ถกร่าง พ.ร.บ. คุมสื่อฯ 11 เม.ย.นี้ ย้ำนักข่าวต้องมีใบอนุญาต
กมธ.สื่อฯ เผย เตรียมประชุมสรุปร่าง พ.ร.บ.คุมสื่อ 11 เม.ย.นี้ พร้อมทบทวนรายละเอียด ถกตัวแทนสื่อภูมิภาคสภาวิชาชีพฯ ย้ำผู้สื่อข่าวต้องมีใบอนุญาต
เมื่อวันที่ 10 เม.ย.60 พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า ในวันที่ 11 เม.ย.นี้ ทาง กมธ.สื่อสารมวลชน จะประชุมเพื่อสรุปร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ..พร้อมกับทบทวนรายละเอียดในบางประเด็น อาทิ สัดส่วนของคณะทำงานเพื่อเตรียมการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่จะให้มาจากตัวแทนองค์กรสื่อมวลชนประจำภูมิภาค 2 ตำแหน่ง ที่มีประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับความเป็นตัวแทนอย่างแท้จริงว่า ตำแหน่งหรือองค์กรสื่อมวลชนภูมิภาคใดที่เหมาะสม เนื่องจากประเทศไทยมีสื่อมวลชนหลายภูมิภาค ทั้งนี้มี 2 แนวทางพิจารณา คือ ให้มีอยู่ แต่ต้องพิจารณาองค์กรและตัวแทนที่เหมาะสม และไม่ให้มีอยู่เพราะมองว่าตัวแทนที่มาจากสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์, สมาพันธ์วิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ล้วนมีสื่อมวลชนภูมิภาคประจำอยู่
พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นที่ กมธ.วิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) ท้วงติงให้ปรับแก้ไขประเด็นต่างๆ มีข้อสรุป คือ 1. ให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เพื่อเป็นองค์กรกลางของสื่อมวลชนที่ตรวจสอบการทำงานและประเด็นจริยธรรม 2. กรรมการของสภาวิชาชีพฯ ได้ปรับรายละเอียดให้มีตัวแทนจากภาครัฐ จำนวน 2 คน คือ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม จากเดิมที่มีตัวแทนภาครัฐ 4 คน ขณะที่ตำแหน่งอื่นๆ ประกอบด้วย ผู้แทนสมาชิกสภาวิชาชีพ จำนวน 7 คน ผู้แทนคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกรรมการอื่นอีกจำนวน 4 คน และ 3. การออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ยืนยันว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้สื่อข่าวต้องมีใบอนุญาต แต่รายละเอียดรวมถึงหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตนั้น จะให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนกำหนด
พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวอีกว่า ขณะที่บทเฉพาะกาลเรื่องนี้เขียนให้ สื่อมวลชนทุกคนต้องมีใบอนุญาต แต่หากใครไม่มีแล้วมาทำหน้าที่สื่อมวลชน อาจมีโทษได้ คือ จำคุก 2 ปี ปรับ 6 หมื่นบาท ทั้งนี้ในช่วง 2 ปีแรกที่อยู่ระหว่างจัดตั้งสภาวิชาชีพฯ ได้ให้ความคุ้มครองสื่อมวลชนในปัจจุบันให้ถือว่าได้รับใบอนุญาตโดยอนุโลม แต่ต้นสังกัดต้องออกใบรับรอง และหลังจากที่จัดตั้งสภาฯ แล้ว ภายใน 2 ปี สื่อมวลชนทุกคนทั้งเก่า และใหม่ต้องเข้ารับใบอนุญาตจากสภาวิชาชีพฯ ซึ่งมีจะมีกระบวนการสอบ รวมถึงเข้ารับการอบรม