ฉบับเต็ม!ผลสอบสตง.สกัดปัญหาอัคคีภัยโรงหนัง-ตึก-ป้ายโฆษณาผิดกม.ล้อมคอก'กทม.'
"...กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นเมืองใหญ่ที่มีอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่พักอาศัยต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ และอาคารสาธารณะ ซึ่งอาคารต่างๆ เหล่านี้ มีผู้คนหมุนเวียนเข้าไปใช้ประโยชน์ จำนวนมาก ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะเป็น “เจ้าพนักงานท้องถิ่น” ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มีอำนาจและหน้าที่ในการควบคุมดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย หากเจ้าของอาคาร ผู้ประกอบการ และประชาชนมีการเตรียมรับมือ โดยให้ความสำคัญกับการตรวจสอบ ดูแล ปรับปรุงอาคาร ปฏิบัติตาม กฎหมายควบคุมอาคารเป็นประจำ นอกจากช่วยยืดอายุการใช้งานอาคารได้ยาวนานยิ่งขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ เกิดความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้อาคารและผู้อยู่อาศัย.."
ปัญหาความบกพร่องระบบป้องกันอัคคีภัยในโรงภาพยนตร์ รวมไปถึงกรณีอาคารส่วนใหญ่ไม่ยื่นรายงานตรวจสอบสภาพอาคาร ตามที่กฎหมายกำหนด นับเป็นเรื่องใหญ่ของคนในกทม. ที่ไม่ควรถูกมองข้ามอย่างยิ่ง ภายหลังจากที่เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบ 2 กรณีนี้ ออกมาเป็นทางการ
โดยในส่วนของปัญหาระบบป้องกันอัคคีภัยในโรงภาพยนตร์ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด สตง.ระบุว่า ตามที่ กทม. โดยกองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา ได้ดำเนินการตรวจสอบโรงภาพยนตร์ในพื้นที่ กทม. จำนวน 330 โรง ในอาคาร 44 แห่ง ระหว่างวันที่ 2 - 17 ส.ค.2559 ปรากฎว่า ระบบป้องกันอัคคีภัยในอาคารโรงภาพยนตร์ทั้ง 330 โรง ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงอุปกรณ์ประกอบอาคาร อาทิ บานประตูโรงภาพยนต์เป็นวัสดุทำจากไม้ ป้ายบอกแนวทางเดิน ป้ายบอกทางหนีไฟ และป้ายห้ามสูบบุหรี่้ มองเห็นไม่ชัดเจน ไม่ครอบคลุมทั่วพื้นที่ หรือมีลักษณะของป้ายที่ไม่เหมือนกัน
เบื้องต้น กทม. ได้ทำหนังสือด่วนแจ้งไปยังเจ้าของอาคารผู้ประกอบการโรงภาพยนต์ทั้ง 330 โรง ให้ดำเนินการแก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยกำหนดระยะเวลาแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับจากวันแจ้ง หรือประมาณ วันที่ 17 ก.ย.2559
แต่จากการติดตามพบว่า การดำเนินการแก้ไขของเจ้าของอาคารผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ ณ วันที่ 12 ธ.ค.2559 พบว่า โรงภาพยนตร์ทั้ง 330 โรง ยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จ โดยโรงภาพยนตร์จำนวน 89 โรง หรือคิดเป็นร้อยละ 26.97 ของโรงภาพยนตร์ทั้งหมด ได้ขอขยายเวลาแก้ไขเพิ่มเติม ขณะที่โรงภาพยนตร์อีกจำนวน 241 โรง หรือคิดเป็นร้อยละ 73.03 ของโรงภาพยนตร์ทั้งหมด ยังคงเพิกเฉย ไม่ดำเนินการใด ๆ
นอกจากนี้ ผลการตรวจสอบยังพบว่า มีอาคารที่เข้าข่ายต้องยื่นรายงานการตรวจสอบสภาพอาคาร จำนวน 3,372 แห่ง จากอาคารทั้งหมด 7,683 แห่ง โดยมีอาคารที่ไม่ยื่นรายงานตรวจสอบจำนวน 2,765 แห่ง คิดเป็นจำนวนร้อยละ 82 ของอาคารที่เข้าข่าย ซึ่งสำนักการโยธาได้มีหนังสือแจ้งเตือนเจ้าของอาคารดังกล่าว ให้ดำเนินการจัดส่งรายงานตรวจสอบสภาพอาคารภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้หนังสือแจ้งเตือน
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามผลการดำเนินการของอาคารที่แจ้งเตือน พบว่า มีอาคารเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ จำนวน 2,561 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 90 .99 ของอาคารที่ไม่ยื่นรายงานตรวจสอบและได้มีหนังสือแจ้งเตือน ซึ่งข้อมูลอาคารที่เพิกเฉยดังกล่าว ยังไม่รวมอาคารที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและไม่ยื่นรายงานตรวจสอบตั้งแต่ปี 2555 - 2559 เนื่องจาก กทม. ยังไม่มีการจัดทำฐานข้อมูลตามที่สตง.ตรวจสอบ
