เล็งยกเลิก สารเคมีอันตราย 2 ชนิด พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส
คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง มีมติเตรียมยกเลิก สารเคมีอันตราย 2 ชนิด คือ สารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส มีผลในสิ้นเดือนธันวาคม 2562 ส่วนสารไกลโฟเสต ให้จำกัดการใช้อย่างเข้มงวด
วันที่ 5 เม.ย.2560) กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ครั้งที่ 4/2560 ประกอบด้วยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตร กระทรวงอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิการศึกษาไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยวันนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการจัดการปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 3 ตัว ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต เพื่อให้ประชาชนในประเทศทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย
ศ.คลิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้ได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิด คือพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2562 ซึ่งสารทั้ง 2ตัวนี้ถูกกำหนดเป็นวัตถุอันตรายชนิด 4 ที่ไม่อนุญาตให้มีการใช้ โดยหน่วยงานที่ควบคุมกำกับคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมวิชาการการเกษตร ระหว่างนี้จะไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนเพิ่มและไม่ต่ออายุทะเบียน ยุติการนำเข้าเดือนธันวาคม2561 เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการและเกษตรกร มีเวลาเตรียมตัวหาทางเลือกอื่นและจัดการกับผลิตภัณฑ์คงค้างในตลาด ทั้งนี้ สารพาราควอต เป็นสารกำจัดวัชพืชที่มีการใช้ 29.8 ล้านกิโลกรัม ในปี 2558 มีพิษเฉียบพลันสูง และยังไม่มียาถอนพิษ 47 ประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้แล้ว ส่วนคลอร์ไพริฟอส เป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืช ผลิตภัณฑ์ในบ้านเรือนกำจัดมด ปลวก เห็บแมลงสาบ สารตัวนี้พบตกค้างสูงสุดในกลุ่มสารกำจัดแมลง ทำให้เกิดความผิดปกติด้านพัฒนาสมอง ไอคิวเด็กลดลง สมาธิสั้น หลายประเทศห้ามใช้ในบ้านเรือน ผักผลไม้
สำหรับ (ร่าง)แผนปฎิบัติการเพื่อลด ละ เลิก การใช้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส มีดังนี้ 1.กำหนดเพดานปริมาณการนำเข้า อ้างอิงจากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี 2.ให้บริษัทรายงานปริมาณการนำเข้า ปริมาณการขายและปริมาณคงค้างแก่กรมวิชาการการเกษตรและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาทุก 3 เดือน 3.บริษัทเรียกคืนผลิตภัณฑ์คงค้างในตลาดให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคม 2562 4.เฝ้าระวัง/สุ่มตรวจร้านค้า และเฝ้าระวังการตกค้างในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม
ในส่วนสารไกลโฟเสตเป็นสารกำจัดวัชพืช หรือยาฆ่าหญ้าที่มีปริมาณนำเข้าสูงสุด 58.1ล้านกิโลกรัมและมีการใช้ในประเทศ 57.6 ล้านกิโลกรัม ในปี 2558 องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ให้เป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็ง มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเพิ่มมากขึ้น 22 โรค เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัลไซเมอร์ เป็นต้น ที่ประชุมมีข้อเสนอให้บังคับใช้กฏหมายที่มีอยู่โดยจำกัดการใช้อย่างเข้มงวด ดังนี้ 1.ห้ามใช้สำหรับเกษตรกรในพื้นที่สูงและพื้นที่ต้นน้ำ 2.ห้ามใช้ในบริเวณแม่น้ำ ลำคลองและแหล่งน้ำในพื้นที่ใกล้เคียง 3.ห้ามใช้ในพื้นที่สาธารณะ 4.ห้ามใช้ในเขตชุมชนโดยจะมีการให้ความรู้/สร้างความเข้าใจ/มาตรการการส่งเสริมและสนับสนุนให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐผู้ประกอบการ เกษตรกร ก่อนที่จะออกประกาศเงื่อนไขพื้นที่ห้ามใช้ และเขตห้ามใช้ต่อไป