มีรัฐธรรมนูญเเล้วเลือกตั้งเมื่อไหร่ หน้าตารัฐบาลจะแบบไหน ?
หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การเลือกตั้งจะเริ่มเมื่อไหร่ตามกรอบเวลาที่ตั้งไว้ รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง หน้าตาจะเป็นอย่างไร คสช.จะเป็นรัฐบาลต่อได้หรือไม่รูปแบบรัฐสภาจะอยู่กันอย่างไร อ่านต่อในบทวิเคราะห์เจาะลึกของ 'ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล'
นับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 หลังจากพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ความหวังในเส้นทางระยะเปลี่ยนผ่านประเทศเข้าสู่ระบอบประธิปไตยมากขึ้น การประกาศใช้จะเป็นสัญญาณที่ดี แต่คำถามใหญ่คือ นับจากวันประกาศไปอีกวัน ที่เราจะเดินไปจุดนั้น กรอบเวลา ขั้นตอนการกลับสู่สภาวะปกติ มีอะไรบ้าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการฝ่ายบริหารและความยั่งยืนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วิเคราะห์แบบเจาะลึก หาสมการว่ากรอบเวลาที่ว่าจะนำพาไปสู่จุดไหน จะมีเลือกตั้งเมื่อไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง หน้าตาจะเป็นอย่างไร คสช.จะเป็นรัฐบาลต่อหลังจากการเลือกตั้ง ถ้าอยากจะเป็นจะเป็นได้หรือไม่อย่างไร รวมถึงประเด็นที่จะเป็นหน้าตาของรัฐบาล ในกรณีที่คสช.ไม่ยุ่งเกี่ยว ระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร
เริ่มด้วยคำถามที่ว่ากรอบเวลาดังกล่าวจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง
ผศ.ดร.ปริญญา มองว่า ตามที่เราทราบคือ เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ประกาศใช้ เงื่อนไขเวลาสำคัญอยู่ที่ จะต้องมีการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีทั้งหมด 10 ฉบับ ต้องเสร็จภายใน 240 วัน นับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 8เดือน
ถามว่าเมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีบทบาทจากร่างรัฐธรรมนูญก็มาร่างกฎหมายลูก เมื่อร่างเสร็จเเล้วจะประกาศใช้ได้เลยไหม ก็ไม่ใช่ เพราะต้องส่งให้ทาง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ใน 60 วัน กรอบเวลาเบื้องต้นจะเห็นว่ากระบวนการทั้งหมดใช้เวลาอย่างน้อย 10 เดือน
คำถามคือ พอ สนช.พิจารณาเสร็จ จะประกาศใช้เลยหรือไม่
ผศ.ดร.ปริญญา เผยว่า เมื่อสนช.พิจารณาเสร็จเเล้วต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเเละองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องพิจารณา ถ้าหากว่า องค์กรอิสระ หรือศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ ต้องมีการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาฝ่ายละ 5 คน จากฝ่ายกรรมการร่างฯ 5 คน ฝ่าย สนช. 5 คน แล้วประธานจะเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือจะเป็นประธานศาลอื่นๆ สุดเเล้วแต่
“ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 10 วัน จากนั้นส่งคืนให้สนช.ภายใน 15 วัน ตรงนี้บวกเวลาคร่าวๆ ก็ 25 วัน ความจริงเเล้ว เราลืมไปว่า 10 วัน เขานับตั้งแต่วันที่ ได้รับตัวร่างจากสนช. กี่วันกว่าจะรับร่างตรงนี้ไม่มีกรอบเวลา ดังนั้นจะมีช่วงเวลาที่เป้นรอยต่อตรงนี้ ตีว่าช่วงส่งไปส่งมาอย่างเร็ว เดือนหนึ่งถือว่าเร็วมาก” ผศ.ดร.ปริญญา วิเคราะห์
เเล้วกรณีถ้าหากว่า สนช.ไม่มีปัญหาอะไร คือเห็นพ้องต้องกัน ไม่เกิดอะไรขึ้นมา ก็จะผ่านไปสู่ขั้นตอนประกาศใช้
ผศ.ดร.ปริญญา มองว่า ในขั้นตอนประกาศใช้ตามกรอบเวลา ทูลเกล้าฯ ซึ่งเป็นเรื่องของพระราชวินิจฉัย ตรงนี้มีเวลาอีก 120 วัน ถ้าเราพูดอย่างรวบรัด รวมขั้นตอนส่งไปมาอย่างเร็ว สองเดือน (ซึ่งแปลว่ามีอย่างยาวได้อีกแล้วแต่กรณี) ดังนั้นหากบวกรวมระยะเวลาทั้งหมดจาก 10 เดือนที่ร่าง พิจารณาและบวกอีก 2 เดือน เป็น 1 ปี
พอ 1 ปี ประกาศใช้ ก็จะเริ่มต้นนับ กรอบเวลาในการเลือกตั้งที่ต้องมีขึ้นภายในเวลา 150 วัน ก็ต้องนับไปอีก 5เดือน ดังนั้นจะเห็นว่ากรอบเวลาทั้งหมดจะเป็น 1 ปี 5 เดือน แบบที่เรียกว่าค่อนข้างเร็วพอสมควร ถือว่าขั้นตอนการส่งไปมาและประกาศใช้ไม่ติดขัด
ผศ.ดร.ปริญญา อธิบายเพิ่มเติมว่า บวกจากวันนี้ไป อีก 1 ปี 5 เดือน ก็คาดว่าจะไปเสร็จสิ้นที่กันยายน พ.ศ.2561 ดังนั้นการเลือกตั้งจะเริ่มราวๆ ตุลาคม 2561ก็จะมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งในความจริงไม่เร็วขนาดนั้น เพราะตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในมาตรา85 จากเดิม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีเวลากำหนดการตรวจสอบว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใด มีการทุจริต มีข้อร้องเรียนหรือไม่ จะให้ใบแดง ใบเหลือง สั่งเลือกตั้งใหม่ ภายใน 30 วัน แปลว่า เลือกตั้งเสร็จ ก็ต้องรออีก2เดือน ถึงจะมีการตั้งรัฐบาลใหม่
“ถ้าหากว่า เกิดจะมีการเปิดช่องเอาคนนอกบัญชีรายชื่อเข้ามา ขั้นตอนก็จะยืดออกไป เอาเป็นว่าเราพูดแค่เรื่องเลือกตั้ง ตามกรอบเวลา เราก็จะได้เลือกตั้ง ราวเดือนกันยายน ตุลาคม ปีหน้า”
ถามว่าเร็วกว่านี้ได้ไหม ผศ.ดร.ปริญญา ให้คำตอบว่า ได้ เพราะว่า ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญระบุว่า กรอบเวลา 5 เดือนคือหลังจากทีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา 267(1)(2)(3)(4) มีผลใช้บังคับ มาตราที่ว่า นั่นคือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) การได้มาซึ่ง สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) เลือกคณะกรรมการคัดเลือกพรรคการเมือง พูดง่ายๆ คือเมื่อ 4 ฉบับนี้ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว.บวกกับพรรคการเมือง กกต. 4 ฉบับนี้เสร็จเมื่อไหร่ก็กรอบเวลาดังกล่าวจะเริ่มนับ
ดังนั้นถ้าหากว่า เราต้องการเลือกตั้งเร็วๆ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)ก็ส่ง 4 ฉบับนี้ก่อนเลย ถามว่าตั้งแต่ 7 สิงหาคม 2559 เป็นต้นมา จนถึงวันนี้หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ก็ผ่านมาราว 7 เดือนแล้ว ถ้าหากเป็นเรื่องของกรอบเวลาเดิมไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมอะไร เท่ากับเวลาที่กรรมการร่างฯมีเวลาจัดทำกฎหมายลูก เพราะตามบทเฉพาะกาลให้เวลา 8 แปดเดือน นี่ก็ผ่านไป 7 เดือนแล้ว
ฉะนั้น หากต้องการให้มีการเลือกตั้งเร็ว 4 ฉบับนี้ กรธง ก็ส่ง สนช.ก่อนเลย ไม่ต้องครบ8 เดือนเเล้วค่อยส่ง หากส่งไปแล้ว สนช.ก็มีเวลา 2 เดือนในการพิจารณา
“หมายความว่า ประกาศใช้รัฐธรรมนูญเเล้ว กรธ.ก็ส่งร่างทั้ง4 ฉบับให้ สนช.ได้เลย ถ้าทำเช่นนั้นเวลาก็จะเร็วขึ้นมา8เดือน แปลว่าจากเดิมที่จะเลือกตั้งกันยายน 2561 ก็จะขยับมาสู่ มกราคม 2561 อันนี้คือแบบเร็วสุด ถ้าอยากเลือกตั้งเร็ว ก็สามารถทำแบบนี้ได้”
ผศ.ดร.ปริญญา วิเคราะห์ต่อว่า ถ้าหาก กรธ. ไม่ส่ง 4 ฉบับนี้โดยเร็วพร้อมกัน เช่น แทนที่จะส่งครบ 4ฉบับ ก็ส่ง 3 ฉบับ มีบางฉบับที่มีปัญหา ก็แปลว่า มีเจตนาว่าจะไม่ให้มีการเลือกตั้งเร็ว ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องรอติดตามกันต่อไป
สรุปคืออย่างเร็วสุดคือ เลือกตั้งมกราคม 2561 ต้องติดตามว่ากฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับนี้จะส่งช้าส่งเร็ว ถ้ามีบางฉบับส่งช้าไป ครบกรอบเวลา8 เดือน เราก็จะไปเลือกตั้งช่วงปลายปีหน้า
ถามว่า ถ้าเลือกตั้งอย่างช้า กว่าสองกรอบเวลานั้นมีไหม
ผศ.ดร.ปริญญา ตอบว่า มี เพราะว่า ถ้าดูในกรณีที่ส่งกันไปมา แล้วตั้งกรรมาธิการร่วมขึ้นมา ถ้าสนช.พิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเเล้ว ดันมีมติไม่เห็นชอบ เกินสองในสาม ก็ให้ร่างนั้นตกไป ตกไปแล้วเกิดอะไรขึ้น ไม่มีเขียนไว้ ดังนั้นถ้าท่านอยากให้เลือกตั้งช้าออกไปอีกเกินกว่า กันยายน2561 จะสามารถทำอย่างไร
ในเมื่อกฎหมายลูกต้องประกาศใช้ทั้ง 4 ฉบับ กรอบเวลาเลือกตั้ง 5 เดือนถึงจะเริ่มต้นนับ ถ้าหากมีเพียงแค่ฉบับเดียวตกไป กรอบเวลาก็จะไม่นับ ที่นี่ปัญหาคือ ไม่ได้เขียนเอาไว้ว่า ถ้าหากเกิดมีมติปัดตกไป จะทำอย่างไร
ดังนั้น ถ้าตีความโดยอนุโลมก็คือ ไปเริ่มต้นใหม่ กรอบเวลาทั้งหมดก็จะนับใหม่ หรือแบบที่นานกว่านั้นอีกก็สามารถทำได้ เนื่องจาก บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ จึงต้องไปแก้รัฐธรรมนูญก่อน ถ้ามาทางนี้ก็จะช้าออกไปอีก
สรุปคือ จะเห็นได้ว่ากรอบเวลา ถ้าบวกเลขเข้าไป ก็คงอยู่ในปีหน้า กันยายน, ตุลาคม 2561 แต่อย่างเร็วก็เป็นไปได้ คือ มกราคม 2561 หรือช้ากว่าทั้งสองก็เป็นไปได้นั่นคือ 2562 หรือยืดออกไปอีก ด้วยเหตุที่บทเฉพาะกาลไม่เขียนไว้ว่าหากร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน จะทำอย่างไร เขียนแค่ว่าหากกฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับเสร็จเมื่อไหร่ ก็จะเริ่มนับกรอบเวลาเลือกตั้ง แปลว่าเพียงแค่ไม่ผ่านสักฉบับก็จะติดอยู่อย่างนั้นและเลือกตั้งก็ไม่สามารถทำได้
ในประเด็นต่อมา ผศ.ดร.ปริญญา อธิบายต่อว่าในเรื่องของระบบรัฐสภา คือเราจะมีรัฐสภาที่ประกอบด้วย ส.ว. 200 คน และ ส.ส.500 คน
