ทำไม "ส้มแก้ว" ถึงมีมากที่ ต.บางสะแก จ.สมุทรสงคราม
“ชาวบ้านให้ข้อมูลตรงกันว่า เมื่อก่อนเคยให้ชาวบ้านที่อื่นนำส้มแก้วไปปลูกเหมือนกัน แต่ไม่ขึ้น เป็นเพราะพื้นที่บ้านบางสะแกมีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีน้ำล้อมรอบคล้ายๆ เกาะ ดินบริเวณนี้จึงมีน้ำท่วมขังอยู่ตลอดเวลา และมีการพัดพาแร่ธาตุเข้ามา ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์กว่าที่อื่น ส้มแก้วจึงเจริญเติบได้ดี”
ด้วยระบบการศึกษาในปัจจุบันที่มุ่งไปที่การแข่งขันกันเรียนให้ได้เกรดดีๆ และมีงานทำที่ดี ส่งผลให้เด็กและเยาวชนไทยส่วนใหญ่ห่างไกลจากชุมชนถิ่นเกิด หลายคนหลงลืมสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในชุมชน จนไม่เห็น “คุณค่า” ของดีในแผ่นดินถิ่นเกิดของตนเอง
แต่วันนี้มีเด็กและเยาวชนกลุ่มหนึ่งจากตำบลบางสะแก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม อาสาเอาตัวและหัวใจเข้ามาเรียนรู้เรื่อง “ส้มแก้ว” ผลไม้ขึ้นชื่อของตำบล จนเกิดความตระหนักรู้และรักในส้มแก้วเต็มหัวใจ
สมุทรสงคราม หรือเมืองแม่กลอง เมืองที่มี “ระบบนิเวศ 3 น้ำ” ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม จึงทำให้พื้นที่แห่งนี้มีสภาพน้ำสมบูรณ์ตลอดปี มีดินที่สมบูรณ์จากแร่ธาตุ เหมาะสมต่อการประกอบอาชีพเลี้ยงปากท้องด้วยการประมง และการเกษตร จนทำให้มีผลผลิตที่มีเอกลักษณ์หลายอย่าง คนส่วนใหญ่อาจคุ้นเคยกับส้มโอขาวใหญ่ ลิ้นจี่ หรือปลาทูที่มีลักษณะเฉพาะถิ่นคือหน้างอคอหัก
นอกจากนี้ยังมี “ส้มแก้ว” ผลไม้ที่ชื่ออาจไม่คุ้นหูคนทั่วไปนัก เพราะมีความพิเศษตรงที่ปลูกได้เฉพาะในพื้นที่ตำบลบางสะแก อำเภอบางคนที โดยเนื้อส้มจะมีรสชาติคล้ายส้มเขียวหวาน แต่หวานฉ่ำและลูกโตกว่า เมื่อผลสุกจะมีสีทองสวยงาม จนคนในพื้นที่นิยมนำมาเป็นผลไม้มงคลใช้ประกอบพิธีไหว้เจ้า
ทว่าส้มแก้วกลับลดจำนวนน้อยลงทุกที เนื่องจากเป็นพืชที่ดูแลยาก และออกผลเพียงปีละครั้ง
เยาวชนกลุ่มหนึ่งในตำบลบางสะแก ประกอบด้วย อ้อม-ปภาวดี บุญมาก กิ๊ก-นวพล กอสนาม จอย-บุษยากร รุ่งอุทัย เจมส์-อาทิตย์ ตาลประเสริฐ และศุดารัตน์ ศรีสุวรรณ มองว่า หากปล่อยให้สถานการณ์ส้มแก้วเป็นเช่นนี้ต่อไป พวกเขาอาจเป็นคนรุ่นสุดท้ายที่ได้เห็นส้มแก้ว จึงรวมตัวกันทำ “โครงการส้มแก้วต้อง STRONG” ภายใต้โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยหวังว่าจะช่วยเป็นกำลังใจให้ชาวสวนไม่เลิกปลูกส้มแก้ว และเป็นแรงบันดาลใจให้คนในชุมชนหันกลับมาช่วยกันอนุรักษ์ส้มแก้วมากขึ้น
“เมื่อก่อนชาวสวนนิยมปลูกส้มแก้วแซมในสวน แต่เพราะเป็นพืชที่ดูแลยาก ออกผลปีละครั้ง เมื่อต้นไหนตายจึงไม่มีการปลูกเพิ่ม ส้มแก้วจึงยิ่งเหลือน้อยลงทุกที” อ้อม เล่าถึงความห่วงใยทีมีต่อของดีในบ้านเกิด จนไม่อาจนิ่งเฉยให้ส้มแก้วหายไป
