ภัยสำหรับเด็กในเทศกาลสงกรานต์…วันครอบครัว
ในแต่ละปีเด็กไทยอายุ 1-14 ปีจะเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุกว่า 2,500 ราย เดือนเมษายน มีเด็กตายจากอุบัติเหตุสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กอายุ 4 ปีขึ้นไป และวันที่มีการเสียชีวิตมากที่สุดคือระหว่างวันที่ 12-15 เมษายน
ช่วงสัปดาห์ก่อนเทศกาลสงกรานต์ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ออกมาแถลงข่าว “ภัยสำหรับเด็กในเทศกาลสงกรานต์…วันครอบครัว”
ข้อมูลที่ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ชี้ให้เห็น คือตัวเลขที่น่าตกใจอุบัติเหตุเป็นเหตุทำให้เด็กไทยตาย โดยพบว่า ในแต่ละปีเด็กไทยอายุ 1-14 ปีจะเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุจำนวนกว่า 2,500 ราย เดือนที่พบเด็กตายจากอุบัติเหตุสูงสุด คือ เดือนเมษายน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก อายุ 4 ปีขึ้นไป และวันที่มีการเสียชีวิตมากที่สุดคือระหว่างวันที่ 12-15 เมษายน ดังนั้นช่วงวันครอบครัวนี้เป็น ช่วงเวลาแห่งความเสี่ยงที่พ่อแม่และชุมชนจะต้องตระหนักและช่วยกันดูแลเด็กๆ
นอกจากนี้ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ยังให้ข้อมูล 10 ปีย้อนหลัง พบการตายของเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี จากอุบัติเหตุและความรุนแรง มีจำนวนถึง 32,297 ราย
สาเหตุของการตายจากอุบัติเหตุและความรุนแรง ของเด็กอายุ 4-12 ปี ในเดือนเมษายนช่วงเวลา 10 ปี พบว่า เด็กอายุ 4-12 ปีส่วนใหญ่ ตายในละแวกบ้าน ในชุมชน ในขณะเล่นกับเพื่อนหรือเดินทางไกล ซึ่งสาเหตุที่สำคัญพบว่า ร้อยละ 56 ตายจากการจมน้ำ ร้อยละ 25 ตายจากการจราจร ร้อยละ8 ตายจากตกที่สูง ของแข็งชนกระแทก ร้อยละ7 ตายจากความรุนแรง และร้อยละ 3 ตายจากไฟฟ้า
รศ.นพ.อดิศักดิ บอกว่า การจมน้ำก็เป็นการตายอันดับหนึ่ง สาเหตุมาจากแหล่งน้ำเสี่ยงจะอยู่ในละแวกชุมชนใกล้บ้านเด็ก ขณะที่เล่นกับเพื่อนๆ คลองหรือแม่น้ำในบริเวณชุมชน สระว่ายน้ำและสวนน้ำ รองลงมา อุบัติเหตุจราจร สาเหตุมาจากการขับขี่ เด็กจะซ้อนมอเตอร์ไซด์ในบริเวณละแวกบ้าน และจากการถูกรถชนบริเวณชุมชน ซึ่งในช่วงสงกรานต์ "ครึ่งหนึ่ง" เกิดจากรถยนต์ ผลมาจากการเดินทาง
ถัดจากนั้น เด็กจะตกจากที่สูง ของชนกระแทก สาเหตุมาจากการพลัดตกหรือหกล้ม ซึ่งทำให้เสียชีวิตและเกิดการบาดเจ็บทางสมองและการแตกของอวัยวะภายใน สาเหตุที่สำคัญตกจากเครื่องเล่น รวมทั้งเครื่องเล่นในสวนสนุก ไม่ว่าจะเป็น บันได หน้าต่าง ระเบียง ต้นไม้ ชิงช้า หรือเล่นของเล่นที่มีลูกล้อ เช่น รองเท้าสเก็ต สกูตเตอร์ในบริเวณที่ไม่เหมาะสม
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การตายของเด็กส่วนใหญ่เกิดขึ้นในบริเวณหมู่บ้าน
รศ.นพ.อดิศักดิ แนะนำว่า แนวทางแก้ไขให้คนในชุมชนสอดส่องดูแลอย่างใกล้ชิด หากเกิดเหตุการณ์เหล่านี้กับเด็กแล้ว พ่อแม่ และชุมชนจะต้องตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้รอบตัวเด็ก ซึ่งในการดูแลเด็กอายุที่ต่ำกว่า 6 ปี จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง ตามมาตรฐานขั้นต่ำของการดูแลเด็ก เพราะการตายของเด็กกลุ่มนี้เกิดจากการละเลยของผู้ปกครองนั่นเอง
