผลการดำเนินงานหลักสูตร จำนวนทั้งสิ้น 8,949 หลักสูตร มีหลักสูตรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จำนวน 2,030 หลักสูตร และมีสถาบันอุดมศึกษาบางแห่ง รายงานผลการดำเนินงานไม่ครบถ้วนทุกหลักสูตร ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาและบัณฑิต โดยมีผลกระทบต่อการรับรองคุณวุฒิเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบอาชีพเช่นกัน
(อ่านประกอบ : พบ2,030หลักสูตรเรียน 'ม.รัฐ' มีปัญหา-เห่รับป.โทเกินแผน!สตง.จี้สกอ.แก้ไขด่วน)
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลในรายงานผลการตรวจสอบกรณีนี้ ที่สตง.แจ้งถึงสกอ. พบว่า มีการระบุข้อมูลตัวอย่าง ที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาและก่อให้เกิดความเสียหายแก่บัณฑิต จากปัญหาหลักสูตรและการรับนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ที่มีประสิทธิภาพไว้ด้วย
โดยประเด็นเรื่องหลักสูตรที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน นั้น สตง.ได้ระบุถึงกรณีนี้ ว่า คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) มีมติไม่เห็นชอบรับรองหลักสูตรปริญญาโททางกฎหมายในการสมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาของสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 4 แห่ง และเพิกถอนรับรองหลักสูตรปริญญาโททางกฎหมายในการสมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาของสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 3 แห่ง ซึ่งมีสาเหตุมาจาก อาจารย์ประจำหลักสูตร อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร และอาจารย์ผู้สอน ทั้งอาจารย์ประจำและอาจารย์พิเศษ รวมทั้งในระดับบัณฑิตศึกษา อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และอาจารย์ผู้สอบวิทยานิพนธ์มีคุณวุฒิ และคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามที่กำหนด ในเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร และการรับนักศึกษาไม่เป็นไปตามแผ่นที่กำหนด
ส่วนกรณีการรับนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน นั้น สตง.ระบุถึงกรณีนี้ ว่า คณะกรรมการคุรุสภา มีมติไม่อนุมัติใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัย 4 แห่ง ซึ่งมีสาเหตุจากมีการเรียนการสอนไม่ครบตามหลักสูตร ไม่ครบตามชั่วโมงเรียน อาจารย์ประจำหลักสูตร อาจารย์ผู้สอน อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และอาจารย์ผู้อบวิทยานิพนธ์ มีคุณวุฒิ และคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามที่กำหนดในเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร
ขณะที่ สตง.ระบุไว้ชัดเจนว่า เพื่อให้การดำเนินงานหลักสูตรและการรับนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานมีประสิทธิภาพ ไม่ก่อให้เกิดผล กระทบต่อคุณภาพการศึกษาและบัณฑิต จึงเสนอแนะให้ เลขาธิการ สกอ. ดำเนินการดังนี้
1. เร่งรัดติดตามให้สถาบันอุดมศึกษา รายงานข้อมูลผลการดำเนินงานหลักสูตรและแผน/ผลการรับนักศึกษาให้ครบถ้วนทุกแห่ง และแจ้งให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีการดำเนินงานหลักสูตรไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน หรือรับนักศึกษาไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานและแผนที่กำหนด
2. กำหนดมาตรการลงโทษ สภาสถาบันอุดมศึกษา ทั้งทางแพ่ง อาญา และวินัย กรณีมีการอนุมัติหลักสูตรไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน และรับนักศึกษามากกว่าแผนที่กำหนด ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาและก่อให้เกิดความเสียหายแก่บัณฑิตด้วย
3. กำหนดแนวทางการเผยแพร่ข้อมูลผลการดำเนินงานจากระบบการประกันคุณภาพภายในของสถาบันอุดมศึกษาต่อสาธารณชน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกสถาบันอุดมศึกษา และหลักสูตรในการศึกษาต่อ
โดยสตง.ขอให้ สกอ.พิจารณาดำเนินการตามที่เสนอแนะ และแจ้งผลกลับมาให้รับทราบด้วย
ส่วน สกอ. จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร? มหาวิทยาลัยของรัฐ แห่งไหนบ้าง? ที่เข้าข่ายมีปัญหา และจะมีแนวทางปรับปรุงแก้ไขปัญหาอย่างไร สาธารณชนคงต้องคอยจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป
แต่สิ่งที่ปรากฎให้เห็นชัดเจนแล้วในขณะนี้ ระบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยไทย ทั้งในส่วนของเอกชน และรัฐ ล้วนแล้วแต่มีปัญหาไม่ต่างกัน และเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องหันหน้าเข้าหากัน เพื่อช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหาให้หมดไปโดยด่วน
เพื่อไม่ให้ปัญหาส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาและก่อให้เกิดความเสียหายแก่บัณฑิตไทยไปมากกว่านี้