(อ่านประกอบ : ระบบป้องกันอัคคีภัยโรงหนัง330แห่งมีปัญหา!สตง.จี้ผู้ว่าฯกทม.เคลียร์เอกชน)
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เห็นว่า ทั้ง 2 กรณีนี้ ถือเป็นปัญหาที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ต่อชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน เบื้องต้น จึงได้นำผลสรุปในรายงานการตรวจสอบฉบับเต็มของ สตง. มานำเสนอ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญ และรีบหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยด่วน
โดยรายงานผลการตรวจสอบของ สตง. มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ที่มาและความสำคัญ
กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นเมืองใหญ่ที่มีอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่พักอาศัยต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ และอาคารสาธารณะ ซึ่งอาคารต่างๆ เหล่านี้ มีผู้คนหมุนเวียนเข้าไปใช้ประโยชน์ จำนวนมาก ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะเป็น “เจ้าพนักงานท้องถิ่น” ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มีอำนาจและหน้าที่ในการควบคุมดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย หากเจ้าของอาคาร ผู้ประกอบการ และประชาชนมีการเตรียมรับมือ โดยให้ความสำคัญกับการตรวจสอบ ดูแล ปรับปรุงอาคาร ปฏิบัติตาม กฎหมายควบคุมอาคารเป็นประจำ นอกจากช่วยยืดอายุการใช้งานอาคารได้ยาวนานยิ่งขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ เกิดความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้อาคารและผู้อยู่อาศัย
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานการบังคับใช้ กฎหมายควบคุมอาคาร จึงได้เลือกตรวจสอบการดำเนินงานดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 - 2558 เพื่อให้ได้มา ซึ่งรายงานการตรวจสอบที่มีความครอบคลุมผลการดำเนินงานของการควบคุมอาคารในกิจกรรมสำคัญ และให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยรับตรวจในการนำไปปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานให้เป็นไป อย่างมีระบบ เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
ข้อตรวจพบที่ 1 อาคารส่วนใหญ่ไม่ยื่นรายงานตรวจสอบสภาพอาคาร ตามที่กฎหมายกำหนด
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 32 ทวิ กฎกระทรวงกำหนดประเภทอาคารที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ พ.ศ. 2548และกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบอาคารหลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียน และการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนผู้ตรวจสอบ และหลักเกณฑ์การตรวจสอบ
อาคาร พ.ศ. 2548 ได้กำหนดประเภทอาคารที่เจ้าของอาคารต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบไว้ 9 ประเภท ได้แก่ 1) อาคารสูง 2)อาคารขนาดใหญ่พิเศษ 3)อาคารชุมนุมคน 4) โรงมหรสพ 5) โรงแรมที่มีจำนวนห้องพัก ตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป 6) สถานบริการที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป 7) อาคารชุดหรืออาคารอยู่อาศัยรวมที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000ตารางเมตรขึ้นไป 8) โรงงานที่มีความสูงมากกว่า 1ชั้น และมีพื้นที่ตั้งแต่5,000ตารางเมตรขึ้นไป 9) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่สูงจากพื้นดินตั้งแต่ 15เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไปหรือป้ายที่ติดหรือตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคาร หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป
ทั้งนี้ เจ้าของอาคารดังกล่าวต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบด้านวิศวกรรมหรือด้านสถาปัตยกรรมที่ขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการควบคุมอาคารเพื่อดำเนินการตรวจสอบสภาพอาคาร โครงสร้างของตัวอาคารอุปกรณ์ประกอบต่างๆ เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าและการจัดแสงสว่าง ระบบการเตือนภัย การป้องกันและการระงับ
อัคคีภัย การป้องกันอันตรายเมื่อมีเหตุชุลมุนวุ่นวาย ระบบระบายอากาศ ระบบระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสียระบบเครื่องกล หรือระบบอื่นๆ ของอาคารที่จำเป็นต่อการป้องกันภยันตรายต่างๆ ที่มีผลต่อสุขภาพ ชีวิตร่างกาย หรือทรัพย์สิน แล้วจัดทำรายงานตรวจสอบสภาพอาคารทุกปี ยกเว้นป้ายทุกสามปี เสนอต่อ
เจ้าพนักงานท้องถิ่นเพื่อพิจารณาออกใบรับรองการตรวจสอบอาคาร (แบบ ร.1) หรือสั่งให้แก้ไขตามมาตรา 46 ทวิ แล้วแต่กรณี โดยเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีหน้าที่ควบคุมดูแลให้เจ้าของอาคารดำเนินการตามกฎหมาย
จากการตรวจสอบอาคารที่เข้าข่ายต้องยื่นรายงานตรวจสอบสภาพอาคารของกรุงเทพมหานคร พบว่า อาคารส่วนใหญ่ไม่ยื่นรายงานตรวจสอบสภาพอาคารตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ ในช่วงที่ผ่านมากรุงเทพมหานครไม่มีมาตรการควบคุมดูแลให้เจ้าของอาคารที่เข้าข่ายต้องดำเนินการจัดให้มีผู้ตรวจสอบอาคารและยื่นรายงานตรวจสอบตามกฎหมาย
แต่จากกรณีการเกิดเพลิงไหม้อาคาร 7 ชั้น บริเวณซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 18 กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 และกรณีเพลิงไหม้ที่พักนักเรียนหญิงโรงเรียนพิทักษ์เกียรติวิทยา อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2559 กระทรวงมหาดไทย จึงได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท 0804.5/09291ลงวันที่ 1มิถุนายน 2559เรื่อง การบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกรุงเทพมหานคร โดยกองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบอาคาร 9 ประเภท โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจของสำนักผังเมือง ในกรุงเทพมหานคร
พ.ศ. 2551-2554และได้มีผลการตรวจสอบเมื่อวันที่ 27ธันวาคม 2559 สรุปว่า มีอาคารที่เข้าข่ายต้องยื่นรายงานตรวจสอบสภาพอาคาร จำนวน 3,372 แห่ง จากอาคารทั้งหมด จำนวน 7,683 แห่ง โดยมีอาคารที่ไม่ยื่นรายงานตรวจสอบ จำนวน 2,765แห่ง คิดเป็นร้อยละ 82.00ของอาคารที่เข้าข่าย ซึ่งสำนักการโยธาได้มีหนังสือแจ้งเตือนเจ้าของอาคารดังกล่าว ให้ดำเนินการจัดส่งรายงานตรวจสอบสภาพอาคารภายใน 60วัน นับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งเตือน
จากการติดตามผลการดำเนินการของอาคารที่แจ้งเตือน พบว่า มีอาคารที่ได้ดำเนินการตามหนังสือแจ้งเตือนจำนวน 271แห่ง แบ่งเป็น อาคารที่ได้รับใบ ร.1 และยังไม่ได้ใบ ร.1จ านวน 23และ226แห่ง ตามลำดับ ส่วนอาคารที่เหลือเพิกเฉย ไม่ดำเนินการใด ๆ จำนวน2,561 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 90.99 ของอาคารที่ไม่ยื่นรายงานตรวจสอบและได้มีหนังสือแจ้งเตือน ซึ่งข้อมูลอาคารที่เพิกเฉยดังกล่าว ยังไม่รวมอาคารที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและไม่ยื่นรายงานตรวจสอบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 จนถึงปี พ.ศ. 2559 เนื่องจากกรุงเทพมหานครยังไม่มีการจัดทำฐานข้อมูล
ผลกระทบ
เนื่องจากอาคารทั้ง 9 ประเภท เป็นอาคารที่ก่อสร้างเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือประกอบกิจการให้บริการประชาชน กรณีเจ้าของอาคารส่วนใหญ่ไม่ยื่นรายงานตรวจสอบสภาพอาคารตามที่กฎหมายกำหนดย่อมก่อให้เกิดความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่อาศัย
