จากห้ามนั่งหลังกระบะ ถึงเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก ติดอย่างไรให้ถูกและปลอดภัย
ในสหรัฐอเมริกาได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง รวมทั้งการให้คำแนะนำและแนวทางการลดการบาดเจ็บโดยใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1983 ได้มีการศึกษาที่พบว่า ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการตายในเด็กทารกและเด็ก 1-4 ปี ถึงร้อยละ 69 ถ้าใช้อย่างถูกวิธี ขณะเดียวกันจะลดความเสี่ยงต่อการตายในเด็กอายุมากกว่า 5 ปี ได้ร้อยละ 45 และลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรงถึงร้อยละ 50
อุบัติเหตุจราจรเป็นสาเหตุการตายอันดับสองของเด็กไทย เช่นเดียวกับประเทศในอาเซียน จากการศึกษาการตายในเด็กโดยศูนย์วิจัยความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า ใน 15 ปีหลังนี้ เด็กไทยอายุน้อยกว่า 15 ปี ตายจากอุบัติเหตุจราจร 15,601 คน เป็นเด็กปฐมวัยน้อยกว่า 5 ปี จำนวน 3,626 คน วัยเรียน 5-9 ปี จำนวน 3,650 คน และวัยรุ่นระยะต้น 10-14 ปี จำนวน 8,325 คน
ในส่วนของเด็กที่ตายจากอุบัติเหตุจราจรทั้งหมด พบว่า ร้อยละ 20.5 สาเหตุจากการโดยสารรถยนต์ทุกประเภท ซึ่งรวมทั้งรถปิคอัพ รถเก๋ง รถสองแถว รถตู้ รถโดยสาร หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของการตายเฉพาะกลุ่มผู้โดยสาร
และในปี 2559 พบการตายของเด็กต่ำกว่า 15 ปี จากอุบัติเหตุจราจรทั้งหมดคิดเป็น 704 ราย โดยรวมอุบัติเหตุที่เกิดจากรถยนต์ทุกประเภทจำนวน 120 ราย
ช่วงใกล้เทศกาลสงกรานต์ วันหยุดยาว การเดินทางโดยรถยนต์ เราจะพบว่า เด็กๆ ร่วมเดินทางไปกับผู้ใหญ่ นโยบายรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็แสดงความเป็นห่วงเป็นใยออกมาตรา 44 หวังลดอุบัติเหตุจากหนักให้เป็นเบา กำหนดให้ผู้โดยสารรถยนต์ ทั้งส่วนบุคคล-สาธารณะ ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง
การที่รัฐบาลออกมาตรการ เพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน โดยใช้ ม.44 จัดการกับผู้โดยสารในรถทุกที่นั่งที่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย จึงถือบังคับใช้เข็มขัดนิรภัย เพื่อความปลอดภัยสำหรับเด็กไปในตัวด้วย แต่ในเด็กอายุน้อยกว่า 9 ปี รูปร่างของเด็กยังเล็กไม่สามารถใช้ระบบยึดเหนี่ยวตัวจากเข็มขัดนิรภัยของรถยนต์ได้ จึงต้องใช้ "ที่นั่งนิรภัย" ให้เหมาะสมตามวัย และต้องยึดเหนี่ยวให้ถูกวิธีตามคำแนะนำของแต่ละผลิตภัณฑ์
สำหรับเด็กทั่วไปการจะใช้เข็มขัดนิรภัยได้เหมาะสมปลอดภัยก็ต่อเมื่อมีอายุ 9 ปีขึ้นไป หรือ มีน้ำหนักมากกว่า 30 กก.หรือความสูงตั้งแต่140 ซม. ขึ้นไป...เท่านั้น มิฉะนั้นเข็มขัดนิรภัย อาจกลายเป็นตัวการทำอันตรายต่อเด็กๆอย่างรุนแรง
ส่วนการนั่งหลังรถส่วนขนของ หรือส่วนกระบะท้าย พบว่า มีความเสี่ยงต่อการตายเมื่อเกิดอุบัติเหตุด้วยเช่นกัน ซึ่งจากการศึกษาในต่างประเทศพบความเสี่ยงสูง 8 เท่าเมื่อเทียบกับผู้นั่งภายในรถ นอกจากนี้ 1 ใน 3 ของเด็กที่บาดเจ็บจากการนั่งส่วนกระบะท้าย ยังเกิดขึ้นจากการพลัดตกโดยไม่มีการชน
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย มีคำแนะนำการติดตั้งที่นั่งนิรภัยในรถปิคอัพ ต้องติดตั้งที่บริเวณเบาะหน้าข้างคนขับ ไม่สามารถติดตั้งในบริเวณส่วนแคปได้ และบริเวณที่นั่งข้างคนขับต้องไม่มีถุงลมนิรภัย หากมีถุงลมต้องเป็นชนิดที่สามารถปิดการทำงานได้ เพราะถุงลมที่ระเบิดออกมาขณะที่เด็กนั่งบนที่นั่งนิรภัยเบาะหน้าข้างคนขับนั้นอาจเป็นอันตรายต่อเด็ก ถึงแก่ชีวิตได้
