ย้อนดู 5 อย่างที่จะเปลี่ยนไป และคงอยู่หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
ทิศทางประเทศไทยในเรื่องสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง จะเปลี่ยนไป หรือคงเดิม อย่างไร หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี 2560
วันที่ 6 เม.ย. 2560 ถือเป็นอีกหนึ่งวันประวัติศาสตร์ ประเทศไทยมีพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560
ทิศทางของประเทศจะเดินไปทางไหนต่อ โดยเฉพาะในแง่สิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง
"ยิ่งชีพ อัชฌานนท์" ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน(iLaw) กางให้ดูว่า 5 ประการที่จะเปลี่ยนไป หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และ5 ประการที่จะยังคงอยู่ สุดท้ายกับอีก 5 ประการที่ยังพอเป็นความหวังในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
5 ประการที่จะเปลี่ยนไปหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
อันดับแรก ประเทศไทยจะมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
" แม้ว่าในรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่ามีระยะเวลาเท่าไหร่ แต่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีหลายๆ ท่านเคยให้สัมภาษณ์ในทำนองที่ว่ายุทธศาสตร์ชาติจะยาวยี่สิบปี"
โดยในรัฐธรรมนูญระบุว่า ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่เราทราบดีว่าก่อนรัฐธรรมนูญจะประกาศ ก็มีความพยายามในการดำเนินยุทธศาสตร์ชาติบางเเล้ว หลักฐานคือเราไม่รู้ว่าทำอะไรอยู่
ยุทธศาสตร์ชาติที่เราจะเห็นภายในหนึ่งปี คือการตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มีชื่อย่อสั้นๆ ว่า ป.ย.ป. ทั้งหมด4ชุด (อ่านประกอบ โครงสร้าง ป.ย.ป.-จับตา กก.ปรองดอง ‘บุญสร้าง-เอนก-สุจิต’ที่ปรึกษา )
อับดับที่สอง จะมีข้อกำหนดมาตรฐานจริยธรรม มากำหนดว่านักการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) จะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญเขียนว่าคนที่กำหนดมาตรฐานจริยธรรมคือ ศาลรัฐธรรมนูญร่วมกับองค์กรอิสระ โดยไม่มีช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วม
“รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนฉลาด เขาเขียนว่าตอนไปทำมาตรฐานจริยธรรมต้องถาม ส.ส. ส.ว.และครม.ก่อน แต่ขณะเดียวกันก็เขียนว่ามาตรฐานจริยธรรมต้อง จัดทำภายในหนึ่งปี ซึ่งภายในหนึ่งปี ส.ส. ส.ว. ยังไม่มี มีเพียง สนช.ที่ทำหน้าที่แทน เพราะฉะนั้นเราสามารถพูดได้อีกแง่หนึ่งว่า เขียนมาตรฐานโดยไม่ต้องถามใคร” ยิ่งชีพ กล่าว
อันดับที่สาม เราจะมีกฎหมายลูก10 ฉบับที่จะมากำกับการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. เกี่ยวกับพรรคการเมือง เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่องค์กรอิสระ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)จะเป็นคนเขียนทั้งหมด โดยไม่มีตรงไหนระบุว่า ประชาชนมีส่วนร่วมได้
“น่าเจ็บใจมากที่รัฐธรรมนูญผ่านมาโดยเซ็นต์เช็คเปล่าให้กรธ.ไว้ กรธ.เขียนรัฐธรรมนูญเองว่า ส.ว.มาจากการเลือกตั้งแบ่งกลุ่ม แต่ไม่บอกว่าแบ่งกลุ่มยังไง มีกี่กลุ่ม อย่างไรบ้าง แต่บอกว่าถ้ารัฐธรรมนูญผ่านเเล้ว กรธ.จะเขียนเองว่าจะแบ่งกลุ่มยังไง รวมถึงรายละเอียดอื่นๆ ด้วย การเลือกตั้ง ส.ส. การกำกับพรรคการเมือง ทั้งหมดนี้เมื่อรัฐธรรมนูญผ่านไปแล้ว กรธ.จะเขียนเอง ขั้นตอนที่ประชาชนมีอำนาจตัดสินคือขั้นตอนว่าเห็นชอบรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเมื่อเห็นชอบไปแล้ว หลังจากนี้จะเป็นเช็คเปล่าที่ กรธ.จะเขียนอะไรก็ได้” ยิ่งชีพกล่าว.
