ใครๆ ก็ไปหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร
"หากเราสามารถทำให้เด็กแรกเกิดถึง 10 ขวบรักการอ่าน หรือหลงรักการอ่านได้ เด็กจะรักการอ่านไปตลอดชีวิต และจะสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ถือเป็นฐานสำคัญ"
ฺBook Nomads จินตนาการเร่ร่อนในโลกหนังสือ นิทรรศการจัดแสดงอยู่มุมๆ หนึ่งภายในหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร ภาพถ่ายขาว-ดำ ซึ่งจัดเรียงลำดับกำลังบอกเล่าเรื่องราวโดยตัวของมันเองย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่มีการปรับปรุงอาคารแห่งนี้
"นี่คือสภาพอาคารก่อนมีการบูรณะ ก่อนมีการออกแบบตกแต่งภายใน จินตนาการ คือ เราให้คนงานก่อสร้างนางแบบนายแบบมารวมกัน เพื่อสื่อความหมายคำว่า ห้องสมุด หนังสือ และการอ่าน มีความสำคัญต่อจินตนาการของมนุษย์อย่างไรบ้าง"
จิระนันท์ พิตรปรีชา นักเขียน และกวีซีไรต์ ผู้เขียนบทกวี และคัดคำบรรยายใต้ภาพด้วยลายมือตัวเอง เล่าถึงที่มาที่ไป ภาพประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าและไม่สามารถถ่ายใหม่ได้อีกแล้ว ระหว่างนำพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารกทม.เยี่ยมชมการทดสอบระบบการให้บริการหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร บริเวณสี่แยกคอกวัว
"ภาพถ่ายฝีมือช่างภาพชื่อดัง "ชำนิ ทิพย์มณี" กำลังเกณฑ์ "สายันต์" กรรมกรก่อสร้าง ซึ่งมีลายสักบนร่างกายที่สวยมาก ให้มาเป็นนายแบบ นี่คือโค้ดคำพูดของนักเขียนชื่อดังของโลก เกี่ยวกับการอ่าน จินตนาการและโลกหนังสือ นี่คือบทกวีของดิฉันเอง เรียงลำดับต่อสัมผัสกันทุกบท" จิระนันท์ อธิบายอย่างคล่องแคล่ว
ภาพแรก สื่อถึงความโล่ง ร้าง ไม่มีอะไรเลย เปรียบเหมือนโลกหนังสือ
"ณ โรงร้างว่างเปล่า เขลาไร้ค่า กระแสลมห่มเวลามาคลุมคลี่
หว่านโปรย โรยคำร่ำวลี สร้างพื้นที่อารยธรรมแสงรำไร"
จากนั้นภาพถัดๆ ไปจึงค่อยๆ มีกวี มีนักเขียน มีหนังสือ มีกองหนังสือ จิระนันท์ พิตรปรีชา บอกว่า ภาพที่เธอชอบที่สุด คือภาพที่มีกองหนังสือกองอยู่บนพื้น
นี่คือแสงธรรมชาติ ....
พร้อมกันนี้ เธอขออนุญาต อ่านบทกวีผ่านเครื่องขยายเสียงให้แขกผู้ร่วมงานฟัง
ผองเรา-เผ่าชน ผู้ค้นพบ สูงกว่าหลุมศพ มีสวรรค์
เราคือคนกล้า ผู้ฝ่าฟัน สร้างสรรค์ด้วยสมองกับสมองมือ
จุดไฟฝันบรรเจิด เปิดโลกเล่ม เติมเต็มเข้มข้น คน-หนังสือ
ประวัติศาสตร์พลิกหน้า ด้วยฝ่ามือ รานรื้อกำแพงกั้นภูมิปัญญา
กรุงเทพมหานคร ได้รับคัดเลือกจากยูเนสโก ให้เป็นเมืองหนังสือโลกประจำปี 2556 นอกจากงานอีเว้นต่างๆ แล้ว จิระนันท์ พิตรปรีชา มองว่า โครงการจัดตั้งหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร (Bangkok City Library) เป็นภาระกิจสืบเนื่องจากเมืองหนังสือโลก นี่แหละ คือสิ่งที่เป็นชิ้นเป็นอันที่สุด เหมาะสำหรับวิถีของคนรุ่นใหม่ มี workspace มีที่นั่งเล่น และบรรยากาศแบบสบายๆ ไม่เหมือนห้องสมุดยุคเก่า
"ระบบการสืบค้น ทดลองแล้วดีมาก หอสมุดเมืองฯ มีดีตรงที่ตั้ง คนเดินผ่านไปผ่านมาในชีวิตไม่เคยเข้าห้องสมุดโดยสมัครใจเลย เชื่อว่า บรรยากาศการตกแต่งภายในดึงดูดให้คนอยากลองเข้ามาใช้บริการ ขั้นต่อไปก็ต้องระวังคนเข้ามานอนในนี้ ซึ่งก็ต้องเกิดอยู่แล้ว"
สำหรับมุมมองคนรุ่นใหม่กับการอ่านหนังสือ กวีซีไรต์ บอกว่า แม้คนไทยอ่านหนังสือน้อย แต่สื่อที่เขารับรู้ก็มีหลายช่องทาง ดังนั้นคนผลิตสื่อ นักเขียนก็ต้องปรับตัวด้วย ยกตัวอย่างเช่น เขียนให้สั้นลง ได้เนื้อมากขึ้น อาศัยช่องทางสื่ออื่น ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสืออย่างเดียว
