เมื่อความคิดเรื่อง "ป่าในเมือง" ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ
พื้นที่สาธารณะคือ public welfare ที่เมืองจำเป็นต้องมี ในทางผังเมือง ต้องมีการสวนสาธารณะ เพราะฉะนั้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวไม่ได้บอกว่า เราจะไปหาหลังคาบ้านใครแบบปลูกต้นไม้บนนั้น เสร็จแล้วมานับว่า เป็นพื้นที่สีเขียว
หากพูดถึงพื้นที่สีเขียวในเมือง เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึง สวนสาธารณะเป็นอันดับแรก
ในรายงานแนวทางการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานครโดย สร้อยสุข พงษ์พูล นักผังเมืองชำนาญการ ได้ระบุนิยามพื้นที่สีเขียวในเมืองที่ทาง ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลับเกษตรศาสตร์ เสนอต่อสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า คือ พื้นที่โล่งว่างในเขตเทศบาล ซึ่งมีพืชพรรณเป็นองค์ประกอบหลัก ได้รับการจัดการตามหลักวิชาวนวัฒนาวิทยาและหลัการภูมิสถาปัตย์ เพื่อเสริมสร้างภูมิทัศน์ให้เอื้ออำนวยต่อการพักผ่อนหย่อนใจและเพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมของเมือง โดยแบ่งเป็น 1.)พื้นที่สีเขียวตามธรรมชาติ 2.) พื้นที่สีเขียวเพื่อบริการ 3.)พื้นที่สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม 4.)พื้นที่สีเขียวริมเส้นทางสัญจร 5.) พื้นที่สีเขียวเพื่อเศรษฐกิจชุมชน
ขณะที่ ผศ.ดร.จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ นักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมผังเมืองและการผังเมือง ผู้ดูแลและบริหารจัดการโครงการอุทยานจุฬาฯ 100 ปี ให้ความเห็นถึงพื้นที่สาธารณะไว้ว่า พื้นที่สาธารณะคือ public welfare ที่เมืองจำเป็นต้องมีจะมาบอกว่าตรงนี้เป็นพื้นที่พิเศษต้องเสียเงินไม่ได้ ในทางผังเมือง ต้องมีการสวนสาธารณะ เพราะฉะนั้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวไม่ได้บอกว่า เราจะไปหาหลังคาบ้านใครแบบปลูกต้นไม้บนนั้น เสร็จแล้วมานับว่า เป็นพื้นที่สีเขียว
“เรากำลังพูดเรื่องพื้นที่สีเขียวที่เป็นพื้นที่สาธารณะ นั่นหมายความว่า ประชาชน บุคคล ทั่วไปสามารถไปใช้งานได้ ยกเว้นเรากำลังพูดกันอีกเรื่อง เราไม่ได้พูดถึง พื้นที่สาธารณะ แต่เราพูดถึงอะไรก็ตามที่สามารถปลูกต้นไม้ได้ อันนั้นจะต้องไปคุยกับอีกประเด็น”
จากรายงานโครงการจัดหาและพัฒนาสวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น และภูมิทัศน์ของเมือง โดยสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ได้นิยามสวนสาธารณะว่า เป็นการใช้ที่ดินที่มีความสำคัญสำหรับชีวิตความเป็นอยู่เเบบเมือง สามารถตอบสนองความต้องการพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์
ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีสวนสาธารณะ 12 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ 3,700 ไร่ ตามมาตรฐาน 1 คน ควรมีพื้นที่สีเขียว 16 ตารางเมตร แต่กรุงเทพมหานครมีเพียง 6.1 ตารางเมตรโดยตั้งเป้าจะต้องมีพื้นที่สีเขียว 9 ตารางเมตรต่อคนภายใน 10 ปี ซึ่งจะเท่ากับมาตรฐานของ องค์การอนามัยโลก WHO
สวนสาธาณะทุกคนต้องเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม
ผศ.ดร.จิตติศักดิ์ บอกว่า สวนสาธารณะที่เรากำลังพูดวันนี้ เปรียบเป็นถนนปกติที่เรากำลังใช้งาน หรือทำให้มันเป็นพื้นที่พิเศษ เป็นทางด่วนที่ต้องเก็บค่าดูเเลเพิ่ม เพราะถ้าพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ที่เมืองต้องเป็น public welfare แล้วคุณไปเก็บเงินเพิ่มทำไม ทำไมรัฐไม่อุดหนุนในส่วนค่าใช้จ่ายเรื่องการบำรุงรักษา ในฐานะที่เป็นพื้นที่สาธารณะของเมือง
ความคิดสองอย่างนี้ต่างกัน ต้องคิดให้ได้ว่า ทางด่วนคุณสามารถเลือกจะไม่ขึ้นได้ พื้นที่สาธารณะของเมืองเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมี จะไม่มีให้เขาไม่ได้ เพียงแต่วันนี้เราบอกจะทำให้เป็นป่า พอจะเป็นป่า คุณบอกว่า มีค่าดูเเลเพิ่ม คำถามคือ ภาระตรงนี้ ตกไปอยู่ที่ใคร
“ผมไม่มีคำตอบ แต่สิ่งที่ชวนคิดคือ เราต้องตั้งต้นดีๆ ก่อนที่จะถามว่า ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นใครจะจ่าย”
พื้นที่สีเขียวจำเป็นกับทุกเมืองไหม
“เรากำลังพูดถึง เมืองกรุงเทพมหานคร หรือเรากำลังพูดถึงเมืองในสเกลอื่นๆ ทั่วไป” ผศ.ดร.จิตติศักดิ์ ตั้งเป็นคำถาม ก่อนอธิบายพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ มีความโหยหาอยากใช้งาน มีความจำเป็นเนื่องจากการกระจุกตัวของกิจกรรม และการใช้พื้นที่เมือง เนื่องจากเรื่องของกิจวัตรชีวิตประจำวัน แต่ถ้าเราพูดในแนวคิดนี้ กับเมืองที่อยู่ต่างจังหวัดซึ่งขับรถไปไม่ถึง 5 นาที เจอทุ่งนา เจอชายทะเล เจอป่าของจริง คำถามคือ แล้วป่าที่จะเอาไปใส่ในพื้นที่เหล่านั้นคืออะไร เราจะทำตรงนั้นเพื่ออะไร
"ผมพูดเลยไปถึงกรณีจะทำป่าในเมือง ในคอนเซ็ปต์สวนสาธารณะ เราต้องมานั่งปรับความคิดของผู้ใช้ใหม่"
ถ้าจะมีป่าในเมืองต้องปรับระบบคิด
ผศ.ดร.จิตติศักดิ์ มองว่า ประเด็นแรก หน้าร้อน ลองดูอย่างที่สวนรถไฟต้นไม้ยังเขียวอยู่ สนามหญ้าเขียว ในป่าจริงช่วงนี้ต้นไม้เขียว สนามหญ้าเขียวไหม ผมว่า ไม่ เพราะป่ามีวัฎจักร ป่าพูดคุยกับคนที่เข้าไปใช้งาน ป่ามีเรื่องของเวลา คำถามคือ เราจะเอาแบบนี้หรือเปล่า คนในเมืองพร้อมที่จะเข้าไปในสวนสาธารณะที่ใช้แนวคิดป่าในเมืองแล้วพบว่า ต้นไม้มีแต่กิ่ง สนามหญ้าแห้งเหลือแต่ดิน ไม่มีดอกไม้ แบบนี้เรารับได้ไหม แต่เมื่อถึงฤดูฝน เราจะเห็นชีวิตที่เริ่มแตกออกมา เริ่มเห็นใบไม้ที่ฟื้นขึ้นมา เห็นหญ้าที่ค่อยๆ งอก ป่าบอกเวลากับเรา เป็นการให้พื้นที่เรียนรู้ ในแบบที่มันควรจะเป็นจริงๆ กับประชาชน กับเด็กๆ เล็กๆ ที่จะโตมา
"เราต้องปรับจูนกันว่า ประชาชนเข้าไปใช้สวนสาธารณะ แล้วพบว่า มีแต่สีน้ำตาล เช่นเดียวกับช่องว่างหรือเงื่อนไขทางกฎหมายที่เข้ามาผูกติด เช่นพูดว่าต้นไม้ ที่เราจะเอามาปลูก ในป่าหรือในสวนที่เราใช้คอนเซ็ปต์ว่า ป่า อาจต้องเป็นต้นไม้ที่อยู่ในเมืองไทย ไม่มีโรค ไม่มีแมลงที่ต้องมาสู้รบกับมัน ไม่ใช่เอาต้นปาล์มจากเมืองนอก เข้ามาปลูกแล้วต้องมานั่งฉีดยา ดูเเลมัน"
นักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมผังเมืองฯ ตั้งคำถามถึงเงื่อนไขข้อจำกัดในการเอาต้นสัก ต้นพยุง ต้นไม้ในป่าเข้ามาลงในพื้นที่กลางเมือง เปิดอิสระขนาดไหน เวลาต้นไม้พวกนี้โตขึ้นมา ล้มขึ้นมา แล้วต้องการตัดไปเพื่อเอาไปทิ้ง จะติดกฎหมายที่ต้องแจ้งเรื่องการขนย้ายกับกรมป่าไม้หรือไม่
ถึงตรงนี้ความคิดเรื่องป่าในเมืองไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไป
ผศ.ดร.จิตติศักดิ์ ชี้ว่า สิ่งที่เรากำลังคุยไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่เป็นมิติอันหนึ่งที่เราต้องพูด โดยเฉพาะหากเกิดเรามองว่า มิติของการใช้พื้นที่สีเขียวในเมืองต่อไปในอนาคตต้องเปลี่ยนแล้ว แน่นอน กทม.บอกว่า มีพื้นที่สีเขียวมากมาย มีค่าดูเเลรักษามากมาย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เช่นเดียวกัน อุทยานร้อยปีที่เราทำ ณ วันแรก มีค่าดูเเลปีละ 8 ล้านบาท แนวคิดของเรา มีต้นไม้ที่เป็นชั้นเรือนที่หลากหลาย และเราไม่ได้เอาต้นไม้แบบล้อมมาปลูก แต่ปลูกจากเมล็ด ดังนั้นถึงจุดหนึ่ง เมื่อเขาโต แข็งแกร่ง จะอยู่ด้วยตัวเขาเอง นิเวศจะสมบูรณ์ ใบไม้ที่ร่วงลงมาก็จะเป็นปุ๋ย
"เราไม่กล้าเรียกว่าป่า แต่ขอเรียกว่า สวนที่ใช้คอนเซ็ปต์ของป่า เมื่อระบบต่างๆ สมบูรณ์แบบ เดี๋ยวค่าใช้จ่ายในการดูเเล จะลดลงไปเอง จากปีละ 8 ล้านบาท อาจจะเหลือแค่ค่าจ้างแม่บ้าน รปภ. ที่ดูเเลเท่านั้นเอง"
ผศ.ดร.จิตติศักดิ์ มองว่า แนวคิดที่เราอยากให้เกิดขึ้นจริงๆ แน่นอนว่าเงื่อนไขข้อจำกัดมีเยอะมาก ในพื้นที่เดิม แล้วบริบทของเมือง ไม่ง่ายที่จะสร้างระบบนิเวศที่เอื้อกับการที่ต้นไม้จะเจริญเติบโตได้อย่างดี ต้องยอมรับว่ามีค่าใช้จ่ายอยู่ ฉะนั้นในบริบทนี้ เราต้องปรับความเข้าใจกันก่อนว่า เราคาดหวังอะไรกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต กับสิ่งที่เรียกว่า "ป่าในเมือง" และแน่นอนนวัตกรรมวันนี้ จะเป็นนวัตกรรมก้าวใหม่ในการมองพื้นที่สีเขียวในเมือง
"การเป็นพื้นที่ป่าในเมือง ในแง่ของกิจกรรม เราพบว่าในหลายๆ สวนของ กทม. กติกาเยอะมาก สนามหญ้าบางที บางสวนเข้าไปไม่ได้" ผศ.ดร.จิตติศักดิ์ ระบุ แลัยกตัวอย่างเช่น สวนสิริกิติ์ ผมเอาไม้แบดมินตันไปกับลูกพอเอาเท้าเข้าไปในสนามหญ้า ยามเป่าไล่ทันที แล้วบอกว่า วิ่งได้อย่างเดียว ซึ่งกติกาแบบนี้ ประหลาดมาก
ฉะนั้น พื้นที่สีเขียว ซึ่งถ้าเรากำลังพูดถึงป่า ซึ่งมีกติกาแวดล้อมของมันเอง เราคงไม่ลุยไปในพงหญ้าเพื่อไปใช้พื้นที่ แต่ขณะเดียวใต้พื้นที่ต้นไม้ใหญ่ก็จะเปิดโล่งให้เราได้เข้าไปใช้ นั่งพักพิง อันนี้คือการสื่อสารเรียนรู้ ไม่ใช่การมาฟังในห้องเรียน แต่เป็นการเรียนรู้โดยการเอาชีวิตเอาไปใช้ ผ่านตัว ระบบนิเวศที่เรากำลังสร้างขึ้นในสวนแห่งนั้น
ท้ายที่สุดกลับมาที่คำถามแรกที่ว่า วันนี้เรานิยามพื้นที่สีเขียวในเมืองใว้อย่างไร แล้วคอนเซ็ปต์ ป่าในเมืองจะเป็นจริงได้แค่ไหน ตามบริบทการพัฒนาเมือง