บรรยายพิเศษสมเด็จพระเทพฯ "ในหลวงร.9 พระผู้ทรงเป็นนักอนุรักษ์ป่าไม้ไทย"
สมเด็จพระเทพฯ ตรัสว่า เรื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่9) ทรงอนุรักษ์ป่าไม้ได้คือต้องรักษาป่าไม้สภาพดินแหล่งน้ำพัฒนาพันธุ์สัตว์พันธุ์พืชและพัฒนาความรู้การศึกษาทุกอย่างต้องโยงกันแต่ในที่สุดต้องพัฒนาคนสุขภาพคนให้มีสุขภาพที่ดีและมีความสุขเพื่อให้รักษาบ้านเมืองสืบต่อไป
ในการสัมมนา “รักษ์ป่าน่าน” ครั้งที่ 3 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการเครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต.ผาสิงห์ อ.เมือง จ.น่าน จัดโดยสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับกองทัพบก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อระดมความรู้และประสบการณ์ในการหาแนวทางและวิธีการหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่าน่าน
ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในการสัมมนา และทรงบรรยายเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ไทย”
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ตรัสว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ไทย เวลาเสด็จพระราชดำเนินไปที่ไหน ก็เห็นมีคนตามเสด็จไปมากมาย ไปนั่งฟังและทราบพระราชกระแสมา หลายคนจดพระราชกระแส มีผู้ว่าราชการจังหวัดท่านหนึ่ง พิมพ์สมุดแจกให้คนจดพระราชกระแส แล้วมีคนคัดลอกด้วย ให้บันทึกวันที่ เวลา สถานที่ ชื่อผู้บันทึก และให้ฉีกส่วนที่บันทึกมอบท่านผู้ว่า และที่ไปคัดลอก ผู้บันทึกก็เก็บไว้เอง
ต่อมามีหน่วยงาน กปร.นอกจากจะจดแล้ว ยังอัดเทปด้วย เพื่อให้ชัวร์และมั่นใจว่า ไม่มีใครแปลงพระราชกระแสเป็นของจริงเพื่อที่ท่านจะได้จัดสรรงบประมาณถวาย
เท่าที่ตามเสด็จไปภาคต่างๆ ของประเทศไทย ได้สังเกตว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ตามไปด้วย ไม่ใช่เฉพาะป่าไม้ สมัยนั้นไม่มีอุทยาน มีป่าไม้ก็ทำทุกอย่าง และมีเกษตร หน่วยงานเกษตรต่างๆ มีชลประทาน มีพัฒนาที่ดิน และกรมแผนที่ทหาร
ทำให้เห็นท่านและทำให้สรุปว่า การที่ทำงานเพื่อความผาสุกของราษฎรนั้น ไม่ใช่ว่าพวกใดพวกหนึ่งจะทำได้โดยไม่ปรึกษาคนอื่น แต่ทว่าวันนี้พุดเรื่องป่าไม้ก็ต้องเอาป่าไม้เป็นหลัก ป่าไม้จะเจริญได้ก็ต้องมีน้ำ ไม่ใช่ห้ามจัดการน้ำ เหมือนที่ใครๆ เข้าใจ ต้องมีน้ำ มีความชุ่มชื้นและมีดินดีที่ มีปุ๋ย ซึ่งปุ๋ยไม่ใช่ของที่หายาก คือใบไม่ที่ร่วงลงมา สามารถนำมาหมักและเพิ่มเติมสารที่จำเป็น และแร่ธาตุที่เป็นอาหารของพืชแต่ละชนิด