หรือใช้บริการ ดังกรณีตัวอย่าง เมเจอร์ซินีเพล็กซ์ ปิ่นเกล้า เกิดอัคคีภัยเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 โดยเหตุเพลิงไหม้เกิดที่บริเวณโรงภาพยนตร์ชั้น 4 มีโรงภาพยนตร์เสียหายจำนวน 8 โรง และมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ได้ตรวจสอบพบว่าเจ้าของอาคารไม่มีการยื่นรายงานผลการตรวจสอบสภาพอาคาร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556
ข้อตรวจพบที่ 2 ระบบป้องกันอัคคีภัยในโรงภาพยนตร์ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 หมวด 3 ทวิ การอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการเกี่ยวกับโรงมหรสพ กำหนดให้การก่อสร้าง ดัดแปลง เคลื่อนย้าย รื้อถอน หรือตรวจสอบอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพ ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ด้วยและประเภทของโรงมหรสพ ระบบความปลอดภัยและการป้องกันอันตรายอันอาจเกิดขึ้นกับคนดูและจำนวนและระยะห่างของสิ่งของหรือส่วนต่าง ๆ ภายในและภายนอกอาคารที่ใช้เป็นโรงมหรสพ เช่น ห้องฉาย ทางเข้าออก ประตู ที่นั่งคนดู ทางเดิน เป็นต้น ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ทั้งนี้ กฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพ ประเภทและระบบความปลอดภัยของโรงมหรสพ และอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับการอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพ พ.ศ. 2550 กำหนดให้โรงมหรสพต้องจัดให้ระบบความปลอดภัยและการป้องกันอันตราย
ไว้ตามหมวด 3เช่น โรงมหรสพต้องมีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ตามข้อ 19ติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือหรือเครื่องดับเพลิงยกหิ้วตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมติดตั้งในบริเวณต่างๆ ตามข้อ 21 ต้องจัดให้มีระบบดับเพลิงอัตโนมัติตามข้อ 22วัสดุที่ใช้ภายในโรงมหรสพ และทางเดินต้องเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด ไว้ในข้อ 29 บานประตูทางออกโรงมหรสพต้องมีอัตราการทนไฟได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงตามข้อ 37 (2)และทางออกจากโรงมหรสพต้องมีป้ายบอกทางหนีไฟด้วยตัวอักษรว่า “ทางออก” พร้อมด้วยสัญลักษณ์ทางหนีไฟที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนและมีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ 38
จากการตรวจสอบ พบว่า ระบบป้องกันอัคคีภัยในอาคารโรงภาพยนตร์ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ ตามที่กรุงเทพมหานคร โดยกองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา ได้ดำเนินการตรวจสอบโรงภาพยนตร์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 330 โรง ในอาคาร 44 แห่ง ในระหว่างวันที่
2-17 สิงหาคม 2559 ปรากฏว่า ระบบป้องกันอัคคีภัยในอาคารโรงภาพยนตร์ทั้ง 330 โรง หรือคิดเป็นร้อยละ 100.00ของโรงภาพยนตร์ทั้งหมดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีอุปกรณ์ประกอบอาคาร 5 อันดับแรกที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้ 1) บานประตูโรงภาพยนตร์เป็นวัสดุที่ทำจากไม้ 2) ป้ายบอกแนวทางเดิน ป้ายบอกทางหนีไฟ และป้ายห้ามสูบบุหรี่ มองเห็นไม่ชัดเจน ไม่ครอบคลุมทั่วพื้นที่ หรืออาจมีลักษณะของป้ายที่ไม่เหมือนกัน 3) ระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงและระบบตรวจจับควัน ติดตั้งไม่ครอบคลุมทั่วพื้นที่ทางเดินและภายในโรงภาพยนตร์ 4) ระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ชนิดอุปกรณ์แจ้งเหตุแบบอัตโนมัติติดตั้งไม่ครอบคลุมทั่วพื้นที่โรงภาพยนตร์ ห้องฉายภาพยนตร์ และทางเดินโดยรอบโรงภาพยนตร์ และ 5) เครื่องดับเพลิงชนิดแบบมือถือภายในโรงภาพยนตร์และห้องฉายภาพยนตร์มีไม่เพียงพอ และพบว่าเครื่องดับเพลิงแบบมือถือบางส่วนมีความสามารถในการป้องกันอัคคีภัยต่ำกว่าความสามารถเทียบ 4Aและ 10Bและมีขนาดความจุต่ำกว่า 15 ปอนด์ หรือ 6.80กิโลกรัม