ฉะนั้นความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของผู้โดยสารรถยนต์เกิดจากผู้โดยสารเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่ากับความเร็วของรถยนต์ เมื่อเกิดการชนกระแทกความเร็วของรถยนต์ลดลงอย่างกะทันหัน แต่ผู้โดยสารยังเคลื่อนที่ต่อภายในรถยนต์ ทำให้ชนกระแทกถูกโครงสร้างภายในรถยนต์หรือกระเด็นออกนอกรถ ดังนั้นการยึดเหนี่ยวผู้โดยสารไว้ไม่ให้เคลื่อนที่ต่อเมื่อรถยนต์ถูกหยุดยั้งให้ลดความเร็วลงกะทันหัน จึงเป็นหลักการที่สำคัญในการสร้างความปลอดภัย ลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บในรถยนต์
"ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก" ในการโดยสารรถยนต์นั้น (Child seat ) นับได้ว่า เป็นนวัตกรรมที่ส่งผลในการลดการตายของเด็กจากการเดินทางด้วยรถยนต์อย่างมาก ประเทศที่มีการพัฒนามีทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และยุโรปตะวันตก ได้มีคำแนะนำและกฎหมายบังคับใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กมานานหลายปี
ในสหรัฐอเมริกาได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง รวมทั้งการให้คำแนะนำและแนวทางการลดการบาดเจ็บโดยใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1983 ได้มีการศึกษาที่พบว่า ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการตายในเด็กทารกและเด็ก 1-4 ปี ถึงร้อยละ 69 ถ้าใช้อย่างถูกวิธี ขณะเดียวกันจะลดความเสี่ยงต่อการตายในเด็กอายุมากกว่า 5 ปี ได้ร้อยละ 45 และลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรงถึงร้อยละ 50
ในส่วนการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ต้องใช้ให้เหมาะสมกับอายุและขนาดของเด็ก วิธีการเลือกชนิดของที่นั่งนิรภัย และวิธีการใช้ที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
- ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ต้องใช้บนที่นั่งด้านหลังและหันหน้าไปทางด้านหลังเท่านั้น การนั่งหันหน้าไปทางด้านหลังรถ จะช่วยลดการบาดเจ็บจากการเบรกกะทันหันและชนสิ่งกีดขวางด้านหน้า ซึ่งการชนดังกล่าวจะทำให้ศีรษะเด็กทารกที่มีขนาดใหญ่เทียบกับลำตัว สะบัดไปทางด้านหน้าเท่ากับความเร็วของรถในขณะรถเบรกและสะบัดไปทางด้านหลังเมื่อมีการชนกระแทก การเคลื่อนที่ของศีรษะบนต้นคอสองทิศทางอย่างรวดเร็ว จะทำให้เกิดการหักของกระดูกต้นคอและกดทับไขสันหลัง ซึ่งเป็นศูนย์รวมเส้นประสาทต่างๆที่ส่งจากสมองไปควบคุมร่างกายส่วนต่างๆ ตั้งแต่ต้นคอถึงปลายแขน ปลายขา รวมทั้งการหายใจและการขับถ่ายด้วย
- เด็กอายุ 2-6 ปี ใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กเล็กที่มีที่ยึดเหนี่ยวในตัว นั่งหันหน้าไปด้านหน้า(Forward facing seat) ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กวัยนี้ยังคงมีสายรัดตัวเป็นแบบยึดเหนี่ยวร่างกายเด็กไว้ 5 จุด
- เด็กอายุ 4-11 ปี ให้ใช้ที่นั่งเสริม (Booster seat) ซึ่งราคาประหยัด ไม่มีสายรัดตัวยึดเหนี่ยวเด็ก แต่ใช้เข็มขัดนิรภัยรถยนต์เป็นอุปกรณ์ยึดเหนี่ยว เด็กวัยนี้ยังคงต้องนั่งเบาะหลังเท่านั้น ควรใช้ที่นั่งเสริม (Booster seat) จนกว่าสามารถใช้เข็มนิรภัยในตำแหน่งไม่เหมาะสมก่อให้เกิดผลเสียเรียกว่า โรคของเข็มขัดนิรภัย (Safety belt syndrome) สามารถป้องกันการบาดเจ็บในช่องท้อง ไขสันหลัง ลำคอและใบหน้า
ขอบคุณภาพจาก:https://www.babycenter.com