ในที่นี้มาดูเรื่อง ส.ว.ก่อน ตามมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญ ส.ว.จะมาเลือกกันเอง ส่วนจะเลือกยังไงก็ต้องดูในกฎหมายลูกที่กำลังร่าง แต่ว่า5 ปีแรก ส.ว.200 คนที่เลือกกันเองจะได้เป็นเพียงแค่ 50 คน ตามบทเฉพาะกาล ระบุว่า ส.ว.จะมี 250 คน ถามว่าตัวเลขนี้หมายถึงอะไร 250 คน คือเท่ากับครึ่งหนึ่งของ ส.ส. แล้วมีใครบ้าง
ผศ.ดร.ปริญญา อธิบายว่า ก็จะมี 50 คนที่มาจาก 200 คนที่เลือกกันเอง เพราะว่า 200 คนที่เลือกกันเองจะได้เป็นส.ว.ในชุดต่อไป ชุดแรกจะได้เป็นแค่ 50 คน ส่วนเป็นใครต้องไปถาม คสช. เพราะคสช.จะเป็นคนเลือก 50 นั้น อีก 200 คนจะมี 6 คนที่มาโดยตำแหน่งมี ปลัดกระทรวงกลาโหม, ผบ.สูงสุด, ผบทบ., ผบ.ทอ., ผบ.ทร.และผบ.ตร. เหลืออีก 194 มาจากไหน ก็มาจากกรรมการสรรหาที่คสช.แต่งตั้งขึ้นมา ก็สรรหามา 400 คน แล้วคสช.เลือกมา 194 คน บวกอีก 6 คนโดยตำแหน่ง และอีก 50 คนที่คสช.เลือกกันเอง เป็น 250 คน
“ผมถามว่า 194 คน ที่จะมาจากการสรรหา 400 คน แล้วเลือกมา เราคิดว่าจะมีใครบ้าง พอจะนึกหน้าออกไหมว่าประมาณไหน” ผศ.ดร.ปริญญาตั้งประเด็นคำถาม
พร้อมชวนให้คิดตามว่าคนประมาณไหนที่คสช. จะเลือกเข้ามา จะเลือกแบบที่คุมได้ง่าย สั่งได้ง่าย หรือคุมได้น้อย สั่งได้น้อย ก็มีแนวโน้ม ว่าคสช.เลือกคนที่คุมได้ง่าย สั่งได้ง่าย
ประเด็นสำคัญคือ ในบทถาวรของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้ให้อำนาจ ส.ว.ในเรื่องอิทธิฤทธิ์อะไรมากมาย แต่ว่าอำนาจที่แท้จริงอยู่ใน คำถามเพิ่มเติม เราทุกคนคงจำได้ว่า ตอน 7 สิงหาคม 2559 ที่มีการลงคะแนนเสียงประชามติ มีประเด็นคำถามเพิ่มเติม ที่ระบุว่า เห็นด้วยหรือไม่ ใน 5 ปีแรก ให้รัฐสภา เป็นคนเลือกนายกรัฐมนตรี
ระบบรัฐสภาประกอบด้วย ส.ส.และส.ว. ซึ่งส.ส.ก็เลือกนายกฯอยู่เเล้ว ดังนั้นความหมายที่แท้จริง ของคำถามในการลงคะแนนเสียงประชามติครั้งที่ผ่านมา นั่นคือ คุณจะให้สิทธิ์ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ซึ่งเราก็รู้เเล้วว่า ส.ว.นั่นมาจากการเลือกโดย คสช.
ผลที่จะเกิดคือ ในที่ประชุมเลือกนายกรัฐมนตรีประกอบด้วย ส.ส.500 คน และส.ว.250 คน รวมเป็น 750 คน ใครจะเป็นยากได้ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่า กึ่งหนึ่ง ของคะแนนเสียงทั้งหมด ซึ่งคะแนนกึ่งหนึ่งคือ 376 หากดูที่นั่งของส.ว.ที่คสช.เลือกมามีแล้ว 250 คน ขาดอีกเพียง 126 เสียงจาก ส.ส.500 คน
มาดูต่อในสัดส่วนของ ส.ส. ถามว่าจำนวน 126 คน ถ้าหาก คสช.อยากเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ 126 คนจะมาอย่างไร หรือต้องจัดตั้งรัฐบาลแบบไหน ที่การเลือกตั้งจะทำให้เกิดพรรคการเมืองอะไรบ้าง ก็ต้องดูระบบการเลือกตั้ง จัดสรร ปันส่วนของ มีชัย ฤชุพันธุ์ มีส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 350 คน และส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน กล่าวโดยสรุป
