ล้วงความคืบหน้า กม.ลูก 10 ฉบับ-ปรับแก้ พ.ร.บ.พรรคฯ ก่อนโร้ดแม็พเลือกตั้งปี’61
เปิดห้อง กรธ. ล้วงความคืบหน้าการจัดทำกฎหมายลูก 10 ฉบับ มี 3 ฉบับสำคัญ พ.ร.บ.พรรคการเมือง-พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.-พ.ร.บ.ได้มาซึ่ง ส.ว. ก่อนทุกองคาพยพมุ่งสู่โร้ดแม็พเลือกตั้งปี’61 อะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง
ในที่สุดรัฐธรรมนูญปี 2560 ฉบับผ่านประชามติ หรือที่หลายคนเรียกกันว่า ‘ฉบับปราบโกง’ ได้ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ภายหลังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 ที่ผ่านมา โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รับสนองพระบรมราชโองการ
ท่ามกลางกระแสตอบรับจากฝ่ายการเมือง ทั้งซีกสีแดง และสีฟ้า ตื่นตัวเตรียมเดินหน้าวางหมาก-กลยุทธ์ลงเลือกตั้ง พร้อมกับแรงกระเพื่อมในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีสมาชิกหลายรายเตรียมลาออกกระโดดร่วมวงเลือกตั้ง ที่หลายฝ่ายคาดกันว่าอาจเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2561 หรือประมาณ 18-19 เดือนต่อจากนี้ด้วย
เริ่มนับหนึ่งโร้ดแม็พสู่การเลือกตั้งอย่างชัดเจน หลังจากนี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะดำเนินการร่างกฎหมายลูก หรือร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 ฉบับ และต้องมีอย่างน้อย 3 ฉบับ ที่ต้องประกาศใช้ก่อนการเลือกตั้ง ได้แก่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
ปัจจุบัน กรธ. ดำเนินการร่างกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับดังกล่าวไปถึงไหนแล้วบ้าง ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ กรธ. พบว่า ในร่างกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับดังกล่าว ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย รวมถึงเผยแพร่รายละเอียดขั้นตอนของกฏหมายลูกว่า ปรับแก้ไขไปแล้วอย่างไรบ้าง ได้แก่
1.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. …. ความคืบหน้าล่าสุดผ่านการพิจารณาของ กรธ. เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2560
2.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. …. ยังไม่มีการปรับเปลี่ยน
3.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. …. ยังไม่มีการปรับเปลี่ยน
4.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. …. ความคืบหน้าล่าสุดปรับปรุงเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2560
5.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. …. ยังไม่มีการปรับเปลี่ยน
6.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. …. ยังไม่มีการปรับเปลี่ยน
7.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. …. ยังไม่มีการปรับเปลี่ยน
8.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. …. ยังไม่มีการปรับเปลี่ยน
9.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. …. ปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2560
10.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. …. ยังไม่มีการปรับเปลี่ยน
(ดูประกอบ : http://cdc.parliament.go.th/draftconstitution2/main.php?filename=draftlawrelate)
สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายลูก 3 ฉบับที่ กรธ. จำเป็นต้องรีบร่างให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน หรือราว 8 เดือน คือกฎหมายลูกพรรคการเมือง กฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส. และกฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ว. ที่ถูกฝ่ายการเมือง และภาคประชาชนบางกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน เนื่องจากมีข้อบังคับบางอย่างยุ่งยากเกินไป ?
สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ เช่น มาตรา 15 ที่เกี่ยวกับการกำหนดข้อบังคับพรรค ห้ามมิให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมือง หรือสมาชิกขาดความอิสระไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม
มาตรา 23 วรรคสอง กำหนดให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง จัดทำแผนหรือโครงการที่จะดำเนินกิจกรรมของพรรค เช่น การมีส่วนร่วมกับประชาชนในการพัฒนาประเทศ แนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ส่งเสริมให้สมาชิกและประชาชนมีความสามัคคีปรองดอง รู้จักยอมรับความเห็นต่างทางการเมือง เป็นต้น ส่งให้นายทะเบียนทราบภายในเดือน เม.ย. ของทุกปี และให้นายทะเบียนเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
หากหัวหน้าพรรค นายทะเบียนสมาชิก หรือเหรัญญิกผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 23 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท และปรับอีกวันละหนึ่งพันบาทตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
มาตรา 28 พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ระบุว่า ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมือง หรือสมาชิกพรรคขาดความอิสระ ทั้งนี้ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม
มาตรา 29 ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกพรรค กระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมือง หรือสมาชิกของพรรคการเมืองขาดความอิสระ ทั้งนี้ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม
มาตรา 30 ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ใดให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยทางอ้อม เพื่อจูงใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดสมัครเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง ทั้งนี้เว้นแต่สิทธิหรือประโยชน์ซึ่งบุคคลพึงจะได้รับในฐานะเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
ทั้งนี้หากพบว่าพรรคใดกระทำความผิดตามมาตรา 28, 29 และ 30 จะถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยยุบพรรคการเมืองนั้นได้ด้วย นอกจากนี้อาจถูกระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี และปรับตั้งแต่ 1-2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลดังกล่าว
หรือในมาตรา 33 ที่กำหนดให้มีจำนวนสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 พันคน และต้องเพิ่มจำนวนสมาชิกให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคนภายใน 4 ปี นับตั้งแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน และจัดให้มีสาขาพรรคการเมืองในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัด โดยต้องมีสมาชิกซึ่งมีภูมิลำเนาในพื้นที่ของสาขาตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป
ส่วนในการเลือกตั้ง ส.ส. ค่อนข้างจะมีเนื้อหาใกล้เคียงกับกฎหมายลูกฉบับเดิม ๆ ยกเว้นการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่เปลี่ยนเป็นการสรรหาทั้งหมด ไม่มีการเลือกตั้งเหมือนเดิมแล้ว
ท้ายสุดการเลือกตั้งจะเป็นไปตามที่คาดคะเนกันหรือไม่ อนาคตอาจมีอะไรเกิดขึ้นจน ‘เขย่า’ ให้โร้ดแม็พต้องเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด !
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์