ทั้งหมดเริ่มต้นการทำงานโดยพากันไปเรียนรู้เรื่องส้มแก้วที่บ้านของกิ๊ก สมาชิกในทีมที่ปลูกส้มแก้วแซมอยู่ในสวน พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ ถ้าปีไหนส้มแก้วให้ผลดี ปีถัดไปต้นจะโทรม และออกผลน้อยลง แต่การจะรู้จริงได้ต้องสอบถามข้อมูลจากชาวสวนโดยตรง ดังนั้น เมื่อมีการประชุมชาวบ้านที่ อบต.บางสะแก ทีมงานจึงใช้โอกาสนี้สอบถามข้อมูลจากชาวบ้านที่มาร่วมประชุม ซึ่งมีทั้งคนที่ปลูกและคนที่เลิกปลูกส้มแก้วแล้ว
คำตอบที่ได้ทำให้ทีมงานเข้าใจ “เหตุผลที่คนเลิกปลูกส้มแก้ว” ว่า การปลูกส้มแก้วมีวิธีการดูแลที่ยุ่งยาก ต้องปลูกในที่ร่ม ต้องห่อผลด้วยใบตองเพื่อให้ได้ผลสีทองสวยงาม และยังต้องคอยระมัดระวังแมลงศัตรูพืช แถมยังใช้เวลาประคบประหงมดูแลมากเป็นพิเศษ
ขณะที่เก็บผลผลิตได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ชาวบ้านจึงหันไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน
ส่วนกลุ่มชาวสวนที่ยังคงปลูกส้มแก้วบอกว่า “แม้ขั้นตอนการดูแลจะมาก แต่ก็คุ้มกับผลตอบแทนที่ได้รับ เพราะส้มแก้วราคาดี”
การลงพื้นที่ครั้งนี้นอกจากทีมงานจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับส้มแก้วแล้ว ยังช่วยเติมกำลังใจให้ชาวบ้านได้รับรู้ว่า มีเยาวชนกลุ่มหนึ่งสนใจเรื่องราวของส้มแก้ว
จากนั้นทีมงานได้นำข้อมูลจากการพูดคุยมาวาดลงแผนที่ทำหมุดหมายสวนที่มีส้มแก้ว และพบว่า ขณะนี้ที่ตำบลบางสะแกเหลือสวนที่ปลูกส้มแก้วเป็นพืชหลักเพียง 7 แห่งเท่านั้น แต่ข้อมูลที่ได้ยังไม่เพียงพอต่อการฟื้นชีวิตส้มแก้วให้กลับคืนมาอีกครั้ง
ทีมงานบอกว่า ก่อนจะจูงใจคนอื่นให้มารักส้มแก้ว พวกเขาต้องเข้าใจส้มแก้วอย่างลึกซึ้ง ทั้งเรื่องราวเชิงกายภาพและความรู้สึกรักส้มแก้วในหัวใจของพวกเขาเอง จึงเชิญชาวบ้านที่ยังปลูกส้มแก้วมาประชุมเป็นการเฉพาะ ซึ่งชาวบ้านก็ให้ข้อมูลเต็มที่ ทั้งความเป็นมาของส้มแก้ว การปลูก การดูแล การเก็บเกี่ยว ตลอดจนปัจจัยเอื้อที่ทำให้บางสะแกเป็นพื้นที่เดียวในจังหวัดที่สามารถปลูกส้มแก้วได้ก็ถูกคลี่คลายให้หายสงสัย
“ชาวบ้านให้ข้อมูลตรงกันว่า เมื่อก่อนเคยให้ชาวบ้านที่อื่นนำส้มแก้วไปปลูกเหมือนกัน แต่ไม่ขึ้น เป็นเพราะพื้นที่บ้านบางสะแกมีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีน้ำล้อมรอบคล้ายๆ เกาะ ดินบริเวณนี้จึงมีน้ำท่วมขังอยู่ตลอดเวลา และมีการพัดพาแร่ธาตุเข้ามา ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์กว่าที่อื่น ส้มแก้วจึงเจริญเติบได้ดี” อ้อม ถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับฟังจากชาวบ้าน
เมื่อได้ข้อมูลกระจ่าง ทีมงานเลือกลงพื้นที่สวนของผู้ใหญ่เสงี่ยม ทรงหิรัญ ซึ่งเป็นสวนส้มแก้วครบวงจร ทั้งจำหน่ายพันธุ์และผลส้มแก้ว โดยศึกษาตั้งแต่การเพาะพันธุ์ การปลูก การเก็บเกี่ยว และเทคนิคในการดูแลส้มแก้วเล็กๆ น้อยๆ เช่น การเอาเกลือโรยรอบต้นเพื่อปรับสภาพดิน การรดน้ำ การใช้ปุ๋ยชีวภาพ จนได้ข้อมูลเกินกว่าที่ทีมงานตั้งใจไว้มาก
