ผู้สูงอายุบ้านหนองยาง “สร้างสุขได้ด้วยตัวเอง”
การดูแลผู้สูงอายุของบ้านหนองยาง มุ่งเน้นการดูแลด้วยตัวเอง คือ ทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้เจ็บป่วย ซึ่งก็เริ่มตั้งแต่การรับประทานอาหารที่ดี การออกกำลังกายสม่ำเสมอ สิ่งที่สำคัญคือการให้ผู้สูงอายุอยู่ได้ด้วยตัวเอง ช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด
ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ผู้คนที่อพยพไปทำมาหากินต่างถิ่นต่างเฝ้ารอเวลาจะได้กลับไปถิ่นฐานบ้านเกิด เพื่อไปรดน้ำดำหัวขอพรพ่อแม่และผู้มีพระคุณ ทำให้ช่วงสงกรานต์ของทุกๆ ปี จึงเป็นช่วงแห่งความสุขครั้งหนึ่งของคนไทย
คนหนึ่งที่เฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อไม่น้อยกว่าหนุ่มสาว นั่นคือ พ่อ แม่ และปู่ย่า ตายาย ที่เฝ้ารอคนในครอบครัวจะได้กลับมาเยี่ยมเยือน และอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาอีกครั้ง เพราะนั่นคือ วันที่เขามีความสุขมากที่สุดในปีนั้นๆ
แต่สำหรับผู้สูงอายุบ้านหนองยาง หมู่ 10 ต.วังตะเคียน อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท เลือกที่จะสร้างความสุขให้กับตัวเอง โดยไม่ต้องเฝ้ารอ และไม่ต้องรอให้ใครหยิบยื่นให้ เมื่อทุกคนหันหน้ามาคุยกัน ก่อนจะรวมกลุ่มจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุขึ้น และทำตัวเองให้มีคุณค่า ทำให้หนุ่มสาวได้เห็นถึงพลังของคนแก่ที่ซ่อนอยู่มากมาย
ชมรมผู้สูงอายุบ้านหนองยาง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 ปัจจุบันมีสมาชิก 53 คน จากจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด 76 คน
ลุงสิงห์ทอง ฉาวกระฉ่อน วัย 69 ปี ประธานชมรมผู้สูงอายุบ้านหนองยาง เล่าว่า เมื่อสำรวจปัญหาด้านสุขภาพ พบว่าส่วนใหญ่ผู้สูงอายุจะปวดกล้ามเนื้อ เพราะมีอาชีพทำนาและรับจ้างมาตั้งแต่วัยหนุ่มสาวจนถึงปัจจุบัน เมื่ออายุมากขึ้นก็เริ่มปวดเมื่อย แต่ทุกคนยังแข็งแรงดี ไม่แพ้หนุ่มสาว ส่วนโรคเบาหวาน ความดัน มีน้อยมาก
กิจกรรมของชมรมจึงเน้นไปที่การส่งเสริมดูแลสุขภาพตนเอง ตรวจคัดกรองสุขภาพจาก รพ.สต. มีการออกกำลังกายเป็นประจำ มีการประชุมประจำเดือนทุกวันที่ 10 ขณะที่ช่วงงานบุญประเพณีก็จะนำเอาเยาวชนมาร่วมสืบสานภูมิปัญญาอยู่เสมอ และการส่งเสริมอาชีพให้กับผู้สูงอายุ เช่น งานสานผักตบชวา เพื่อสร้างรายได้เลี้ยงชีพ ซึ่งปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่สานผักตบชวาจำหน่ายมากกว่า 20 คน บางคนทำจนกลายเป็นอาชีพหลัก สร้างรายได้ 3,000-8,000 บาทต่อเดือนเลยทีเดียว
“ผู้สูงอายุที่นี่ทุกคนล้วนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี ความเป็นอยู่เรียบง่าย พึ่งพาอาศัยกัน เวลาเจอกันก็จะเห็นทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่มีใบหน้าเครียด วิตกกังวลอย่างใด” ลุงสิงห์ทอง กล่าว
ส่วนตัวอย่างของผู้สูงอายุที่ขยันขันแข็ง ไม่อยู่นิ่งเฉย อย่าง ป้าสำเภา นุตยางกูล วัย 65 ปี เป็นผู้ที่มีฝีมือด้านจักสาน จึงหารายได้เสริมจากการสานผักตบชวาขาย แม้จะต้องเลี้ยงดูหลานวัย 3 ขวบเศษ แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน
“สานผักตบชวามา 20 ปีแล้ว สานเป็นตะกร้า กระเป๋า หรือตามใบสั่งที่ทางกลุ่มสานผักตบชวาสั่งมา รายได้ดีเฉลี่ยแล้วได้วันละ 300 บาท แต่ถือว่าได้น้อยลงเพราะเดี๋ยวนี้ผักตบชวาหายาก ที่เคยหาเองตามลำคลอง ก็ไม่มีแล้ว ต้องสั่งซื้อมา ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ช่วงไหนว่างๆ ก็ทำ ทำง่ายๆ อยู่กับบ้าน อย่างหน้าทำนาทำถั่ว ก็จะไปรับเขา ความเป็นอยู่สบาย ไม่ได้ลำบาก ยังแข็งแรงทำงานได้” ป้าสำเภา พูดไปด้วยรอยยิ้ม
ด้าน พิเชฏฐ์ เกสร ผู้ใหญ่บ้านหนองยาง กล่าวถึงการดูแลผู้สูงอายุของบ้านหนองยาง มุ่งเน้นการดูแลด้วยตัวเอง คือ ทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้เจ็บป่วย ซึ่งก็เริ่มตั้งแต่การรับประทานอาหารที่ดี การออกกำลังกายสม่ำเสมอ สิ่งที่สำคัญคือการให้ผู้สูงอายุอยู่ได้ด้วยตัวเอง ช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด
“อาชีพเสริมที่ทำกันก็เพื่อให้มีรายได้นอกเหนือจากเบี้ยยังชีพ ซึ่งส่วนนี้ทำให้ผู้สูงอายุที่นี่มีความสุขได้ส่วนหนึ่ง เพราะไม่ได้ลำบากเรื่องเงินทอง ถามว่าคนที่นี่รวยไหม ตอบเลยว่า ไม่รวย แต่เขาพอใจอยู่แค่นี้ มีรายได้เท่านี้ รับจ้างหาเงินเท่านี้เขาก็พอใจ และมีความสุขมากแล้ว” ผู้ใหญ่พิเชฏฐ์ เล่า
ขณะเดียวกัน ด้านความสัมพันธ์ระหว่างวัย ผู้สูงอายุกับเยาวชน ผู้ใหญ่พิเชฏฐ์ บอกว่า อยู่ในเกณฑ์ดี เพราะชุมชนมุ่งเน้นสืบสานเจตนารมณ์ของผู้สูงอายุด้วยการสร้างผู้นำ 3 แถว คือ ผู้สูงอายุ คนวัยหนุ่ม และเด็ก-เยาวชน ให้รักษ์ถิ่นฐานบ้านเกิด ไม่อพยพไปทำมาหากินที่อื่น จนทำให้หมู่บ้านมีแต่ผู้สูงอายุ ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีหนุ่มสาวที่ออกไปทำงานต่างถิ่นน้อยมาก
ผลของความเข้มแข็งเหล่านี้ ส่วนหนึ่งมาจากกิจกรรมที่ทางชมรมผู้สูงอายุบ้านหนองยาง ได้เข้าร่วมโครงการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อเสริมสร้างสุขภาพของผู้สูงอายุทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ให้ผู้สูงอายุดูแลสุขภาพได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับวัย
กิจกรรมหลักๆ ที่ดำเนินการมา คือการอบรมให้ความรู้การดูแลสุขภาพ 3 อ. ได้แก่ การ ออกกำลังกาย อาหาร และอารมณ์ โดยการออกกำลังกายจะมีขึ้นทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ด้วยยางยืด และการใช้ก้านต้นตาลมาเป็นอุปกรณ์นวดผ่อนคลายและอุปกรณ์แทนไม้พลองสำหรับออกกำลังกายด้ายท่าทาง ซึ่งถือเป็นการนำเอาภูมิปัญญามาประยุกต์ใช้ การส่งเสริมสุขภาพจิต ด้วยการฟังเทศน์ เข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา บำเพ็ญประโยชน์ ถ่ายทอดภูมิปัญญา ตลอดจนการเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียง เพื่อไปพูดคุยให้กำลังใจในการดำเนินชีวิต แบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ซึ่งบ้านหนองยางมีผู้ป่วยติดบ้านจำนวน 4 ราย และไม่มีผู้ป่วยติดเตียง
โครงการนี้ทำให้ผู้สูงอายุบ้านหนองยางได้มาพบปะกันบ่อยมากขึ้น จากแต่ก่อนนานๆ ถึงถึงจะได้มาเจอกัน และสิ่งสำคัญ คือ ทำให้ทุกคนมีรอยยิ้มที่เปี่ยมสุข คละคลุ้งไปด้วยเสียงหัวเราะ สนุกสนาน
สุวรรณ เวฬุวาปี หรือป้าเจ๊ก วัย 60 ซึ่งเมื่อก่อนประสบปัญหาข้อเข่าเสื่อมอันเป็นผลพวงมาจากการทำงานหนักมาตั้งแต่วัยสาว แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการนี้แล้ว ทุกอย่างเปลี่ยนไป
ป้าเจ๊ก เล่าว่า ทำงานมาตั้งแต่เด็กทั้งทำนา รับจ้างทั่วไป ช่วงไม่กี่ปีมานี้เริ่มมีอาการปวดขา และเข่า หนักสุดจนแทบจะเดินไม่ได้ จนเมื่อปี 2559 จึงได้ตัดสินใจไปผ่าตัดข้อเข่า ทำให้หายปวด แต่ก็ยังเดินแทบไม่ได้ กระทั่งได้มาออกกำลังกายร่วมกับผู้สูงอายุ ครั้งแรกๆ ก็ทำแบบตะกุกตะกัก พอทำบ่อยครั้งก็ดีขึ้น ขาเริ่มกลับมามีเรี่ยวแรง ตอนนี้พอจะเดินได้บ้าง แม้จะยังไม่คล่องนัก แต่ก็ดีกว่าช่วงก่อน
“เวลามาออกกำลังกายร่วมกันก็ได้มานั่งพูดคุยกัน เหมือนเพื่อนได้เจอเพื่อน แค่นี้คนแก่ก็มีความสุขแล้ว” ป้าเจ๊ก กล่าว
วันนี้ผู้สูงอายุบ้านหนองยาง จึงมีความสุขทั้งกาย ใจ และปัญญา อันเป็นผลมาจากการลงมือทำด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นความสุขที่อยู่ในได้นาน มากกว่ารอคอยคนมามอบให้เพียงชั่วครั้งชั่วคราวแล้วจากไป