อันดับที่สี่ จะมีกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ต้องจัดทำภายใน 120 วันและเริ่มดำเนินการปฏิรูปประเทศภายในหนึ่งปี โดยคาดหวังว่าจะเห็นผลภายใน 5 ปี และจะมีการตั้งคณะปฏิรูปสองชุดคือ ปฏิรูปการศึกษา และปฏิรูปตำรวจ โดยเราก็ไม่รู้อีกเหมือนกันว่าใครจะเป็นคนตั้ง ซึ่งก็แน่นอนว่า คงต้องเป็น คสช. ส่วนการปฏิรูปก็จะปฏิรูปไปตามกรอบรัฐธรรมนูญที่วางไว้ และเชื่อว่าประชาชนหลายคนยังไม่ได้อ่าน เพราะต่อให้อ่านเเล้วก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่
“เรื่องหมวดปฏิรูปที่บอกว่า ปฏิรูปเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม ซึ่งเขียนแบบนี้ใครก็เขียนได้แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร การปฏิรูปก็จะเกิดขึ้น ตามรัฐธรรมนูญระบุว่าจะเห็นผล 5 ปี เราก็คงต้องรอดู” ยิ่งชีพกล่าว.
อันดับที่ห้า คือเรื่องการเลือกตั้งตามโร้ดแม๊ป จะเกิดขึ้นเมื่อไรเราไม่มีส่วนกำหนดเลย ถ้าใช้เวลาเต็มที่การเลือกตั้งจะอยู่ในช่วง เดือน กันยายน-ตุลาคม ปี 2561 ถ้าคสช.อยากอยู่อีกสักหน่อย ก็ให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โหวตคว่ำกฎหมายลูกสักฉบับ สองฉบับ ก็จะอยู่ได้อีกเป็นปี แต่ถ้าอยากเลือกตั้งเร็ว ก็จะเร่งเดือนมกราคมอาจจะเริ่มได้
“แต่อย่างไรก็ตาม ประชาขนไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดเลยว่าเราจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ ก็ได้แต่รอดู”
ทั้งหมดนี้คือ 5อย่างที่เขามองว่าจะเปลี่ยนไปหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยที่สุดท้ายประชาชนก็ไม่ส่วนร่วมอยู่ดี
ลำดับต่อมาคือ 5 อย่างที่จะ "ไม่" เปลี่ยนไป หลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
อันดับแรกคือ ประกาศคำสั่งของคสช. ทุกฉบับที่ออกมาเเล้วจะมีผลโดยชอบด้วยกฎหมาย และคงอยู่ตลอดไปจนกว่าจะมีประกาศยกเลิก ตามมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า บรรดาประกาศและคำสั่งทุกฉบับมีผลชอบด้วยกฎหมายตลอดไป แม้ว่าคสช.จะไม่อยู่เเล้วก็ตาม
ที่ผ่านมามีประกาศของคสช.ทั้งหมด 125 ฉบับ มีคำสั่งคสช.ทั้งหมด 207 ฉบับ มีคำสั่งเฉพาะ 1 ฉบับ มีคำสั่งหัวหน้าคสช. 148 ฉบับ มีคำสั่งหัวหน้าคสช.เฉพาะ 1 ฉบับ
“นี่เป็นโรงงานออกกฎหมายที่ยิ่งใหญ่มาก” ยิ่งชีพ กล่าวและว่า มีอย่างน้อย 54 ฉบับ ที่เราไม่เคยเห็น หมายถึงว่า ในเว็ปไซต์ของรัฐสภา หากเลื่อนลงมาดูในประกาศต่างๆ จะพบว่า มีบางเอกสารที่เว้นไว้ ไม่ระบุว่าคืออะไร
"ผมเคยโทรไปถามทางคณะกรรมการกฤษฎีกา และทางรัฐสภา เพื่อจะขอดูว่าที่หายไป คืออะไร พอโทรไปทุกคนก็ตกใจว่า ความจริงต้องมี ต้องเปิดเผย แต่ทุกคนหาไม่ได้ ว่าคืออะไร แต่ตัวเลขหนังสือออกไปแล้ว"
ยิ่งชีพ บอกว่า สิ่งเหล่านี้จะคงอยู่ต่อไป ตัวอย่างเช่น ประกาศ คสช.ที่ 103/57 ห้ามสื่อเอาคนมาสัมภาษณ์ในทางที่จะให้เกิดความขัดแย้ง หรือประกาศคำสั่งที่ 37 ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร ตอนนี้มีคดีเฉพาะการเมือง 50 คดีของพลเรือนที่อยู่ในศาลทหาร และมีคดีที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองแต่เป็นคดีที่พลเรือนต้องขึ้นศาลทหารอีก พันกว่าคดี
ประกาศ 40/2557 คสช.เรียกตัวคนให้ไปรายงานตัวราวพันกว่าคน ทุกคนก่อนจะปล่อยตัว ต้องเซ็นต์ข้อตกลง(MOU) ว่าจะไม่เคลื่อนไหวใดๆ เซ็นต์เเล้วหากฝ่าฝืนจะโดนจำคุกไม่เกินสองปี ประกาศฉบับนี้ยังใช้อยู่มีคนขึ้นศาล ต้องถูกพิจารณาคดีฐานฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัว
หรือคำสั่ง 13/2558 และ 13/2559 ให้อำนาจทหารควบคุมตัวได้ 7 วันในค่ายทหารโดยไม่ต้องเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว ซึ่งเป็นเงื่อนไขเสี่ยงต่อการซ้อมทรมานและบังคับให้สูญหาย
คำสั่ง 1/2557 แช่แข็งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่มีเลือกตั้ง อบต. อบจ. กทม.
คำสั่ง 3และ 4 /2559 ประกาศเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ที่นอกจากจะยึดเอาที่ดินชาวบ้านมาเเล้ว ยังยกเลิกผังเมือง เพื่อเปิดทางให้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษ
เขาบอกว่า นี่คือตัวอย่างของกฎหมายที่จะมีผลบังคับใช้ต่อไป แม้ว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เเล้วก็ตาม
อันดับที่สอง นั่นคือมาตรา 44 จะยังคงอยู่ จนกว่าจะตั้งรัฐบาลใหม่สำเร็จ เท่ากับว่า คสช.มีอำนาจในการใช้ม.44 ในการสั่งอะไรก็ได้ต่อเรื่อยๆ จนกว่ารัฐบาลใหม่จะเข้ามา
คำสั่งม.44 จนถึงวันนี้มีทั้งหมด 148 ฉบับ (5 เม.ย.2560) ซึ่งหลังจากนี้เราก็ไม่รู้ว่าจะออกอีกเมื่อไหร่ และออกอีกเท่าไหร่ เรื่องอะไรบ้าง ซึ่งเราไม่มีทางรู้ได้เลย
หากย้อนดูการใช้อำนาจม.44 พบว่าใช้โยกย้ายข้าราชการมาเเล้ว 46 ตำแหน่ง แต่งตั้ง 26 ตำแหน่ง และ ระงับการปฏิบัติหน้าที่ 321 ตำแหน่ง
"ม.44 ก็ใช้ครอบคลุมทุกเรื่องในประเทศตั้งแต่ ห้ามนั่งท้ายกระบะ ขาดเข็ดนิรภัย ปราบปรามยาเสพติด คุมราคาหวย ปฏิรูปการก๊ฬา ปฏิรูปการศึกษา แก้ปัญหานักเรียนตีกัน ปัญหาประมงเถื่อน แก้ปัญหาการสวมสิทธิ์ช้าง เป็นต้น ซึ่งม. 44 ก็ยังคงใช้ต่อไปภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่
อันดับที่สาม คือสนช. จะยังคงอยู่ต่อไปจนกว่าเราจะเลือกตั้ง และมีส.ส. ส.ว. มาทำหน้าที่
ทราบหรือไม่ว่า สนช.58% เป็นทหารหรือเป็นทหารเก่า หากรวมข้าราชการในทุกฝ่ายแล้วจะมีสัดส่วนมากถึง 80 กว่าเปอร์เซ็น และที่เหลือก็มาจากภาคส่วนอื่นๆ
และยังมีข้อมูลอีกว่า สนช.กว่า 75% เป็นคนอายุ 60 ปีขึ้นไป และไม่ได้ตัวแทนของกลุ่มประชากร หรือไม่ได้เป็นตัวแทนของความคิดเห็นของคนในสังคมทั้งหมดได้