พร้อมกันนี้ เธอยังเผยเคล็ดลับการเลี้ยงลูกให้รักการอ่าน ต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีเกี่ยวกับการอ่าน แต่อย่าไปเคี่ยวเข็ญบังคับ ควรให้อิสระภาพ ให้โลกของการอ่าน เป็นโลกแห่งเสรีภาพ
"นี่เอาลูกไปปล่อยในร้านหนังสือ อยากได้การ์ตูนกี่เล่มซื้อให้หมดเลย"
และในฐานะที่ทำพิพิธภัณฑ์มากว่า 10 ปี จิระนันท์ พิตรปรีชา เห็นว่า ห้องสมุดยุคนี้ต้องสร้างบรรยากาศ ต้องง่าย ข้างในต้องมีขุมทรัพย์ รวมถึงการนำเสนอ มีกิจกรรมเป็นระยะ เราจะเห็นว่า พิพิธภัณฑ์เกือบทุกแห่งไม่ตายเพราะมีกิจกรรม ห้องสมุดก็เช่นกัน รวมไปถึงเราต้องให้การศึกษาคนเข้ามาใช้บริการห้องสมุด แทนให้เข้ามานั่งชิวๆ อาจมีวิธีจัดการกับพวกเขา ซึ่งต้องหาวิธี...
หนึ่งอ่านล้านตื่น หมื่นมิติ พราวผลิจินตนาการบานไสว
มุมเหงาเราบรรเลงเพลงกล่อมใจ เริ่มบทใหม่ใส่สุนทรีเติมชีวัน
ส่วนมุมหนังสือเด็ก "สุดใจ พรหมเกิด" หนึ่งในกรรมการยุทธศาสตร์กรุงเทพเมืองหนังสือโลก และผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า หอสมุดเมืองฯ จะมีหนังสือหลากหลายขึ้น เช่น หนังสือสารคดี หนังสือที่เป็นแรงบันดาลใจให้เห็นการทำงานของบุคคลสำคัญ ซึ่งมุมหนังสือเด็กจะมีเทคนิกการจัดหนังสือให้น่าอ่าน คือ เราต้องโชว์ปกหนังสือ รวมถึงการอ่านหนังสือให้เด็กฟัง
"เราจะมีกิจกรรมชวนอ่านให้ผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้เด็กฟัง เราจะเชียร์ให้พ่อแม่ผู้ปกครองนำเด็กมานั่งตัก พอกอดลูกสิ่งที่ได้เกินกว่าการอ่านก็คือสัมพันธภาพอันอบอุ่น เด็กอายุ 1-2 ขวบ เราไม่เชียร์ให้อ่านผ่านอีบุค เอาไว้เป็นตัวสำรองเท่านั้น"
เธอบอกว่า เมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกมีหอสมุดเมือง ที่ผ่านมากทม.ไม่มี เราจึงเสนอโครงการจัดตั้งหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร ขาดพันธกิจสุดท้ายที่กทม.ยังทำไม่ลุล่วงตามพันธสัญญาที่ให้ไว้กับยูเนสโก ก็คือพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทยที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง นี่คือหนึ่งในกิจกรรมที่สามารถปลุกกระแสเรื่องส่งเสริมการอ่านได้
"หากเราสามารถทำให้เด็กแรกเกิดถึง 10 ขวบรักการอ่าน หรือหลงรักการอ่านได้ เด็กจะรักการอ่านไปตลอดชีวิต และจะสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ถือเป็นฐานสำคัญ"
ส่วนกิจกรรมต่อยอดที่วางแผนไว้ "สุดใจ พรหมเกิด" บอกว่า จะเชิญชวนสถานทูตฯ ของแต่ละประเทศมามีมุมหนังสือเด็กของตัวเอง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้หนังสือทั่วโลกที่เป็นขวัญใจของเด็กๆ มีอะไรบ้าง ซึ่งจะดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร กทม. ได้เช่าอาคารของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกคอกวัว ความสูง 3 ชั้น พื้นที่ใช้สอยรวม 4,880 ตารางเมตร โดยสำนักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยว ได้ว่าจ้าง บริษัท พิพิธพล จำกัด ออกแบบด้วยวงเงินกว่า 1 ล้านบาท และจ้าง บจ.ไร้ท์แมนปรับปรุงหอสมุดเมืองฯ วงเงินกว่า 296 ล้านบาท ภายใต้แนวคิดการอนุรักษ์และเคารพในคุณค่าของสถาปัตยกรรมเดิม คงกลิ่นอายอารยธรรมตะวันตกผสมการตกแต่งแบบศิลปะไทย เพื่อคงรูปแบบเดิมไว้มากที่สุด ลักษณะอาคารได้รับการออกแบบให้โอ่โถง โปร่งสบาย ภายใต้แนวคิด " แสงแห่งปัญญา" (Wisdom of Life)