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวด้วยว่า นี่ไม่ใช่การทำนายผลการเลือกตั้ง เพราะเรายังไม่ทราบว่าพรรคใหญ่ทั้งสองพรรคจะเป็นอย่างไร จะมีพรรคใหม่เกิดขึ้นไหมก็ไม่ทราบ พฤติกรรมของประชาชนจะเป็นอย่างไร แต่วิธีการทำความเข้าใจวิธีการเลือกตั้ง คือว่า ให้เอาผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา เอามาใส่ในระบบการเลือกตั้งใหม่ เราพอจะมองเห็นได้ว่าผลของระบบการเลือกตั้งนี้จะเป็นอย่างไร เราทราบเเล้วว่า ในการเลือกตั้งจัดสรร ปันส่วนผสม จะมีส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจะไม่มีอีกต่อไป จะเหลือแต่การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเท่านั้น คำถามคือเเล้วเลือกส.ส.บัญชีรายชื่ออย่างไร
ระบบเดิมคือเลือกแบบคู่ขนานแบ่งเขตก็เลือกไป บัญชีรายชื่อก็เลือกไป แล้วนำผลการเลือกตั้งมารวมกัน เช่นพรรคเพื่อไทยได้ 205 ในแบบแบ่งเชต และสัดส่วนบัญชีรายชื่อได้ 60 ก็รวมกัน ได้ 265
นี่คือระบบขนานที่ไทยใช้ตลอดเวลาที่ผ่านมา
แต่มีระบบแบบเยอรมันคือ เอาคะแนนบัญชีรายชื่อซึ่งคือการเลือกพรรค มาคิดจำนวน ส.ส.ทั้งสภา เช่นในการเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยได้คะแนน 48.42% ก็จะคิดจาก ส.ส.500 คน ผลลัพธ์คือ 242 คน แล้วมาดูว่าในแบบแบ่งเขตได้กี่คน ในกรณีนี้ได้แบ่งเขตไปแล้ว 205 คน แปลว่าจะได้แบบบัญชีรายชื่ออีกเท่ากับ 242 ลบ 205 เท่ากับ 37 คน
“ระบบเยอรมันมีความตั้งใจทำให้ พรรคการเมืองได้ ส.ส.ตามความเป็นจริง นั่นคือประชาชนเลือกมาเท่าไหร่ ก็ได้ส.ส.มาเท่านั้น โดยดูว่าได้แบบแบ่งเขตกี่คนเเล้วขาดเท่าไหร่ แบบบัญชีรายชื่อก็จะเติมให้ ซึ่ง ท่านบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้เอามาใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ร่างแรก แต่ร่างนี้ตกไป”
ผศ.ดร.ปริญญา อธิบายต่ออีกว่า มาดูในรัฐธรรมนูญ ของมีชัย หลักคิดของมีชัย จะต้องไปเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทำไม ก็เอาคะแนนแบบแบ่งเขตทั้งประเทศ มาคิดที่นั่งเลย หรือเลือกตั้งอย่างเดียว สมมติเพื่อไทย ได้ 44% ก็มาคิดจาก 500 ที่นั่ง ผลลัพธ์คือ เพื่อไทย ได้ 222 คน นี่คือระบบเเบบ มีชัย
กล่าวโดยสรุป ถามว่า มีชียมีเจตนาเช่นไรที่ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบนี้ มีชัยบอกว่าเลือกตั้งง่าย ถามว่า ส.ส.มีทั้งแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ ตอนนี้ประชาชนยังไม่ทราบว่าการเลือกตั้งมีแค่แบ่งเขตอย่างเดียว ถ้าจะมีประชาชนถามท่านมีชัยว่า ผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อเลือกยังไง ท่านจะตอบว่า เลือกโดยแบ่งเขต บัตรใบเดียวทำสองอย่าง แล้วถ้าประชาชนถามต่อไปว่า ถ้าอยากเลือกคนละพรรคทำอย่างไร คำตอบคือเลือกไม่ได้