"คนในสังคมมีเด็ก มีคนอายุ 30, 40 ปี ด้วย สนช.คนอายุมากสุด92 ปี คือ สมพร เทพสิทธา อดีตรองปลัดกระทรวงเศรษฐการ อายุ 92 ปี น้อยสุด คือ 51 ปี (สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์) สนช.ส่วนใหญ่คือข้าราชการที่เกษียนเเล้ว อายุโดยเฉลี่ยคือ 64 ปี นั่นคือคนที่มาออกกฎหมายให้กับเรา เป็นตัวแทนของคนกลุ่มเดียว ช่วงอาชีพเดียว"
ผจก.iLaw วิเคราะห์ข้อมูลพบอีกว่า สนช.จำนวนหนึ่งแม้จะรับเงินเดือน สนช. ก็รับเงินเดือนในตำแหน่งราชการอื่นด้วย และไม่เข้าประชุม ส่งใบลาเป็นว่าเล่น ในรอบการประชุม 90 วันที่ผ่านมา มีการลงมติ 200ครั้ง มีบางคนเข้าประชุมเพียงครั้งเดียว บางคนไม่เข้าเลย
“ผมไม่ได้ว่าท่านขี้เกียจ ท่านเอาเวลาส่วนใหญ่ไปทำงานในตำแหน่งอื่นของท่าน ท่านไม่ได้มีเวลามาคิดว่ากฎหมายที่จะออกเป็นอะไรอย่างไร แต่ท่านก็มารับเงินเดือน” ยิ่งชีพ กล่าวและว่า ระบบของสนช.คือคนที่มาออกกฎหมายส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ แล้วข้าราชการก็เป็นคนร่างกฎหมายเอง เสนอกฎหมายเอง สุดท้ายก็ไปเป็นกรรมาธิการในการพิจารณาเอง ลงมติโหวตเอง เมื่อกฎหมายบังคับใช้ก็เป็นคนใช้เอง เท่ากับว่าอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหารไม่ได้คานอำนาจกันอีกต่อไป กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และจริงๆ สามารถเรียกได้ว่า เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะว่ากฎหมายหลายฉบับ ก็เป็นการเพิ่มอำนาจให้กับราชการ กฎหมายหลายฉบับเป็นการขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการ ซึ่งข้าราชการที่ได้ขึ้นเงินเดือน ก็มาโหวตผ่านกฎหมายนั้นด้วย ถือว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน
“กฎหมายทุกวันนี้ก็ออกแบบนี้ สนช.ออกกฎหมายไปแล้ว 230 ฉบับ ภายในระยะเวลาสองปีกว่า เป็นมหกรรมการออกกฎหมาย”
กฎหมายเข้าไปกี่ฉบับ เห็นชอบหมด ไม่เคยตกแม้แต่ฉบับเดียว มีสิบฉบับที่ผ่านสามวาระรวดภายในวันเดียว
ฉบับที่เสียงแตกมากที่สุดคือเห็นชอบ ที่ 91% ที่เหลือเห็นชอบมากกว่า 91% ทั้งสิ้น
“เราไม่รู้เลยว่าออกอะไรกันบ้าง ในแง่เนื้อหา อย่างเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2560 เพิ่งผ่านพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการสรรหา กสทช.ให้มีทหารมีบทบาทมากขึ้น ให้ตุลาศาลเป็นคนสรรหา ก่อนหน้านี้มีข้อถกเถียงมากมายในพ.ร.บ.กำลังพลสำรอง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กฎหมายภาษีมรดกที่จะเก็บภาษีมรดก เฉพาะคนที่เสียร้อยล้านบาทขึ้นไป สุดท้ายจนวันนี้ก็ยังเก็บใครไม่ได้เลย”
ขณะที่กฎหมายในหลายๆ ฉบับที่ออกมามีปัญหา แต่ที่เด่นมากมีสองฉบับ นั่นคือ การแก้ไขกฎหมายค้ำประกัน จำนอง จำนำ หน่วยงานธนาคารออกมาคัดค้าน แต่ตอนแก้ไม่ฟัง พอค้านหลังจากแก้ไปแล้ว สุดท้ายก่อนวันที่จะมีผลบังคับใช้ ก็มีการแก้อีกครั้ง