นอกจากนี้ การตายของเด็กอายุ 7-12 ปีในพื้นที่ชุมชนมักพบความละเลยของผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ดูแลพื้นที่ในการจัดการความปลอดภัยให้กับเด็กๆด้วย เช่น ไม่จัดพื้นที่เล่นปลอดภัยสำหรับเด็ก พื้นที่เล่นของเด็กไม่แยกเด็กออกจากถนน ใกล้แหล่งน้ำ ไม่ตรวจสอบการติดเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นให้มั่นคง ไม่ตรวจสอบความปลอดภัยของสนามกีฬา เช่น แป้นบาส เสาฟุตบอล ที่มีการใช้งานมานานหลายปี เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน การเตรียมพื้นที่เล่นปลอดภัยในบริเวณชุมชนให้กับเด็ก เป็นหน้าที่ที่สำคัญของผู้บริหาร ท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ในการเตรียมพื้นที่ให้เล่นน้ำเฉพาะ เพื่อลดอุบัติเหตุจราจร และต้องเป็นพื้นที่ให้ความปลอดภัยสำหรับเด็ก เน้นป้องกันการจมน้ำ การถูกรถชน ของหนักหล่นทับ ตกที่สูง ถูกไฟฟ้าดูด ระวังเฝ้าดู ความรุนแรง (การกระทำต่อเด็ก) ที่สำคัญควร "งดเหล้า" และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ขายอุปกรณ์ฉีดน้ำที่ไม่ เหมาะสมในเขตพื้นที่เล่นน้ำเฉพาะ
"คนในชุมชนรวมทั้งผู้บริหารท้องถิ่น ผู้จัดการพื้นที่บริการหรือพื้นที่สาธารณะต่างๆ ช่วยกันเตรียมพื้นที่เล่นทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น สนามกีฬา สนามเด็กเล่น สำหรับเด็กเพราะเป็นช่วงปิดเทอม เด็ก กลับบ้าน และไปเยี่ยมญาติ บ้างถูกส่งมาอยู่กับญาติในชุมชนหรือมาเที่ยวพักผ่อน ฉะนั้นชุมชนควรมีการจัดผู้สอดส่องและดูแลความปลอดภัยในเด็กที่เล่นนอกบ้าน แทนพ่อแม่ในช่วงปิดเทอม เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุในวันสงกรานต์"
ทั้งนี้ รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า ผู้ปกครองควรเฝ้าระวังเหตุการณ์ต่างๆที่เป็นอันตรายต่อเด็กในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพราะเด็กๆจะไปเล่นน้ำ บางพื้นที่จะเป็นโซนนิ่ง แล้วเด็กจะไปเล่นสาดน้ำกัน เช่นบริเวณแหล่งน้ำ ลำคลอง และตามบริเวณบ่อน้ำในชุมชน ซึ่งถ้าเป็นเด็กต่ำกว่า 6 ปี พ่อแม่จะต้องดูแลใกล้ชิดตลอดเวลา จะละเลยไม่ได้ หากละเลยชั่วขณะอาจจะจมน้ำเสียชีวิตได้
สำหรับเด็ก 7 ปี เป็นวัยที่อยู่ห่างไกลจากพ่อแม่ พ่อแม่ต้องมั่นใจว่า เด็กมีทักษะความปลอดภัยทางน้ำได้ดี และปกติเด็ก 7 ปี นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขกำหนดว่า เด็กต้องมีความรู้เรื่องจุดเสี่ยง ลอยตัวในน้ำได้สามนาที เรื่องการตะโกน ช่วยเพื่อนได้ถูกวิธี ไม่กระโดดลงไปในน้ำ ใช้ชูชีพเมื่อต้องเดินทางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ ถ้าเด็กไม่มีทักษะเหล่านี้ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพ่อแม่ที่จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับเด็กๆ
ในส่วนของชุมชน ต้องจัดพื้นที่โซนนิ่ง ในการที่จะดูแลสวนสนุกหรือสวนน้ำที่จัดขึ้นในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์นี้ ซึ่งเป็นที่นิยมมากสำหรับเด็ก จะต้องมีการตรวจสอบความปลอดภัยในเรื่องเจ้าหน้าที่ควบคุม ดูแล มีการกั้นรั้วในพื้นที่ที่ไม่ให้เด็กเล็กเข้าไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สวนน้ำ ที่มีการเดินสายไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าบางอย่างที่มีการสร้างโฟม เพื่อให้มีการเล่นน้ำอย่างสนุกสนานมากขึ้น หรือการเป่าลมเครื่องเล่นที่สวนน้ำที่มีความสูง ซึ่งไม่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เรื่องนี้ต้องมีการระมัดระวังกันกันอย่างทั่วถึง นอกจากนี้เรื่องของไฟฟ้าเมื่ออยู่ใกล้น้ำ อาจจะเกิดไฟฟ้าดูด เพราะมีเคยเหตุการณ์การเสียชีวิตมาแล้ว 2-3 ปีติดต่อกัน
รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวถึงบริษัทที่ไปทำธุรกิจเกี่ยวกับสวนน้ำ อาจจะทำได้ดีและมีมาตรฐานความปลอดภัย แต่บางบริษัทอาจจะยังทำไม่ได้ดี ทั้งหมดนี้จะอยู่ภายใต้กฎกระทรวงเดียวกัน การควบคุมสวนสนุกกับสวนน้ำที่เคลื่อนที่หรือไม่เคลื่อนที่ ซึ่งออกมาในปี 2558
ทั้งนี้สวนน้ำเคลื่อนที่มีการติดตั้งและเคลื่อนย้าย ผู้ที่สามารถตรวจสอบและรับรองไม่ใช่หน่วยงานส่วนกลาง แต่เป็นหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งตามกฎกระทรวงกำหนดให้องค์กรท้องถิ่นมีวิศวกร ผู้เชี่ยวชาญในการที่จะไปตรวจสอบว่า มีการติดตั้งที่ถูกวิธี ระบบความปลอดภัย รวมถึงการควบคุมดูแลอย่างทั่วถึง ปรากฏว่า หลายองค์กรท้องถิ่นยังไม่มีความตระหนักในเรื่องนี้ และยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่เพียงพอ อาจมีการออกใบอนุญาตที่ไม่มีการตรวจสอบหรืออาจจะไม่ได้ออกใบอนุญาต แล้วมีการติดตั้งโดยไม่มีการขอใบอนุญาตตามกฎกระทรวง จึงทำให้สวนน้ำที่มีธุรกิจการขยายตัวอย่างมาก มีการควบคุมความปลอดภัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสวนสนุกหรือสวนน้ำก็ตาม จะต้องมีการควบคุมความปลอดภัยและมีมาตรฐานอย่างเข้มงวด โดยจะต้องมีการควบคุมจากหน่วยงานส่วนกลางด้วย
พร้อมกันนี้ รศ.นพ.อดิศักดิ ยังเตือนภัยสวนน้ำที่มีการขยายธุรกิจและกระจายอยู่หลายแหล่ง ที่ยังมีการติดตั้งที่ไม่ถูกวิธี และละเลยต่อการตรวจสอบอาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ จึงอยากให้พ่อแม่ ชุมชน ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และต้องเฝ้าระวังความปลอดภัยให้มากขึ้น
"พ่อแม่สามารถตรวจสอบให้กับลูกหลานว่าเครื่องเล่นชนิดใดปลอดภัย ต้องดูวิธีการออกแบบทั่วไป เช่น สวนน้ำที่มีขนาดสูงมากๆและไม่มีความมั่นคงของอุปกรณ์ในการติดตั้ง มีการโยกเยก หรือพื้นไม่มีการยึดติดที่แข็งแรง อาจจะเกิดการล้มลงได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ในขณะเดียวกันพ่อแม่ต้องสังเกตว่าเครื่องเล่นที่มีความสูง เด็กอาจจะมีการลื่นไหล หรือตกในพื้นที่ที่ไม่มีการรองรับ อาจจะออกนอกเขตพื้นที่น้ำ ทำให้เกิดการบาดเจ็บและอันตรายถึงชีวิต และในส่วนของน้ำที่มีความลึกมาก จะต้องมีการดูแลของเจ้าหน้าที่ควบคุมอย่างเข้มงวด หากไม่มีผู้ดูแลหรือไม่มีผู้ติดตาม คนที่จะต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิดนั้นจะต้องเป็น พ่อแม่ ของเด็กเอง เพราะโอกาสที่จะเกิดอันตรายกับเด็กนั้นเพิ่มสูงขึ้น" ผู้เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุที่เกิดกับเด็ก ระบุ และตอกย้ำด้วยว่า ให้พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องมีการเดินดูโดยรอบๆพื้นที่ว่า มีการเดินสายไฟที่ถูกต้องหรือไม่ และสายไฟจะต้องไกลจากพื้นที่น้ำ เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มความปลอดภัยให้กับเด็กมากยิ่งขึ้น
ขอบคุณภาพจาก: