แค่ต้องการลดค่าน้ำ! เจาะผลสอบ สตง.โครงการน้ำบาดาล ร.ร. 4 พันล.
เจาะผลสอบโครงการแหล่งน้ำบาดาลให้ ร.ร. ทั่วประเทศ 3,178 แห่ง วงเงินกว่า 4 พันล้าน ฉบับ สตง. พบบางแห่งไม่ได้ใช้ประโยชน์แท้จริง แค่ต้องการลดค่าน้ำประปาเท่านั้น เจอปัญหาคุณภาพน้ำ สูบน้ำไม่ขึ้น อุปกรณ์ชำรุดเสียหายเพียบ บางพื้นที่ไม่ได้ผลิตน้ำบรรจุขวดตามวัตถุประสงค์
จากกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สรุปผลการตรวจสอบโครงการแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค จำนวน 3,178 แห่ง วงเงินกว่า 4,003 ล้านบาท พบปัญหาหลายประการ เช่น ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือก ขาดประสิทธิภาพในการบริหาร บางแห่งไม่ได้ขาดแคลนน้ำอย่างจริงจัง โดยเบื้องต้นพบว่าสูญเสียโอกาสในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินไปแล้วกว่า 59 ล้านบาทนั้น
(อ่านประกอบ : งบทำน้ำบาดาลดื่มได้ ร.ร. 4 พันล.ไม่คุ้มค่า! สตง.ชี้สูญเปล่าแล้ว 59 ล., ไร้หลักเกณฑ์เลือก-ไม่ได้คำนึงความต้องการ! สตง.จี้ทบทวนโครงการน้ำบาดาล ร.ร.)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบรายละเอียดของผลการตรวจสอบ สตง. ต่อกรณีดังกล่าว พบปัญหาเบื้องต้น ดังนี้
หนึ่ง โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการบางแห่งไม่ได้ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคอย่างรุนแรง
จากการตรวจสอบโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ปีงบประมาณ 2551-2557 จำนวน 200 แห่ง พบว่า มีโรงเรียนที่ใช้น้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคเพื่ออุปโภคบริโภคภายในโรงเรียนก่อนเข้าร่วมโครงการ จำนวน 46 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 23 ของโรงเรียนที่ตรวจสอบทั้งหมด ซึ่งภายหลังจากเข้าร่วมโครงการแล้ว โรงเรียนดังกล่าวส่วนใหญ่ยังมีการใช้น้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคเป็นแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคของโรงเรียนควบคู่ไปกับระบบประปาบาดาลของโครงการ โดยพบว่า ส่วนใหญ่จำนวน 26 แห่ง เข้าร่วมโครงการเนื่องจากต้องการลดค่าใช้จ่ายจากการใช้น้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค
สอง โรงเรียนบางแห่งไม่ได้ใช้ประโยชน์จากระบบประปาบาดาลหรือระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ
จากการตรวจสอบโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ปีงบประมาณ 2551-2557 จำนวน 200 แห่ง พบว่า มีโรงเรียนไม่ได้ใช้ประโยชน์จากระบบประปาบาดาล หรือระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ จำนวน 28 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 14 ของโรงเรียนที่ตรวจสอบทั้งหมด ดังนี้
1.โรงเรียนไม่ได้ใช้ประโยชน์ระบบประปาบาดาลและระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ จำนวน 13 แห่ง โดยพบปัญหาสูบน้ำบาดาลไม่ขึ้นจำนวน 5 แห่ง อุปกรณ์ชำรุดเสียหาย จำนวน 4 แห่ง ปัญหาการบริหารจัดการ จำนวน 2 แห่ง ปัญหาคุณภาพน้ำ จำนวน 1 แห่ง และปัญหาโรงเรียนถูกยุบรวมกับโรงเรียนอื่นจำนวน 1 แห่ง
2.โรงเรียนไม่ได้ใช้ประโยชน์ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำในการผลิตน้ำดื่ม จำนวน 15 แห่ง โดยพบปัญหาการบริหารจัดการและดูแลระบบปรับปรุงคุณภาพ จำนวน 9 แห่ง อุปกรณ์ชำรุดเสียหาย จำนวน 4 แห่ง และปัญหาคุณภาพน้ำ จำนวน 2 แห่ง
สาม โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้ขยายผลสู่การผลิตน้ำดื่มเพื่อสร้างรายได้ตามวัตถุประสงค์ของการออกแบบระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ
จากการตรวจสอบโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการปีงบประมาณ 2551-2556 ซึ่งได้รับโครงการรูปแบบที่ 1 จำนวน 165 แห่ง มีการผลิตน้ำดื่มจำนวน 141 แห่ง พบว่า โรงเรียนจำนวน 91 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 64.54 ของโรงเรียนที่ผลิตน้ำดื่ม ไม่ได้ขยายผลสู่การผลิตน้ำดื่มเพื่อสร้างรายได้ตามวัตถุประสงค์ของการออกแบบระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อบริโภคเฉพาะนักเรียนและบุคลากรภายในโรงเรียน จำนวน 63 แห่ง และผลิตเพื่อบริโภคสำหรับนักเรียนและบุคลากรภายในโรงเรียนรวมถึงให้บริการชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จำนวน 28 แห่ง ซึ่งรูปแบบการให้บริการน้ำดื่มส่วนใหญ่ใช้วิธีการบรรจุใส่ถังขนาด 20 ลิตร ไปไว้ที่เครื่องทำน้ำเย็น หรือบรรจุใส่ภาชนะที่มีฝาปิดนำไปไว้ในห้องเรียน หรือใช้วิธีการต่อท่อน้ำจากอาคารปรับปรุงคุณภาพน้ำไปยังจุดบริการน้ำดื่มของโรงเรียน
การที่โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้ผลิตน้ำดื่มจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ ทำให้อุปกรณ์และอาคารที่ออกแบบรับรองกิจกรรมดังกล่าวไม่ได้ใช้งานตามวัตถุประสงค์ และมีปริมาณการผลิตน้ำดื่มโดยเฉลี่ยต่อวันต่ำกว่าปริมาณการผลิตขั้นต่ำของระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ ที่ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน และบุคลากรต่ำกว่าเกณฑ์การออกแบบระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ
ทั้งหมดคือข้อมูลเบื้องต้นจากผลการตรวจสอบของ สตง. เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว กระทั่งทำหนังสือถึงอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ให้ทบทวนจำนวนโรงเรียนเป้าหมายที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะดำเนินการในอนาคต โดยร่วมกับ สพฐ. และหน่วยงานต้นสังกัดของโรงเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการดำเนินการสำรวจโรงเรียนในสังกัดยังคงประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อทราบถึงจำนวนและรายชื่อโรงเรียนที่ประสบปัญหา และใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการสำรวจ และคัดเลือเข้าร่วมโครงการตามความรุนแรงของสภาพปัญหาต่อไป
รวมถึงสั่งการให้ สทบ. ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาของ สพฐ. หรือหน่วยงานต้นสังกัดร่วมกันพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ โดยนำรายชื่อโรงเรียนมาเรียงลำดับตามสภาพความรุนแรงของปัญหาการขาดแคลนน้ำ นโยบายการยุบรวมโรงเรียนของ สพฐ. รวมถึงความพร้อมและศักยภาพในการบริหารจัดการของโรงเรียนที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำดังกล่าว ตลอดจนให้ความสำคัญกับแบบสำรวจของโครงการซึ่งมีข้อมูลสำคัญที่จำเป็นต้องใช้ในการพิจารณาด้วย
ล่าสุด นางอรัญญา เฟื่องสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรายืนยันว่า ทราบผลการตรวจสอบของ สตง. แล้ว และหลังเทศกาลสงกรานต์เตรียมประชุมหารือแก้ไขปัญหาดังกล่าวตามข้อทักท้วงของ สตง. พร้อมระบุว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจ และเตรียมประชุมร่วมกับ สตง. เพื่อแก้ไขอุปสรรคการทำโครงการดังกล่าวในครั้งต่อไปด้วย
อ่านประกอบ : รองอธิบดีฯรู้แล้วถูก สตง.สอบโครงการน้ำบาดาล ร.ร.-ถกแก้ปัญหาหลังสงกรานต์