ส่วนประกอบอื่นๆก็คือพืชต้องอยู่กันเป็นระบบนิเวศที่อาศัยพึ่งพากัน เช่น ต้องอาศัยสัตว์ สัตว์บางชนิดกินผลไม้แล้วถ่ายมูลเป็นเม็ดพืชเพื่อที่จะงอกกระจายได้ สัตว์บางอย่างมีฟันแหลมคม เจาะผลที่แข็งมากให้เม็ดออกมาได้ ถ้าไม่มีสัตว์พวกนี้พืชก็หมดไป ในขณะเดียวกันป่าไม้ช่วยรักษาความชุ่มชื้น รักษาหน้าดิน ไม่ให้ถูกกัดเซาะ ทำลาย
พระราชกระแสสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ(รัชกาลที่9)ว่า จริงๆ แล้วในป่าหลายแห่งมีคนอยู่แล้ว แล้วไปขีดเส้น คนผิดไม่ใช่ชาวบ้านที่อยู่ในนั้น คนผิดคือคนขีดประชาชนจะอยู่ได้ต้องมีที่พักอาศัย ที่ทำกินสำหรับเพาะปลูกหรือที่เรียกว่า อุตสาหกรรมหรืองานหัตถกรรม สิ่งที่ทำก็มาเป็นอาหารของตัวเอง อาหารสัตว์เลี้ยง เพื่อให้จำหน่ายได้ มีทรัพย์มาใช้ซื้อสิ่งของที่ปลูกขึ้นไม่ได้ หรือทำเองไม่ได้
แต่ปัญหาก็คือ คนมีจำนวนมากขึ้นจากการออกลูกออกหลาน กับอีกทางหนึ่งก็คือเคลื่อนไหว โยกย้ายเข้ามา ก็เห็นว่า เป็นที่ที่จะให้โอกาสก็ย้ายเข้ามา จนกระทั่งในยุคปัจจุบัน โอกาสที่จะมีการทำลายพื้นป่าไม้ก็มีมากขึ้น
มาถึงยุคหลังๆ ร้อยกว่าปีก็มีการทำป่าไม้ คือตัดป่าไม้เพื่อไปขาย สร้างอาคาร ทำเครื่องใช้ เครื่องประดับ เครื่องเรือน ที่ใส่ของ แม้กระทั่งที่ทำสุรา ถังหมักเหล้า จุกก๊อกสำหรับอุดปากขวดเหล้า ก็ต้องใช้ไม้บางชนิด และในพงศาวดารเขียนไว้ว่า บางแห่งกระสุนที่ใช้ยิงพังป็อปค่าย ก็เอาไม้ทำ แต่กระสุนที่จะยิงก็เอาท่อนซุงใส่ ยิงออกไปเป็นอาวุธได้ในสมัยโบราณ
ต่อมาได้มีการให้สัมปทานป่าไม้ แต่ที่จะได้สัมปทานต้องปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด คือต้องทำ จะทำมากน้อยแค่ไหนนั้นไม่ทราบ แต่มีกฎหลักว่า เมื่อตัดไปเท่าไหร่ก็ต้องปลูกชดใช้ให้มากกว่าที่ตัดไป เช่น บางครั้งมีกำหนดว่าเป็นอาณาเขตต้องปลูกเท่าไหร่ บางทีปลูกหนึ่งต้นก็ต้องปลูกไปรอบๆ สามหรือสี่ต้นก็แล้วแต่ ได้บันทึกไว้ตอนที่ไปประเทศพม่า ก็ได้อธิบายเรื่องพวกนี้ให้ฟัง
สมเด็จพระเทพฯ ตรัสว่า ต้นไม้ที่เห็นทุกวันนี้จริงๆ ไม่ใช่ทั้งหมดที่เป็นป่าธรรมชาติ ป่าดั้งเดิม แต่ส่วนหนึ่งเป็นต้นไม้ที่ปลูกทดแทนต้นที่บริษัทตัดไป ประเทศไทยเลิกสัมปทานป่าไม้มาร่วม 30 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีผู้ลักลอบตัดไม้มีค่า ไม้เนื้อแข็งที่โตช้า มีเครื่องมือที่ทันสมัย รวดเร็ว แต่สมัยก่อนใช้ขวานตัดไม้ แต่สมัยปัจจุบันใช้เลื่อยไฟฟ้า
