มธ. ผนึก 4 หน่วยงาน ผุดแอปฯ “THAI Alert” ดัน “Digital Portfolio” ของคนดีใช้ศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จับมือ 4 หน่วยงาน เปิดตัว “THAI Alert” แอปพลิเคชันแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายผ่านสมาร์ทโฟน ตลอด 24 ชม. พร้อมเตรียมเปิด “ศูนย์เฝ้าระวังภัยทางสังคม” ศูนย์กลางประสานงานออนไลน์ 24 ชม. เพื่อรองรับภัยสังคมในอนาคต
วันที่ 10 เม.ย. 2560 – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดยวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พร้อมด้วย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ร่วมเปิดตัว “THAI Alert” แอปพลิเคชันกระตุ้นจิตสำนึกอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายผ่านสมาร์ทโฟน ตลอด 24 ชม. เพื่อเฝ้าระวังภัยทางสังคมที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา โดยแอปพลิเคชันดังกล่าวจะทำหน้าที่ส่งข้อมูลที่ได้รับการแจ้งจากประชาชนไปยังหน่วยงานผู้รับผิดชอบ และให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ตลอดจนแอปพลิเคชันนี้ยังสามารถบันทึกข้อมูลกิจกรรมจิตอาสาภายไว้ในระบบ และรายงานไปยังหน่วยงานต้นสังกัดทางการศึกษา อันจะส่งผลให้นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการสามารถพิมพ์ข้อมูลมาใช้ประกอบเป็นผลงานในการทำงานจิตอาสาได้
นอกจากนี้ มธ.ยังเตรียมเปิดศูนย์เฝ้าระวังภัยทางสังคม วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางรับเรื่องเหตุด่วน-เหตุร้าย 24 ชั่วโมง และทำหน้าที่ประสานงานกับองค์กรภาคี ทั้งนี้ “Thai Alert” เปิดให้ดาวน์โหลดในระบบ Android ได้แล้ววันนี้ ส่วนในระบบ iOS สามารถดาวน์โหลดได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มธ. กล่าวว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่เติบโตสวนทางกับจิตสำนึกด้านสังคมไทยในปัจจุบัน ทำให้เราพบเห็นข่าวภัยทางสังคมมากขึ้น มธ.โดยวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในฐานะหน่วยงานซึ่งมีบทบาทในการส่งเสริมงานอาสาสมัครของประเทศมาตลอดระยะเวลากว่า 47 ปี ได้ตระหนักถึงปัญหาและเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการเฝ้าระวังภัยทางสังคม จึงได้เปิดตัว “THAI Alert” แอปพลิเคชันกระตุ้นจิตสำนึกอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายผ่านสมาร์ทโฟนได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยได้ร่วมกับศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ในการขยายผลการใช้งานของแอปพลิเคชันภายใต้โครงการ “การพัฒนาเครือข่ายจิตอาสาโดยใช้โปรแกรมประยุกต์ในโทรศัพท์มือถือ” เพื่อให้ข้อมูลที่ได้รับการแจ้งจากประชาชนถูกส่งไปยังหน่วยงานผู้รับผิดชอบ และให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.วรวุฒิ โรมรัตนพันธ์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มธ.ในฐานะหัวหน้าทีมพัฒนาแอปพลิเคชัน “THAI Alert” กล่าวเสริมว่า “THAI Alert” เป็นแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วมในการทำความดีและประกอบกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยเมื่อพบเหตุการณ์ผิดปกติทางสังคมเกิดขึ้น ก็สามารถแจ้งเหตุผ่านแอปพลิเคชัน ด้วยการเลือกประเภทการเกิดเหตุ ใส่ข้อความรายละเอียดเหตุการณ์ และส่งรูปภาพประกอบเหตุการณ์ เพียง 3 ขั้นตอนสั้นๆ ก็ถือเป็นการช่วยเฝ้าระวังภัยสังคมง่ายๆ ผ่านการใช้เพียงปลายนิ้วสัมผัสอีกทั้ง “THAI Alert” ยังมีบทบาทกระตุ้นจิตสำนึกอาสาสมัครเพื่อประกอบกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) โดยนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการสามารถนำรายงานการเข้าร่วมทำกิจกรรมจิตอาสา กิจกรรมความดี และการบำเพ็ญประโยชน์ มาใช้ประกอบเป็นผลงานในการทำงานจิตอาสาได้ อย่างไรก็ดี “Thai Alert” เปิดให้ดาวน์โหลดในระบบAndroid ได้แล้ววันนี้ ส่วนในระบบ iOS สามารถดาวน์โหลดได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ และนำมาสู่การต่อยอดการบริการวิชาการแก่สังคม ทางวิทยาลัยฯ จึงเตรียมจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังภัยทางสังคม วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ขึ้น โดยมีบทบาท อาทิ การเป็นศูนย์กลางประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคี อันได้แก่ ศูนย์ช่วยเหลือทางสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และเครือข่ายความร่วมมือในโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ติดตามเหตุการณ์ภัยทางสังคมตลอด 24 ชั่วโมง บนโปรแกรมประยุกต์ในโทรศัพท์มือถือ เก็บข้อมูลการดำเนินกิจกรรมโครงการ ตลอดจนเป็นตัวเชื่อมในการบริหารจัดการข้อมูล วิเคราะห์ ประเมินผล และส่งมอบข้อมูลตามคำร้องขอขององค์กรภาคี