แอมแนสตี้เผยจีนครองแชมป์ประหารชีวิตมากสุดในโลก
จีนครองแชมป์ประหารชีวิตมากสุดในโลก ส่วนไทยยังเป็นประเทศส่วนน้อยที่ใช้โทษประหารชีวิตอยู่
เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2560 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตของปี 2559 พบว่าการประหารชีวิตส่วนใหญ่ในโลกเกิดขึ้นในประเทศจีน อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย อิรักและปากีสถาน ตามลำดับ ส่วนไทยยังคงเป็นหนึ่งใน 57 ประเทศที่ยังใช้โทษประหารชีวิต ในขณะที่อีก 141 ประเทศทั่วโลกยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว
ในรายงาน “สถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตในปี 2559” (Death Sentences and Executions in 2016) ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่เผยแพร่ในวันนี้ ยืนยันว่าแนวโน้มทั่วโลกมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยในปี 2559 มีประชาชนอย่างน้อย 1,032 คนที่ถูกประหารชีวิตใน 23 ประเทศ หรือหนึ่งใน 10 ของประเทศทั่วโลกเท่านั้นที่ยังทำการประหารชีวิต
จีนยังคงเป็นประเทศที่ประหารชีวิตประชาชนมากที่สุดในโลก แต่เราไม่ทราบจำนวนการใช้โทษประหารชีวิตที่แท้จริงในประเทศได้ เนื่องจากทางการจีนเก็บข้อมูลเหล่านี้เป็นความลับของชาติ ตัวเลขการประหารชีวิตระดับโลกอย่างน้อย 1,032 กรณีจึงไม่ครอบคลุมการประหารชีวิตที่คาดว่าเกิดขึ้นหลายพันกรณีในจีน
หากไม่นับการประหารชีวิตในจีน 87% ของการประหารชีวิตทั้งหมดในโลกเกิดขึ้นในสี่ประเทศ ได้แก่ อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย อิรัก และปากีสถาน
ปัจจุบันมี 141 ประเทศหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว
สำหรับประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศนั้น กัมพูชาและฟิลิปปินส์ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภทแล้ว ส่วนลาว พม่า และบรูไนได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ (หมายถึงการที่ยังคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิต แต่ได้ระงับการประหารชีวิตจริงเป็นระยะเวลา 10 ปีติดต่อกัน) ส่วนประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนามยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่
ข้อมูลจากรายงานล่าสุดระบุว่า เวียดนามติดอันดับเป็นหนึ่งในประเทศที่ประหารชีวิตประชาชนมากสุดในโลก โดยมีนักโทษที่ถูกประหารชีวิต 429 คนระหว่างวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ถึง 30 มิถุนายน 2559 เฉพาะจีนและอิหร่านเท่านั้นที่ประหารชีวิตประชาชนมากกว่าเวียดนามในช่วงเวลาดังกล่าว
ในส่วนของประเทศไทย จากรายงานพบว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสัดส่วนจำนวนการกำหนดโทษประหารชีวิตเพิ่มสูงขึ้น เป็นผลมาจากการที่ทางการไทยได้ให้ข้อมูลอย่างละเอียดมากขึ้นกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล โดยในปี 2559 พบว่ามีการกำหนดโทษประหารชีวิตครั้งใหม่ 216 กรณี นับเป็นการให้ข้อมูลแบบนี้ครั้งแรกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า สำหรับประเทศไทย มีการประหารชีวิตครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2552 ขณะนี้ไทยได้ก้าวเข้าสู่ปีที่แปดที่ไม่มีการประหารชีวิตจริง ซึ่งหากไม่มีการประหารชีวิต 10 ปีติดต่อกัน ทางองค์การสหประชาชาติจะถือว่าไทยเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติทันที ซึ่งจะถือเป็นพัฒนาการที่ดีด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยอีกก้าวหนึ่ง
“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ดำเนินการตามเจตน์จำนงที่ระบุไว้ในแผนสิทธิมนุษยชน โดยประกาศพักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวอย่างเป็นทางการ และเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อลดจำนวนความผิดทางอาญาที่มีบทลงโทษด้วยการประหารชีวิต รวมทั้งให้ลงนามและให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Second Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights) ที่มุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต” นางปิยนุช กล่าว
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตตามที่ประกาศไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และถือเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งมีงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใด ๆ กับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอาชญากรรมที่เกิดขึ้น