ซีพีเอฟ หนุนจุฬาฯ จัดการแข่งขัน 'ชีววิทยาโอลิมปิก ระดับชาติ ครั้งที่ 14'
รองศาสตราจารย์ ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับมอบเงินสนับสนุนจาก นางภัทนีย์ เล็กศรีสมพงษ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายงานวิชาการอาหารสัตว์บก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เพื่อใช้ในการจัดการแข่งขัน “ชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 14” ในระหว่างวันที่ 12-16 เมษายน 2560
รศ.ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช เปิดเผยว่า เนื่องจากปี 2560 นี้เป็นวาระของการเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้รับเกียรติจากมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ มูลนิธิ สอวน. ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน “ชีววิทยาโอลิมปิก ระดับชาติ ครั้งที่ 14” เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ให้มีโอกาสได้รับการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ ทำให้นักเรียนสามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ และแก้ปัญหาได้ ถือเป็นการช่วยยกระดับมาตรฐานการศึกษาด้านชีววิทยาในโรงเรียนให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ
“การแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกฯ เป็นการคัดเลือกและเตรียมความพร้อมผู้แทนประเทศไปร่วมแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับนานาชาติ ครั้งที่ 28 ที่ประเทศอังกฤษ สำหรับการแข่งขันระดับชาติในครั้งนี้ ซีพีเอฟได้ร่วมสนับสนุนการจัดงาน จากการให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการศึกษาและได้สนับสนุนกิจกรรมของจุฬาฯ มาโดยตลอด ก่อนหน้านี้ร่วมจัดตั้ง ศูนย์วิทยาศาสตร์โอมิกส์และชีวสารสนเทศ พร้อมมอบเครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อศึกษาโมเลกุล ที่มีส่วนช่วยพัฒนาผลงานวิจัยแบบก้าวกระโดด” รศ.ดร.พลกฤษณ์ กล่าว
ด้าน นางภัทนีย์ เล็กศรีสมพงษ์ กล่าวว่า ซีพีเอฟมุ่งมั่นค้นคว้าและวิจัยเพื่อให้ได้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการผลิตอาหารที่ช่วยทั้งด้านพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพ ให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพและความปลอดภัย ในโรงงานผลิตอาหารสัตว์และโรงงานแปรรูปอาหาร มีห้องปฎิบัติการและอุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบก่อนนำเข้าสู่กระบวนการผลิต ขณะเดียวกัน ยังมุ่งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านความรู้และเทคโนโลยีแก่สถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ เพื่อสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ ตลอดจนมีผลงานวิจัยที่มีคุณูปการต่อประเทศไทย รวมถึงการสนับสนุนกิจกรรมของสถาบันการศึกษาต่างๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพของนักเรียน นักศึกษา และคณาจารย์ เพื่อการพัฒนาการศึกษาของไทยอย่างยั่งยืน
“ซีพีเอฟยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกฯในครั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถและศักยภาพของเยาวชนไทย ทั้งยังเป็นการเปิดเวทีให้นักเรียนและคณาจารย์ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ที่สามารถนำไปใช้ในการเรียนหรือปรับปรุงการสอน รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรให้ดียิ่งขึ้น” นางภัทนีย์ กล่าว