“ที่ผ่านมา เราเลือกแบบแบ่งเขต ได้พรรคหนึ่ง แบบบัญชีได้พรรคหนึ่ง หรือจะเลือกพรรคเดียวกัน ก็เป็นเรื่องของประชาชน แบบสิทธิของเราเอง ตรงนี้คือสิ่งที่เปลี่ยนไป จะบอกว่าง่ายขึ้นก็ไม่ใช่ เพราะประชาชนจะสงสัยจากความเคยชิน เลือกตั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมา ปี2544, 2548, 2550และ2554 วันนี้กลายเป็นอีกแบบไปแล้ว แล้วเราทุกคนคิดว่าเจตนาเป็นอย่างไร”
คิดง่ายๆ พรรคไหนได้ส.ส.น้อยลงในระบบการเลือกตั้งแบบนี้ ผศ.ดร.ปริญญา อธิบายว่า ในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ พรรคใหญ่สองพรรคจะได้คะแนนแบบแบ่งเขต น้อยกว่าคะแนนแบบบัญชีรายชื่อ เพราะว่า ในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มีพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็ก มาตัดคะแนนไป ดังนั้น แนวโน้มของคะแนนแบ่งเขตของพรรคใหญ่สองพรรคจะน้อยกว่าคะแนนบัญชี ถามว่า มีชียมีข้อมูลตรงนี้ไหม
แล้วพรรคอะไรจะได้ส.ส.มากขึ้น ยกตัวอย่างพรรคภูมิใจไทยเดิมได้คะแนน 10.9% ก็จะเท่ากับได้ ส.ส. 55 คน จากเดิมที่ได้แค่ 34 หรือพรรคชาติไทยพัฒนาจะได้ส.ส. 24 คน จากเดิม 19 คน ระบบเลือกตั้งนี้ พรรคขนาดกลางจะได้ ส.ส.มากขึ้น ถามว่า 126 เสียงที่ต้องการในการเลือกนายกรัฐมนตรี เอามาเติมยากไหม จากเดิมมี ส.ว.250 ต้องการอีกแค่ 126 คน ดูเเล้วไม่ยากเลย
ประเด็นอยู่ตรงนี้ คือเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่มีพรรคไหนได้คะแนน 50% แน่นอน เพราะขนาดพรรคเพื่อไทยในช่วงที่เป็นขาขึ้นยังได้เพียงแค่ 44% ดังนั้นไม่มีพรรคไหนที่จะมี ส.ส.โดยลำพังถึง 250 คน แล้ว คสช.ต้องการเพียง 126 เสียง แสดงว่าเป็นนายกรัฐมนตรีได้แน่ๆ
ผศ.ดร.ปริญญา มองอีกว่า ผลลัพธ์ของระบบเลือกตั้ง ไม่มีพรรคไหนได้คะแนนถึง 250 โดนกติกาที่ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับส.ส. คสช.มีเเล้ว 250 เสียง ในที่ประชุมที่ประกอบด้วย ส.ส.และส.ว. เป็นคนเลือกนายกรัฐมนตรี เราคิดว่าพรรคไหนเป็นพรรคใหญ่สุดในสภา นั่นคือ พรรค คสช. เพราะว่ามีแล้ว 250 เสียง ขณะที่พรรคอื่นไม่มีใครมีเก้าอี้ถึง 250 นี่คือพรรคที่ใหญ่ที่สุดและมีบทบาทมากที่สุดในการกำหนดว่าใครจะมาเป็นนายกฯ
ดูจากระบบเลือกตั้งเเล้ว จำนวนเสียงที่ขาดอีก 126 เสียง ก็ไม่น่ายาก เพียงแค่ดึงพรรคขนาดกลางมา
แต่ประเด็นสำคัญและยังเป็นประเด็นที่ซับซ้อนคือ ต่อให้ต้องการส.ส.อีก 126 เสียง แต่ลองนึกดูว่า หากท่านเป็นรัฐบาลที่มีส.ส.ในมือเพียง 126 เสียง จะเสนอกฎหมายผ่านไหม เพราะอย่าลืมว่าการเสนอร่างพระราชบัญญัติ ไม่เหมือนกับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะอย่างหลังคือการประชุมร่วมกันสองสภา ดังนั้นหากมีส.ส.แค่ 126 คน บวก ส.ว.ก็สามารถคุมเสียงข้างมากได้
แต่พิจารณากฎหมายปกติ ต้องให้ ส.ส.พิจารณาก่อน ต่อให้มีส.ว.เห็นชอบ แต่ถ้าไม่ผ่านสภาผู้แทนฯ ร่างกฎหมายนั้นก็ตกไป ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมี ส.ส.ครึ่งหนึ่ง และสำคัญกว่านั้นคือว่า การลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ยังคงเป็นอำนาจของสภาผู้แทนฯเท่านั้น เสียงที่ต้องใช้ในการลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯคือ ต้องใช้มากกว่ากึ่งหนึ่งนั่นคือ 251 เสียง แปลว่า ตัวเลขขั้นต่ำในการลงมติต้องมี 250
ดังนั้นต่อให้มีส.ส. 126 เสียง แต่จะเสนอกฎหมายไม่ผ่าน ร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีก็ไม่ผ่าน และจะถูกปลดในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้น ขั้นต่ำคือตัวเลย 250 แต่ปัญหาคือ มีแค่ 126 เสียง ต้องทำอย่างไร
ข้อต่อมา ผศ.ดร.ปริญญา วิเคราะห์ว่ารูปแบบ หน้าตาของรัฐบาลที่เกิดขึ้นมีด้วยกันสามแบบ
แบบแรกนั่นคือ ถ้า คสช. ปล่อยให้กระบวนการตั้งรัฐบาลเป็นไปตามปกติ คือไม่เข้าไปแทรกแซง ผลจะเป็นแบบนี้คือ
ส.ว.จะเป็นผู้กำหนดว่าพรรคไหนในสองพรรคใหญ่จะได้เป็นรัฐบาล นี่คือพูดบนพื้นฐานของการมีพรรคการเมืองเท่าเดิม เพราะว่าทั้งสองพรรคไม่มีทางที่จะได้เสียงเกินครึ่งและคสช.เองก็ตั้งรัฐบาลโดยมี ส.ว. 250 คน
แบบที่สอง ถ้า คสช.ต้องการจะเป็นนายกต่อต้องทำอย่างไร ต้องมีเสียง ส.ส. 250 แล้วจะมีอย่างไร ในเมื่อพรรคใหญ่สองพรรคคือเพื่อไทย และประชาธิปปัตย์ รวมกันเกิน 250 เสียง ผลคือว่า ถ้าจะตั้งรัฐบาลขึ้นมา ต้องมีพรรคเพื่อไทย หรือพรรคประชาธิปปัตย์ อย่างน้อยหนึ่งพรรคมาร่วมรัฐบาลด้วย ซึ่งถามว่าเป็นไปได้ไหม หรือ ทำให้สองพรรคนี้รวมกันเเล้วเสียงไม่ถึง 250 ถามว่าทำได้ไหม ก็ต้องลองติดตาม
“เราเคยพูดเรื่องการ เซ็ตซีโร่(SET ZERO) พรรคการเมือง เช่นมีพรรคใหม่ขึ้นมา เพื่อดึงคะแนนเสียง อันนี้ผมไม่ได้ชี้โพรงให้กระรอก เพราะกระรอกขุดโพรงเอาไว้เเล้ว ผมเพียงต้องการให้ประชาชนทราบว่ามีโพรงอะไรบ้าง เราจะได้ตามทัน”
แบบที่สาม คือถ้าหากว่า สภาผู้แทนฯต้องการสู้กับส.ว.ก็ต้องตั้งรัฐบาลที่มีส.ส. 376 เสียง จาก 500 ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ในกรณีเดียว คือพรรคเพื่อไทยกับประชาธิปปัตย์ต้องรวมกันเป็นรัฐบาล เพราะถ้าขาดพรรคหนึ่งพรรคใด ไม่มีทางที่จะมีเสียงถึง หากดูจากผลเลือกตั้งย้อนหลังไปสี่ครั้ง สองพรรคดังกล่าวมีส.ส.เกิน 125 เสมอ
ดังนั้นหากดูตามรูปแบบนี้ เราจะมีรัฐบาลได้สามแบบ
แบบแรก คสช.ปล่อยไปตามธรรมชาติ
แบบที่สอง คสช.เป็นนายกฯต่อ ซึ่งต้องดึงพรรคใหญ่หนึ่งพรรคมาร่วมรัฐบาลหรือหาทางทำให้เกิดพรรคใหม่ขึ้นมา ที่จะส.ส.รวมกันเเล้วให้ได้ 250
แบบที่สาม คือ พรรคใหญ่สองพรรค รวมกันสู้
ถามว่าจะเกิดทางไหน คำตอบคือ ตอนนี้คสช.น่าจะยังไม่ตัดสินใจ เป็นเรื่องของการทำทางเอาไว้ จะเดินหรือไม่ก็ว่ากันอีกที แต่ถ้าจะเดินขึ้นมา ทางไปมีอยู่เเล้ว
เรื่อง 250 เสียง ผศ.ดร.ปริญญา มองว่า ก็มาโยงกับนายกคนนอก (หมายถึงนอกบัญชี) เพราะว่า นี่เป็นครั้งแรกหลังจากรัฐธรรมนูญ 2535 ที่เรามาแก้ว่าให้นายกต้องเป็นส.ส. กลับมาปี 2560 นี่คือครั้งแรกที่นายกไม่ต้องเป็นส.ส. แต่มีเงื่อนไขว่าพรรคการเมืองต้องประกาศให้ประชาชนรู้ก่อนว่าตัวเอง ตั้งรัฐบาลแล้วจะเอาใครเป็นนายกรัฐมนตรี เสนอชื่อได้ไม่เกิน สามชื่อ เงื่อนไขคือว่า เสียงสองในสามของ รัฐสภาสามารถเปิดช่องให้คนนอกบัญชี เป็นนายกรัฐมนตรีได้
2ใน 3 เสียงคือ 500 เสียง จาก 750 เสียง นั่นคือเหตุผลที่ทำไม ตัวเลขของ ส.ส. 250 เสียงจึงจำเป็นสำหรับ คสช. ในการที่จะเสนอให้มีนายกคนนอกเข้ามา แล้วก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า วาระเริ่มแรก ที่ว่าหากเกิดเลือกนายกจากบัญชีไม่ได้ ให้เปิดช่องคนนอกได้ เขาเขียนวาระเริ่มแรก ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า คือ 5 ปี แรก ของส.ว.ชุดนี้ ดังนั้นกรอบเวลาที่จะอยู่อาจไม่ใช่ 5 ปี เพราะสภาผู้แทนครบวาระคือ 4 ปี ต่ออายุในการเลือกนายกได้อีก 8-9 ปี
“ผมวิเคราะห์ต่อจากระบบการเลือกตั้งแบบนี้ จะก่อให้เกิดรัฐบาลแบบไหน แล้วคสช. ควรทำอะไร ผมคิดว่า คสช.ไม่ควรเป็นรัฐบาลต่อหลังจากการเลือกตั้ง ควรจะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ให้มีอิสระในการลงคะแนน ให้รัฐบาลเกิดขึ้นแบบธรรมชาติ” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวและว่า หากคิดว่าไม่ไว้ใจผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แล้วคนที่ท่านเลือกมาน่าเชื่อถือกว่า ก็ปล่อยให้คนเหล่านั้นเลือกไป อย่าไปสั่งเขา แบบนี้ก็พอจะเห็นทางของประชาธิปไตยแบบที่มีปัญหาน้อยสุด เพราะถ้าหากเกิดอยากเป็นรัฐบาลขึ้นมา เกรงว่าหวยจะไปลงในแบบที่สาม คือเกิดการสู้กันระหว่างสภาที่ประชาชนเลือกกับสภาของคสช.เลือก แล้วระบอบไฮบริดของเราไม่ใช่ช่วยกันทำงาน แต่เป็นการแย่งกันทำงานแล้วสุดท้ายมันจะพัง
“ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญเราจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่ตอนนี้มันคือกติกาที่ประกาศใช้เเล้ว ดังนั้นเราต้องว่ากันไปตามที่รัฐธรรมนูญเขียน กติกาตรงไหนมีปัญหาก็เสนอแก้ได้ แต่ผมเกรงว่าใน 5 ปี จะแก้ไม่ได้ เพราะการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องได้เสียง ส.ว.อย่างน้อย หนึ่งในสาม ส.ว.ซึ่งคสช.ตั้งไว้ นั่นหมายความว่า รัฐธรรมนูญจะแตะต้องไม่ได้เลยในช่วง 5 ปี แรก ต่อให้ ส.ส.รวมตัวกันได้ เกินครึ่งรัฐสภา ก็แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ หากไม่ได้เสียงของ ส.ว. 1 ใน3 หมายความว่า รัฐธรรมนูญนี้จะไม่สามารถแก้ได้เลย หาก คสช.ไม่เอาด้วย”
“นี่คือแนวโน้มที่ไม่ดีนัก เพราะเมื่อพูดถึงประชาธิปไตย เราต้องเข้าใจว่าไม่ใช่การปกครองของนักการเมือง ประชาธิปไตยคือการปกครองตนเองของประชาชนเจ้าของประเทศ ภาพที่ผ่านมามีปัญหา กลายเป็นการปกครองของนักการเมือง ก็ต้องไปแก้ไขที่จุดนั้น ไม่ใช่การหันไปหาระบอบอื่น” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวทิ้งท้าย.
อ่านประกอบ
นักวิชาการ มธ. มองประเทศไทยยังไม่เปลี่ยนจนกว่ามีเลือกตั้ง
ย้อนดู 5 อย่างที่จะเปลี่ยนไป และคงอยู่หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
หมายเหตุ: ภาพประกอบอินโฟกราฟฟิก จาก iLaw
ภาพในรัฐสภาจาก http://ed.files-media.com/ ,http://thaipublica.org/ ,http://www.manager.co.th/