'กกอ.' เปิด10รายชื่อมหา'ลัย เอกชนไม่ได้มาตรฐาน
กกอ.เปิดรายชื่อ 10 มหาวิทยาลัยเอกชน พร้อมหลักสูตรไม่ได้มาตรฐาน จี้1 แห่งที่ไม่ร่วมมือส่งข้อมูลด่วน ขู่มหา’ลัยเอกชนไหนจัดการไม่ดี สกอ.แจ้งความทันที เผยม.กรุงเทพธนบุรี พบปัญหามากที่สุด
เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2560 ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)ได้มีการประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) โดยมี รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เป็นประธาน จากนั้น ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) เปิดเผยผลการประชุม กกอ. ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเอกชนที่จัดการศึกษาไม่เป็นไปตามมาตรฐานอุดมศึกษา และมติให้เปิดเผยรายชื่อ พร้อมหลักสูตรที่มีปัญหา เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาและประชาชนไดรับทราบ หากเลือกเรียนแล้วอาจมีปัญหาเรื่องของคุณภาพ โดยมีมหาวิทยาลัยที่มีปัญหา จำนวน 10 แห่ง ตรวจสอบแล้ว 9 แห่ง จำนวน 98 หลักสูตร แบ่งเป็นหลักสูตรในที่ตั้ง 20 หลักสูตรและ นอกที่ตั้ง 78 หลักสูตร ดังนี้
1.มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี 6 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์) ,หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม, หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย (หลักสูตร 5 ปี) หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาและคอมพิวเตอร์ (หลักสูตร 5 ปี)) ,หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและ หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา
ดร.สุภัทร กล่าวต่อไปว่า 2.มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์, หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา 3.มหาวิทยาลัยปทุมธานี 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฎศิลป์และการแสดง , หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะการแสดงและนาฎศิลป์ 4.มหาวิทยาลัยพิษณุโลก 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร, หลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต , หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา 5.มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จ.ปทุมธานี 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต, หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต
6.วิทยาลัยทองสุข 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต, หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน, หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา 7.วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม 1 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา 8.สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 1 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์
นอกจากนี้มีหลักสูตรนอกที่ตั้ง 5 มหาวิทยาลัย 78 หลักสูตร ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยปทุมธานี 15 ศูนย์ 26 หลักสูตร 2.มหาวิทยาลัยพิษณุโลก 1 ศูนย์ 2 หลักสูตร 3.วิทยาลัยทองสุข 7 ศูนย์ 11 หลักสูตร 4.สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา 5 ศูนย์ 22 หลักสูตร และ 5.สถาบันรัชต์ภาคย์ 11 ศูนย์ 17 หลักสูตร สำหรับมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาอีก 1 แห่งคือ มหาวิทยาลัยราชธานี ซึ่งไม่ได้ส่งข้อมูลให้ กกอ. ที่ประชุมจึงมีมติให้ สกอ.ทำหนังสือแจ้งมหาวิทยาดังกล่าว ให้ส่งเอกสารหลักสูตรให้กับ สกอ.ตรวจสอบ ซึ่งเบื้องต้น ทางมหาวิทยาลัยก็ได้ติดต่อกลับมาว่าพร้อมให้ความร่วมมือ
ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวได้มีการตรวจสอบช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2559 ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยบางแห่งได้แจ้งว่ามีการปิดบางหลักสูตรไปแล้ว แต่เท่าที่มีการตรวจสอบเชิงลึกพบว่าบางหลักสูตรไม่ได้มีการปิดจริง กกอ.จึงมีมติให้ สกอ. ไปตรวจสอบอีกครั้งว่าหลักสูตรที่เปิดนั้นยังมีเด็กที่ยังเรียนอยู่หรือไม่ และถ้ามีอยู่มหาวิทยาลัยจะต้องจัดการเรียนให้สอนให้เป็นไปตามมาตรฐาน แต่ถ้าดำเนินการไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้สกอ. แจ้งความดำเนินคดี เนื่องจากฝ่าฝืนคำสั่ง กกอ. รวมทั้ง สกอ.จะต้องแจ้งมติที่ประชุม พร้อมการดำเนินการกับมหาวิทยาลัยทั้ง 10 แห่ง ให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศีกษาธิการ รับทราบและมีคำสั่งให้จัดการกับมหาวิทยาลัยต่อไป” เลขาธิการ กกอ. กล่าว