จากพืชพันธุ์ที่ไม่เคยรู้จักอย่างลึกซึ้งในวันวาน วันนี้ความรู้เกี่ยวกับส้มแก้วกลับฝังอยู่ในเนื้อในตัวของทีมงาน พวกเขาจึงนำข้อมูลจากการสอบถามชาวบ้าน และจากการลงศึกษาพื้นที่จริงมาเรียบเรียงเป็นไทม์ไลน์ (Timeline) บอกเล่าเรื่องราวของส้มแก้วที่ถูกนำมาปลูกในเมืองไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 เพื่อใช้จัดเวทีคืนข้อมูลสู่ชุมชน ด้วยหวังใจว่า การเปิดเผยข้อมูลที่ได้ศึกษามาจะกระตุ้นให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าของส้มแก้ว และหันกลับมาปลูกมากขึ้น
ความหวังของส้มแก้วเริ่มเห็นแววอันสดใส ขณะที่เยาวชนคนทำงานเองก็เริ่มส่องประกายความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางบวกจากการได้ “เรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริง” ในโครงการ โดย “ความกล้า” เป็นทักษะที่ทีมงานทุกคนถูกพัฒนาขึ้นทั่วหน้า จากสิ่งที่ไม่เคยทำก็ได้ทำ จากที่ไม่เคยพูดก็ได้พูด รู้จักการสร้างปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้านจนเกิดเป็นสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเด็กและผู้ใหญ่
กิ๊กบอกว่า “โครงการนี้ทำให้รู้เธอจักบ้านเกิดของตนเองมากขึ้น สนิทสนมกับคนในชุมชนกว่าแต่ก่อน”
ส่วนอ้อมบอกว่า การได้เรียนรู้วิถีชาวสวน ทำให้เธอหันมาช่วยเหลือครอบครัวทำสวนมากขึ้น จากเมื่อก่อนตอนแม่ชวนไปสวนก็ไปบ้างไม่ไปบ้าง เพราะเหนื่อยและร้อน แต่ตอนนี้แม้จะเหนื่อยร้อนแค่ไหนก็อยากไปช่วยแม่ เพราะอยากแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ และอยากนำความรู้ที่ได้รับมาปรับปรุงสวนให้ดีขึ้นด้วย นอกจากนั้น การรับผิดชอบต่อการทำงานในโครงการยังฝึกให้เธอรู้จัก “รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเอง” โดยสามารถจัดการแบ่งเวลาระหว่างการเรียนกับการทำกิจกรรมได้เป็นอย่างดี
“ระหว่างทำโครงการก็โดนเพื่อนในห้องเรียนทักท้วงตลอดว่า น่าจะทุ่มเทให้กับการเรียนมากว่า เพราะอยู่ ม.6 แล้ว ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยอีก แต่หนูคิดว่านี่ก็คือการเรียนอย่างหนึ่ง ความรู้ในหนังสือ ถ้าเราอ่านเราก็ได้ความรู้ แต่ความรู้นอกหนังสือ ถ้าเราไม่เอาตัวไปเรียนรู้ เราก็จะไม่รู้ ถึงต้องมีภาระเพิ่มเป็น 2 เท่านอกจากในห้องเรียน แต่หนูมั่นใจว่าจะสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ เพราะหลังกลับจากการเข้าทำกิจกรรม ก็จะอ่านหนังสือเรียนหรือทำการบ้านที่ค้างไว้ให้เสร็จเสมอ”
การทำงานสร้างผลกระทบทางใจแก่ทีมงานทุกคนที่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าไม่มีโครงการนี้คงไม่รู้เรื่องส้มแก้วขนาดนี้ เพราะคงไม่สนใจบ้านตนเอง ไม่สนใจว่าตำบลตนเองมีอะไรดี ไม่สนใจว่า ทำไมส้มแก้วมีมากแต่ที่ตำบลบางสะแกเท่านั้น สำนึกรักถิ่นกำเนิดถูกปลุกให้ลุกโชนหยั่งรากอย่างเข้มแข็งลงในหัวใจของทีมงาน เช่นเดียวกับผลกระทบจากการทำงานของทีมงานที่ได้สร้างความยินดีแก่ชาวสวนในพื้นที่ ที่คนรุ่นใหม่สนใจการเกษตรที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องคนในชุมชน และเกิดความภาคภูมิใจในอาชีพชาวสวนส้มแก้วของตน จนคาดหวังได้ว่าอนาคตของส้มแก้วคงไม่เลือนหายไปจากบางสะแกอย่างแน่นอน