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้ทำหนังสือด่วนแจ้งไปยังเจ้าของอาคารผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ ทั้ง 330โรง ให้ดำเนินการแก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยกำหนดระยะเวลาแก้ไขให้เสร็จสิ้นภายใน 30วัน นับจากวันแจ้ง ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 17กันยายน 2559จากการตรวจสอบติดตามผลการดำเนินการแก้ไขของเจ้าของอาคารผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ ณ วันที่ 12 ธันวาคม 2559 พบว่า โรงภาพยนตร์ทั้ง 330 โรง ยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จ โดยโรงภาพยนตร์ จำนวน 89 โรง หรือคิดเป็นร้อยละ 26.97 ของโรงภาพยนตร์ทั้งหมด ได้ขอขยายเวลาแก้ไขเพิ่มเติม ขณะที่โรงภาพยนตร์อีกจำนวน 241โรง หรือคิดเป็นร้อยละ 73.03ของโรงภาพยนตร์ทั้งหมด ยังคงเพิกเฉย ไม่ดำเนินการใดๆผลกระทบโรงภาพยนตร์เป็นอาคารที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดให้สาธารณชนเข้าชมการแสดง กรณีระบบป้องกันอัคคีภัยในโรงภาพยนตร์ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ย่อมก่อให้เกิดความเสี่ยงที่อาจเกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ใช้บริการ
สาเหตุ
กรุงเทพมหานครยังไม่มีมาตรการดำเนินการกับเจ้าของอาคารที่ประกอบการโรงภาพยนตร์ที่เพิกเฉยไม่ดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามกฎหมาย
ข้อตรวจพบที่ 3 ป้าย โฆษณาขนาดใหญ่ ที่ผิดกฎหมายไม่มีการรื้อถอนตามคำสั่ง และยังมีการใช้ประโยชน์
ตามมาตรา 4 (3) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้ “ป้าย” เป็นอาคาร ซึ่งจากการตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคาร กรณีป้าย ของกรุงเทพมหานคร พบว่า ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่ผิดกฎหมายไม่มีการรื้อถอนตามคำสั่ง และยังมีการใช้ประโยชน์กล่าวคือ จากการตรวจสอบ
รายงานของสำนักงานเขตต่างๆ ซึ่งได้ตรวจสอบป้ายโฆษณาที่มีอยู่เดิมทั้งหมดและป้ายโฆษณาที่สร้างใหม่และส่งรายงานให้กองควบคุมอาคาร สำนักการโยธาทราบเป็นรายเดือน พบว่า ณ วันที่ 31ธันวาคม 2558 ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีจำนวนทั้งสิ้น 1,067 ป้าย โดยมีป้ายที่ผิดกฎหมายจำนวน 242 ป้าย คิดเป็นร้อยละ 22.68 ของป้ายทั้งหมด ซึ่งจำแนกเป็นป้ายที่ก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 212 ป้าย และก่อสร้างผิดแบบ จำนวน 30 ป้าย โดยสำนักงานเขตลาดกระบังมีป้ายผิดกฎหมาย มากที่สุด จำนวน 35 ป้าย โดยมีคำสั่งให้รื้อถอน จำนวน 31 ป้าย ที่ยังฝ่าฝืน
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบ พบว่าปัจจุบัน ป้ายผิดกฎหมายที่มีคำสั่งให้รื้อถอนดังกล่าวยังคงมีการใช้ประโยชน์เพื่อการโฆษณา จำนวน 25 ป้าย คิดเป็นร้อยละ 80.65 ของป้ายที่มีคำสั่งให้รื้อถอน
ดังตัวอย่างในภาพที่ 6 ป้ายผิดกฎหมาย เนื่องจากก่อสร้างผิดแบบ มีการออกคำสั่งให้รื้อถอนตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2548 และภาพที่ 7 ป้ายผิดกฎหมายเนื่องจากก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต มีการออกคำสั่งให้รื้อถอน ตั้งแต่วันที่ 21สิงหาคม 2550ซึ่งป้ายโฆษณา ขนาดใหญ่ที่ผิดกฎหมายไม่มีการรื้อถอนตามคำสั่ง และยังมีการใช้ประโยชน์ ย่อมก่อให้เกิดความเสี่ยงที่อาจเกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เนื่องจากสภาพและความมั่นคงแข็งแรงของป้ายโฆษณาดังกล่าวโดยเฉพาะหากเกิดพายุฝนลมแรง