อีกฉบับกฎหมาย ธุรกิจและสังคมปลอดภัย พอสนช.แก้ไปแล้ว ใช้ไปสักพักใช้ม.44 แก้ซ้ำไปอีก แสดงว่า ตอนออกกฎหมายไม่ได้คิดให้รอบคอบ และการทำงานแบบนี้ก็จะเป็นไปเรื่อยๆ แม้ว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะประกาศใช้เเล้ว
อันดับที่สี่ คือ สภาปฏิรูปขับเคลื่อนประเทศ (สปท.) ยังคงมีอยู่และทำงานต่อไปจนกว่าจะออกกฎหมายปฏิรูปเสร็จ
ยิ่งชีพ ชวนให้ลองดูว่า ที่ผ่านมา สปท.ทำอะไรไปบ้าง พบว่าหากไล่ดู ผลงานสปท.จะพบว่า ไม่มีอะไรเลย
“สปท.ทำงานมาตั้งแต่ ตุลาคมปี 2558 จนวันนี้ ไม่มีอะไรเลย แต่พูดแบบยุติธรรม สปท.ไม่มีอำนาจอะไรเลยตามกฎหมาย คือเขาอยากทำอะไร ร่างเสร็จเเล้ว ต้องเสนอให้สนช.หรือ คสช.พิจารณาอีกที ถ้าคนอื่นไม่เอาเขาก็ไม่ได้อะไร นอกจากเงินเดือน แสนกว่าบาท ข้อเสนอที่ดังที่สุดคือ พ.ร.บ.ควบคุมสื่อ ที่โดนค้านอย่างหนักจากสื่อมวลชน” ยิ่งชีพ ระบุ
มาที่อันดับสุดท้ายของสิ่งที่จะยังคงอยู่แม้ว่าจะประกาศรัฐธรรมนูญไปแล้ว นั่นคือ คสช.
ผจก.iLaw บอกว่า คสช.จะยังคงอยู่กับเราต่อไปได้อีก 8-9 ปี จะอยู่จนกว่าเราจะเบื่อ ถ้าเรายังไม่เบื่อก็จะหาวิธีกลไกทางกฎหมายต่ออำนาจให้อยู่ได้ต่อไปเรื่อยๆ
มาสู่ 5 ประเด็นที่เป็นความหวังต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
อันดับแรกนั่นคือประชาชนจะมีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เราเคยมีตั้งแต่ 2540 มาเรื่อยๆ และถูกยกเลิกไปพร้อมกับการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 หลังจากนี้ เราจะมีสิทธิเข้าชื่อหนึ่งหมื่นชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายอะไรก็ได้ หรือยกเลิกกฎหมายอะไรก็ได้ มีสิทธิยกเลิกแก้รัฐธรรมนูญได้โดย ห้าหมื่นชื่อ แต่เสนอไปแล้วจะแก้ได้ไม่ได้อีกเรื่องหนึ่ง
ประสบการณ์ตั้งแต่ปี 2540-2550 ประชาชนเคยเสนอกฎหมาย 50 ฉบับ ผ่านได้จริง 2 ฉบับ แต่ทั้งฉบับก็ไม่ได้มีเนื้อหาเหมือนที่เสนอ เคยเสนอร่างรัฐธรรมนุญ 2 ครั้งแต่ไม่ผ่านเลย
อันดับที่สองคือ เราจะมีสิทธิ์ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้มีบทบัญญัติให้ประชาชนยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ถ้าหากพบว่ามีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของเรา และอยากให้ศาลคุ้มครอง แต่ว่ามีบทบัญญัติในเรื่องชัดเจนในรัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศใช้ 2560 นี้
อันดับที่สาม สี่ ห้ายิ่งชีพ เห็นว่า ไม่มีเเล้ว หาความหวังได้แค่เพียงแค่สองอันดับ
ก็คงต้องรอดูต่อไปโดยเฉพาะในประเด็นว่า ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ จะตามโร้ดแม๊ปไหมอย่างไร
อ่านประกอบ นักวิชาการ มธ. มองประเทศไทยยังไม่เปลี่ยนจนกว่ามีเลือกตั้ง
หมายเหตุภาพประกอบ อินโฟกราฟฟิกจาก iLaw