คปท.ลั่นนิรโทษกรรมชาวบ้านคดีโลกร้อนไม่ศักดิ์สิทธิ์-ขรก.เมินคำสั่ง รบ.
คปท.เดินหน้าจี้ กสม.ฟ้องศาลปกครองให้กรมอุทยานฯเลิกเกณฑ์ค่าโลกร้อน ตัวการละเมิดสิทธิชุมชนอยู่กับป่า ระบุนโยบายนิรโทษกรรมชาวบ้านโดนคดีไม่ศักดิ์สิทธิ์ ข้าราชการไม่เคยฟังรัฐบาล โดยเฉพาะ ทส.-ออป. หมอนิรันดร์ บอกถึงเวลาตรวจสอบอำนาจรัฐ
วันที่ 9 พ.ย. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) และสมาชิกเกษตรกรที่ถูกฟ้องดำเนินคดีแพ่งข้อหาโลกร้อนกว่า 40 คน เข้าพบและให้ข้อมูลต่ออนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน และอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สืบเนื่องจากที่ได้ยื่นคำร้องขอให้ดำเนินการตรวจสอบและฟ้องคดีต่อศาลปกครอง กรณีกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยังคงบังคับใช้หลักเกณฑ์การคิดค่าเสียหายกับเกษตรกรสมาชิก คปท. และชาวบ้านกลุ่มอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้มีสมาชิก คปท. จำนวน 30 ราย ถูกฟ้องแพ่งด้วยข้อหาทำให้โลกร้อน เป็นจำนวนเงิน 17,559,434 บาท
นางสาวสมจิต คงทน ฝ่ายรณรงค์ คปท. กล่าวว่า ขณะนี้สมาชิกในเครือข่ายฯ มีคดีทั้งแพ่งและอาญารวม 34 คดี 234 ราย เฉพาะคดีทำให้โลกร้อน 30 ราย อยู่ในขั้นบังคดี 4 ราย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จ่ายค่าเสียหาย 1 ราย จำหน่ายคดีชั่วคราว 16 ราย ที่มีหนังสือเรียกค่าเสียหายจากกรมอุทยานฯ 7 ราย และอยู่ในขั้นที่ศาลกำลังยื่นฟ้องอีก 2 ราย
สำหรับสถานการณ์การถูกดำเนินคดีของสมาชิกทางเครือข่ายฯ ได้ให้ข้อมูลแก่ กสม. เช่น นายอุทัย ฤาหาร เป็นจำเลยให้ชำระค่าเสียหายทางแพ่งให้กรมอุทยานฯ จำนวน 74,491 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี, นายแลบ นานช้า บ้านตระ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 (สงขลา) มีหนังสือให้ชำระหนี้จากความผิดฐานทำให้เสื่อมสภาพซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ เป็นเงิน 3,159,000 บาท ขณะนี้เลยระยะเวลาการชำระหนี้ แต่กรมอุทยานฯ ยังไม่ดำเนินคดี เช่นเดียวกับนายสุทัศน์ ศรีดี ต.นาผุด จ.ตรัง และกรณีบ้านระหงส์-บ้านห้วยกลทา อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ชาวบ้านจำนวน 16 รายถูกเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแจ้งความดำเนินคดีข้อหารับจ้างหักข้าวโพดทำให้โลกร้อน
นายกฤษดา ขุนณรงค์ คปท. กล่าวว่า แบบจำลองการคิดค่าเสียหายที่กำหนดโดยนักวิชาการด้านป่าไม้ (รายละเอียดท้ายข่าว) เป็นหลักเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรม ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เลือกปฏิบัติกับเกษตรกรรายย่อย และละเมิดสิทธิชุมชนในการใช้ทรัพยากร ซึ่งชุมชนมีเรื่องสิทธิการอยู่ก่อนหลังอยู่แล้ว กลับต้องมารับผิดชอบกับค่าเสียหายทางแพ่งอีก
ทั้งนี้ คปท. เห็นว่า การกระทำดังกล่าวของกรมอุทยานฯ สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรรายย่อย ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการรับรู้ข่าวสาร และการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อการพิจารณาและการดำเนินการทางปกครองของหน่วยงานรัฐที่อาจส่งผลกระทบถึงชุมชน รวมทั้งยังเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 66 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
ขณะที่ นางสาวพงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ที่ปรึกษา คปท. กล่าวกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่า ในประเด็นที่มีข้อเสนอจากเวทีต่างๆ รวมถึงเวทีรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของ คปท. ให้รัฐยกเลิกหรือชะลอการจับกุมคดีกับชาวบ้าน กระทั่งมีการตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาของ คปท. ที่มีนายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน แต่ก็ยังมีการเดินหน้าฟ้องร้องคดีอย่างต่อเนื่อง
ที่ปรึกษา คปท. กล่าวต่อไปว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ไม่ได้ปฏิบัติตามนโยบายและคำสั่งของรัฐบาล ล่าสุดยังมีการฟ้องแพ่งและอาญาเพิ่มเติม เฉพาะในเครือข่ายก็ 243 ราย มูลค่ารวมกว่า 7 ล้านบาท คิดว่าเรื่องนี้เป็นการละเมิดสิทธิชุมชนร้ายแรง คุกคามชาวบ้านและเกษตรกรรายย่อยที่ต้องอยู่และทำกิน
“ตัวอย่างที่คอนสาร ขนาดนายกฯพูดในที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการว่าคดีนี้อยู่ในกระบวนการแก้ไขปัญหาทางนโยบายขอให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) อย่าเพิ่งนำเข้าสู่ศาล อย่าฟ้องแพ่งชาวบ้าน ก็ยังหยุดยั้งไม่ได้ คณะกรรมการ ออป. ยังเดินเรื่องฟ้องชาวบ้าน 31 รายเพื่อขับไล่จากพื้นที่”
นางสาวพงษ์ทิพย์ กล่าวอีกว่า ประเด็นคือรัฐบาลบังคับให้หน่วยราชการปฏิบัติตามนโยบายไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมไทย ที่ทำให้การแก้ปัญหาชาวบ้านเป็นเรื่องยากมาก กฎหมายที่มีก็ไม่เป็นธรรม และมีแนวโน้มว่ากระบวนการยุติธรรมก็จะไม่เป็นธรรมแล้วด้วย
ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน กล่าวภายหลังรับฟังข้อมูลจาก คปท.ว่า ประเด็นวันนี้คือการกระทำของหน่วยงานรัฐที่ละเมิดสิทธิชุมชนในการถึงที่ดินทำกิน ซึ่งเท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน รองลงมาคือการใช้เครื่องมือหรือแบบจำลองที่เป็นเกณฑ์ค่าเสียหายมาทำร้ายชาวบ้าน จึงไม่ใช่เรื่องแค่การฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี แต่ต้องทำให้เกิดการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและเครื่องมือที่ละเมิดว่ามีอะไรบ้าง
“ต่อจากนี้อนุกรรมการทั้ง 2 ชุด จะประสานกัน โดยในวันอังคารหน้าจะมีการหารือร่วมกับทีมกฎหมายถึงคดีต่างๆ และจะขอเวลาตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลอีก 1-2 เดือน หลังจากนั้นจะส่งต่อไปยังคณะกรรมการสิทธิฯ เพื่อสรุปเป็นความเห็นเสนอต่อศาลปกครองต่อไป” นพ.นิรันดร์ กล่าว
ทั้งนี้ ในช่วงเช้ากลุ่มชาวม้ง จาก อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ กว่า 10 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ กสม. กรณีถูกไล่ที่ทำกินซึ่งเป็นถิ่นฐานเดิมสมัยบรรพบุรุษ แต่ถูกประกาศให้เป็นที่ราชพัสดุ ส่งผลกระทบให้ต้องเปลี่ยนสถานะจากเจ้าของเป็นผู้เช่า โดย นพ.นิรันดร์ เป็นตัวแทนรับเรื่องดังกล่าวชงเข้าอนุกรรมการสิทธิชุมชนฯ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป.
หลักเกณฑ์แบบจำลองการคิดค่าเสียหายของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช