ผู้นำแรงงานนอกระบบ ดันแผนยุทธศาสตร์ยกระดับคุณภาพชีวิต
ผู้นำแรงงานเรียกร้องภาครัฐทำงานให้จริงจังเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ ระบุ ขณะนี้แรงงานนอกระบบมีจำนวน 21 ล้านคน ยังขาดหลักประกันทางสังคม หวังแผนยุทธศาสตร์ฯ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ช่วยให้แรงงานมีความปลอดภัยในการทำงาน
วันที่ 4 เม.ย. 2560 ที่โรงแรม เซนจูรี่ พาร์ค ดินแดง กรุงเทพฯ กระทรวงแรงงาน ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2560-2564 สู่การปฏัติ เพื่อทำแผนกลยุทธการขับเคลื่อนงานในจังหวัดต้นแบบร่วมกับภาคีเครือข่าย และนำไปสู่การบันทึกข้อตกลงร่วมเพื่อการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 2 สู่การปฏิบัติอย่างมีพลัง สร้างสรรค์ และสานพลังประชารัฐร่วมกัน โดยมีตัวแทนแรงงานนอกระบบจาก 16 จังหวัด และเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานเกี่ยวข้องกับแรงงานนอกระบบ เข้าร่วมกว่า 150 คน
น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวถึงแรงงานนอกระบบ คือ คนจน และยังเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศไทย เพราะมีถึง 21 ล้านคน แต่ปรากฏว่า แรงงานนอกระบบกลับเป็นกลุ่มที่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานน้อยมาก ทำให้ขาดความมั่นคงในการทำงาน ขาดหลักประกันสังคม ไม่มีศักยภาพในการเข้าถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่มีองค์กรตัวแทนทำให้ขาดอำนาจการเจรจาต่อรอง รวมทั้งขาดความรู้ความเข้าใจในตัวตน สิทธิ กฎหมายและสุขภาพความปลอดภัยในการทำงานที่พึงมีพึงได้รับในฐานะเป็นกำลังแรงงของประเทศ
น.ส.อรุณี กล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนนอกระบบ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้การพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ ให้มีความชัดเจนทั้งในเรื่องการคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนา โดยการประสานความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 9 กระทรวง 20 หน่วยงาน ใน 3 ยุทธศาสตร์หลักได้แก่ 1.การสร้างหลักประกันความมั่นคงทางสังคม 2.การเสริมสร้างองค์ความรู้เพื่อขยายโอกาสมีงานทำ และ 3.การพัฒนาสมมรรณะการบริหารจัดการ ซึ่งปัจจุบันการดำเนินงานอยู่ในช่วงเริ่มต้นของแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2560-2564
“เพราะฉะนั้นต้องมีการบูรณาการ นำร่องในพื้นที่ 16 จังหวัด โดยภาครัฐกับภาคประชาชน อย่างแกนนำแรงงานนอกระบบทำงานร่วมกัน ทั้งเรื่องสิทธิประโยชน์ เรื่องการรวมกลุ่ม เรื่องความปลอดภัยในการทำงานคุณภาพชีวิตต่างๆ” น.ส.อรุณี กล่าว และย้ำว่า ขณะนี้ภาคประชาชนพร้อมแล้ว ภาครัฐพร้อมที่จะทำงานร่วมกับประชาชนหรือยัง
ขณะที่ นางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ กทม. กล่าวถึงปัญหาของแรงงานนอกระบบ นอกจากเรื่องค่าตอบแทนไม่เป็นธรรมแล้ว ยังมีปัญหาสุขภาพอันเนื่องจากความปลอดภัยในการทำงาน เช่น แรงงานที่เอางานมาทำที่บ้าน งานบางอย่างมีสารเคมีเจือปน มีฝุ่นฝ้ายที่จะทำให้มีผลต่อสุขภาพ ทั้งตัวของแรงงานเองและคนในครอบครัว
“อยากเห็นแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 2 ทำอย่างจริงจัง แรงงานนอกระบบจะได้มีอาชีพมั่นคง มีความปลอดภัย เข้าถึงหลักประกันสังคม ส่งเสริมการออมตอนแก่จะได้มีเงินไว้ใช้บ้าง เราอยากเห็นเรื่องเหล่านี้ปฏิบัติได้จริง โดยร่วมมือระหว่างรัฐและภาคประชาชน” นางสุจิน กล่าว
หมายเหตุ : ภาพประกอบบางส่วนจาก sadathailand.org