ภายในอาคารได้จัดสรรพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 4 ชั้น รวมชั้นลอย ดังนี้
ชั้นที่ 1 "ตามรอยทางของพระราชา ตามรอยแสงแห่งปัญญา" (Follow the Light of Wisdom of the King Bhumibol Adulyadej) อัญเชิญพระบรมราโชวาท และ พระราชดํารัส ที่เกี่ยวข้องกับ การอ่าน และการเรียนรู้ มาจัดแสดง เพื่อกระตุ้นเตือนให้คนไทย รู้จักเรียนรู้อย่างชาญฉลาด ผ่านกระบวนการต่างๆ โดยเฉพาะ การอ่านหนังสือ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนที่จะผลัดเปลี่ยน หมุนเวียนองค์ความรู้ ครอบคลุมทั้งเรื่อง ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ และสังคม ห้องนิตยสารและหนังสือพิมพ์ ส่วนบริการข้อมูลภายในห้องสมุด และข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยว ห้องฉายภาพยนตร์ และห้องสมุดสำหรับผู้พิการ ประกอบด้วย หนังสือเสียง หนังสืออักษรเบรลล์ และสื่อโสตทัศน์ต่างๆ
ชั้น M "เมื่อเด็กน้อยจะขอตามรอย "แสงแห่งปัญญา" (Play, Learn and Grow together with the Light of Wisdom) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาของเด็ก และเยาวชน ได้ตามรอยและเรียนรู้ ความพากเพียร และการใช้ปัญญาอย่างถูกต้อง หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร ได้รวบรวมหนังสือ วรรณกรรม สำหรับเด็ก และเยาวชน รวมถึงกิจกรรมการเรียนรู้ สำหรับครอบครัวไว้ในบริเวณชั้นนี้
ชั้น 2 "โลกแซ่ซ้อง พระบารมีเจริญไมตรีแห่งมหานคร" (Welcome to the Land of the Great King) รวบรวมเรื่องราวของเมืองหลวงนานาประเทศ และหนังสือจากสถานทูตในประเทศไทย หนังสือจากประเทศเมืองพี่เมืองน้องของกรุงเทพมหานคร ข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียน พร้อมหนังสือสื่อการเรียนรู้ ในด้านต่างๆ ทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ รวมถึงวรรณกรรมที่ได้รับรางวัล ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้ง มีห้องค้นคว้า ในห้องประชุม อเนกประสงค์ ให้ใช้บริการ รวมทั้งนิทรรศการหมุนเวียน เกี่ยวกับการอ่าน
ชั้น 3 "แหล่งเรียนรู้ศาสตร์พระราชา" เพื่อให้ประชาชนเรียนรู้แนวพระราชดำริ หลักการทรงงาน ตลอดจนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ ของพระบาท สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยรวบรวมองค์ความรู้ในด้านต่างๆ และโครงการพระราชดำริ ของพระองค์ท่าน ตลอดจนรวบรวมเอกสาร สื่อสิ่งพิมพ์ โสตทัศนวัสดุต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพมหานคร ในด้านต่างๆ อาทิ ด้านประวัติศาสตร์ ด้านสถาปัตยกรรม ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมืองการปกครอง ด้านศาสนา ด้านการคมนาคม ผังเมือง ข้อมูลทั้ง 50 เขต รวมไปถึงโครงการต่างๆ และหนังสือ ที่หน่วยงานกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ผลิตขึ้น
ปัจจุบันมีหนังสือที่รวบรวมไว้ภายในหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานครจำนวน 41,000 เล่ม ในเบื้องต้น หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร กำหนดเปิดให้บริการ วันอังคารถึง วันเสาร์ เวลา 8.00 น. ถึง 21.00 น. วันอาทิตย์ เวลา 9.00 น. ถึง 20.00 น. ปิดทำการวันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
มุมนิทรรศการหมุนเวียน
,
เลือกมุมอ่าน สร้างแรงบันดาลใจ