ชัด ๆ หนังสือ 13 รองอธิการฯมหิดลไขก๊อกก่อนต้องยื่นทรัพย์สิน ป.ป.ช. แค่ 2 วัน
“การลาออกของทั้ง 13 ท่าน ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะอาจไม่ชินกับการยื่นบัญชีทรัพย์สิน และอาจมองว่าการกำหนดของ ป.ป.ช.ไปกำหนดกลางวาระน่าจะใช้วาระต่อไป จึงเห็นว่าเป็นการกระทำที่บริสุทธิ์ใจ เพราะอยู่ในแวดวงวิชาการไม่เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินมาก่อน"
กลายเป็นประเด็นที่สาธารณชนให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง !
กรณีรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลจำนวน 13 ราย ขอลาออกพ้นจากตำแหน่ง ภายหลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกประกาศให้ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่รัฐต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเพิ่มเติมรวม 69 ตำแหน่ง โดยกำหนดให้รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วย มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2560
อย่างไรก็ดีรองอธิการบดีทั้ง 13 รายดังกล่าว ได้ขอลาออกโดยให้มีผลเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2560
หรือก่อนที่ประกาศ ป.ป.ช. มีผลบังคับใช้แค่เพียง 2 วันเท่านั้น
ขณะเดียวกันมีสื่อหลายสำนักอ้างแหล่งข่าวจากมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า สาเหตุที่รองอธิการบดีทั้ง 13 รายดังกล่าว ขอลาออก เนื่องจากไม่ต้องการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ?
ไม่ว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบหนังสือคำสั่งมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ 976/2560 เรื่อง ให้พนักงานมหาวิทยาลัยลาออกจากตำแหน่งประเภทผู้บริหาร ที่ ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ลงนาม ให้รองอธิการบดีทั้ง 13 ราย ลาออก พบว่า ทั้ง 13 ราย ขอลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2560 หรือก่อนประกาศ ป.ป.ช. มีผลบังคับใช้เพียงแค่ 2 วันเท่านั้น ทั้งที่ตามวาระการดำรงตำแหน่ง (ตามอธิการบดี) จะสิ้นสุดลงในวันที่ 26 ก.พ. 2562 หรืออีกประมาณ 2 ปีต่อจากนี้ (ดูเอกสารประกอบ)
อย่างไรก็ดีแม้รองอธิการบดีทั้ง 13 รายดังกล่าวจะลาออกแล้ว แต่อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลได้ลงนามในหนังสือมหาวิทยาลัยมหิดลที่ 977/2560 แต่งตั้งทั้ง 13 รายดังกล่าวให้รักษาการรองอธิการบดีต่อไป
สำหรับรายชื่ออดีตรองอธิการบดีทั้ง 13 ราย มีดังนี้ 1.ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ รองอธิการบดี 2.รศ.นพ.ประดิษฐ์ สมประกิจ รองอธิการบดีฝ่ายการคลังและแผนงาน 3.ศ.คลินิก นพ.โชคชัย เมธีไตรรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร 4.ศ.ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ 5.ศ.คลินิก นพ.สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา 6.รศ.นพ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล 7.รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
8.รศ.นพ.ปรีชา สุนทรานันท์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ 9.รศ.ดร.ภก.สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ 10.ดร.บุญนิตย์ มัธยมจันทร์ รองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศ 11.ผศ.เชิญโชค ศรขวัญ รองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตกาญจนบุรี 12.นพ.หรรษา แต้ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ 13.นพ.เกษตร อมันตกุล รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์
อย่างไรก็ดีประเด็นดังกล่าว ศ.คลินิก นพ.อุดม ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนหลายสำนักว่า เป็นอำนาจการตัดสินใจของแต่ละบุคคล ไม่สามารถก้าวล่วงได้ การทำงานในส่วนของรองอธิการบดีเป็นตำแหน่งวิชาการนอกเหนือจากงานสอน ไม่เหมือนตำแหน่งรองอธิบดีกรม หรือกระทรวงที่หลายฝ่ายมองว่าเทียบเท่า
ส่วนประเด็นการลาออกเพราะไม่ต้องการยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้น ขอให้มองเป็นเรื่องสิทธิ ป.ป.ช. มีสิทธิที่จะตรวจสอบ แต่เมื่อบางรายมองว่าไม่เป็นธรรม และไม่ทันได้ตั้งตัว หรือไม่สบายใจ เป็นสิทธิ์ที่จะลาออก ไม่สามารถบังคับกันได้
ด้านความเห็นจากหน่วยงานตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินอย่าง ป.ป.ช. โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า ประกาศ ป.ป.ช. ที่ให้ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นบัญชีทรัพย์สินเพิ่มเติมนั้น ไม่ได้จ้องจับผิดใคร แต่ทำเพื่อป้องปราม และดำเนินการอย่างสร้างสรรค์ พร้อมยืนยันไม่ได้เปิดเผยให้ประชาชนทราบ
“การลาออกของทั้ง 13 ท่าน ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะอาจไม่ชินกับการยื่นบัญชีทรัพย์สิน และอาจมองว่าการกำหนดของ ป.ป.ช.ไปกำหนดกลางวาระน่าจะใช้วาระต่อไป จึงเห็นว่าเป็นการกระทำที่บริสุทธิ์ใจ เพราะอยู่ในแวดวงวิชาการไม่เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินมาก่อน" เป็นคำยืนยันจากประธานกรรมการ ป.ป.ช.
(อ่านประกอบ :แค่ไม่ชิน! ป.ป.ช.ยัน 13 รองอธิการฯไขก๊อกก่อนยื่นทรัพย์สินบริสุทธิ์ใจเหตุอยู่ในวงวิชาการ)
กรณีดังกล่าวจะเป็น ‘ช่องโหว่’ ให้ข้าราชการ (ที่ไม่ต้องการเปิดบัญชีทรัพย์สินเพื่อความโปร่งใส) อีกหลายคนทำตามหรือไม่ ต้องติดตามมาตรการจาก ป.ป.ช. ต่อไป