ทั้งนี้ สตง.ระบุว่าจากปัญหาที่ตรวจสอบพบทั้งหมด ชี้ให้เห็นว่า กทม. ไม่มีระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหารงานบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคาร การบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารของกรุงเทพมหานครยังไม่มีระบบฐานข้อมูลในการบริหารงาน บังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบังคับใช้กฎหมาย
โดยจำแนกฐานข้อมูลเพื่อการบริหารงานเป็น 3 ขั้นตอนสำคัญ ดังนี้
(1) ฐานข้อมูลเพื่อการวางแผน ไม่มีการจัดทำฐานข้อมูลทั่วไปของอาคาร เช่น จำนวน ประเภท อายุ จำนวนชั้นของอาคาร และพื้นที่ใช้สอย ทำให้ขาดข้อมูลเพื่อใช้ในการจัดทำแผนการตรวจสอบและ ควบคุมดูแลในการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมาย
(2) ฐานข้อมูลเพื่อการตรวจสอบ การจัดเก็บข้อมูลการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคาร เช่น การยื่นพิจารณาออกใบอนุญาตหรือแจ้งความประสงค์ การยื่นรายงานการตรวจสอบสภาพอาคารและการพิจารณา ออกใบรับรองการตรวจสอบสภาพอาคาร มีการจัดเก็บข้อมูลในลักษณะสมุดทะเบียนคุม (Manual) ของแต่ละสำนักงานเขต และสำนักการโยธายังไม่มีการประมวลและการรายงานผลในภาพรวม ทำให้ขาดข้อมูล เพื่อใช้ในการตรวจสอบและควบคุมดูแลในการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมาย
(3) ฐานข้อมูลเพื่อการติดตามผล สำนักงานเขตแต่ละแห่งไม่มีการจัดทำสมุดทะเบียนคุมคดีอาคาร การบันทึกรับคดี การจัดเก็บแฟ้มคดี และการรายงานสถานะของคดี อย่างเป็นระบบ เมื่อมีการโยกย้าย ผู้รับผิดชอบ ทำให้บางคดีไม่มีเอกสาร
ข้อเสนอแนะ
เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารเป็นไปอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. กำหนดมาตรการและดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดกับเจ้าของอาคารที่เพิกเฉย ไม่ยื่นรายงานตรวจสอบสภาพอาคาร เพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือใช้บริการ และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
2. สำรวจอาคารที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ และตรวจสอบการยื่นรายงานตรวจสอบสภาพอาคาร หากพบ การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายให้ดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด
3. กำหนดมาตรการและดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดกับเจ้าของอาคาร ที่ประกอบการโรงภาพยนตร์ที่เพิกเฉยไม่ดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามกฎหมาย
4. ศึกษาปัญหาอุปสรรค และแนวทางการแก้ไขกรณีป้ายโฆษณาที่ผิดกฎหมายไม่มีการรื้อถอน ตามคำสั่ง และยังมีการใช้ประโยชน์ โดยหารือกับกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อกำหนดมาตรการและ ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป
5. จัดทำฐานข้อมูลเพื่อการบริหารงานบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารอย่างเป็นระบบ เพื่อใช้ ในการวางแผน การตรวจสอบ และการติดตามผล
6. ควบคุมกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบให้มีการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารอย่างเคร่งครัด
ทั้งหมดนี้ คือ ปัญหาที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ต่อชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน ในเขตกทม. ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญ รีบหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยด่วน ก่อนที่จะเกิดเหตุร้ายอันนำมาซึ่งความเสียหายที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น