ปลัด ก.วัฒนธรรม แนะ “ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง” จัดการศึกษาชุมชนชาติพันธุ์
วธ.ลงพื้นที่เก็บข้อมูลฟื้นฟูวิถีชนเผ่า เผยพบปัญหาหลักสูตรกลาง ก.ศึกษาฯ ขัดแย้งหลักสูตรท้องถิ่น เป็นเหตุวัฒนธรรมสูญหาย แนะกำหนดเกณฑ์ใหม่ยึดพื้นที่เป็นตัวตั้งเช่นเดียวกับโรงเรียนตาดีกาชายแดนใต้ โอนการศึกษาให้ อปท. เตรียมนำปัญหาเสนอรัฐบาลหน้า
นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง หมู่บ้านหนองมณฑา ชุมชนชาวกะเหรี่ยงชนเผ่าปกาเกอะญอ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ วันที่ 26 พ.ค.ว่าตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ วธ.เป็นเจ้าภาพดำเนินงานฟื้นฟูวิถีชีวิตชนเผ่าชาติพันธุ์ ตนจึงมารับฟังข้อมูลและปัญหา ซึ่งพบว่าศูนย์การเรียนดังกล่าวจัดตั้งขึ้นโดยสมาคมอิมเปค โดยไม่ได้สังกัดหน่วยงานใดของรัฐ จึงส่งผลกระทบหลายอย่าง เช่น ไม่ได้รับสนับสนุนงบฯรายหัว ขาดแคลนครูผู้สอนและอุปกรณ์การเรียน นอกจากนี้ยังมีปัญหาจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะเพื่อรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่น จึงไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)กำหนด
“เรื่องราวท้องถิ่นจะถูกบูรณาการไว้ในหลักสูตรแกนกลาง ทำให้วิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นหลายเรื่องส่อแววที่จะสูญหาย ส่งผลให้โรงเรียนต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกันเอง โดยให้ผู้รู้ในชุมชนมาประเมินหลักสูตร เพื่อเด็กจะได้เรียนรู้วิถีวัฒนธรรมอย่างจริงจัง ผมจึงเห็นว่าการประเมินหลักสูตรท้องถิ่นของชนเผ่าชาติพันธุ์ควรมีเกณฑ์ในลักษณะพิเศษ โดยยึดสภาพความเป็นจริงเป็นหลัก เช่นเดียวกับโรงเรียนตาดีกาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ปลัด วธ.กล่าว
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ยังกล่าวว่า ตนได้เสนอแนวทางให้กับชุมชนว่า ชุมชนจะต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องหลักสูตรท้องถิ่นหรือจะโอนศูนย์การเรียนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแล ซึ่งจะต้องมีการตกลงหรือศึกษาความเหมาะสม พร้อมทั้งจะนำปัญหาที่เกิดขึ้นไปศึกษาหาแนวทางแก้ไข รวมถึงนำเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป .
ที่มาภาพ : http://homewasan.multiply.com/photos/album/8/8