บางคนตัดรอบๆ โคนต้นเพื่อให้ท่อเลี้ยงน้ำขาดก็ปล่อยให้ตายไป โดยที่อ้างว่าไม่ได้ตัดไม้แต่มันตายเอง บางคนไม่ต้องการเอาไม้มาใช้ แต่ต้องการที่ดินจึงใช้วิธีเผาไม้ทั้งที่มีค่าและไม่มีค่าเพื่อทำไร่ จะปลูกอีกก็เผาอีก ทำให้ที่ดินพังทลาย บางทีไหม้ไปถึงที่อื่น "เคยเห็นไฟไหม้เล้าไก่ของโรงเรียน ไม่ทราบว่าโรงเรียนนัดเผาเพื่อไปทำไก่อบฟางหรือเปล่า แต่คงไม่ใช่ ซึ่งทำให้เกิดหมอกควันที่อันตรายต่อสุขภาพ"
สมเด็จพระเทพฯ ตรัสต่อว่า เมื่อต้นรัชกาลที่ 9 ไม่ทันที่จะเข้าใจเรื่องราวของผู้ใหญ่ แต่ได้ฟังคำบอกเล่าจาก นายแก้วขวัญ วัชโรทัย อดีตเลขาธิการพระราชวัง เล่าว่า ได้เสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานไปประทับที่วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในระยะแรกเข้าใจว่า เสด็จทางรถไฟ ต่อมาได้เสด็จทางรถยนต์ ตอนที่ผ่าน อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ราว พ.ศ.2504 มีต้นยางขนาดใหญ่ มีพระราชประสงค์ที่จะอนุรักษ์ต้นยางเอาไว้ เนื่องจากตอนนั้นมีประชาชนเป็นจำนวนมากต้องอาศัยที่ดินทำเกษตรกรรม พระราชดำริเรื่องการอนุรักษ์ยางในพื้นที่จึงไม่สำเร็จ
ในระยะต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่9) ไม่ใช่เอายางไปปลูกในวังเท่านั้น แต่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อนุรักษ์ยางเป็นสำคัญ ต่อมาทรงนำพืชอื่นๆ มารวมกันเป็นป่าสาธิตเพื่อให้ผู้สนใจ นักเรียน นักศึกษา เยาวชน มาศึกษา และทรงคิดหาวิธีขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีการต่างๆ นอกจากการเพาะเมล็ด ตอน เสียบกิ่งแล้ว ก็ยังใช้วิธีเพาะเนื้อเยื่อ
ซึ่งสมัยนั้นถือว่าเป็นเรื่องสมัยใหม่ เช่นโครงการในสวนจิตรลดา ทำเรื่องของการเพาะเนื้อเยื่อเพื่ออนุรักษ์ อนุรักษ์ต้นไม้ต่างๆที่มีอยู่ในวัง ซึ่งงานนี้เป็นต้นกำเนิดของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชที่ทำมาจนถึงทุกวันนี้ รวมพันธุ์ไม้ที่อาจมีโอกาสถูกทำลาย เช่น ในที่ที่น้ำกำลังจะท่วมเมื่อทำอ่างเก็บน้ำ เพื่อจะอยู่ใต้สายไฟแรงสูง เพราะมีการเก็บพืชต่างๆมาทำหอพานไม้ ซึ่งพยายามที่จะเก็บพันธุ์ไม้เพิ่มขึ้น
การที่ส่งวิธีการเหล่านี้ไปถึงเด็กและเยาวชนตั้งแต่มหาวิทยาลัย หลังรับปริญญา วิชาชีพอาชีวะ มาจนถึงชั้นอนุบาล บางคนก็เรียนรู้ตามภูมิปัญญาของตัวเองและโอกาสที่ได้รู้ เรื่องที่คิดว่าน่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ คือ เรื่องศูนย์ศึกษาพัฒนาที่อยู่ในสภาพภูมิศาสตร์ที่ต่างกัน เป็นที่ที่หน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน และคนทั่วไปศึกษาพื้นที่ เอาพื้นที่เป็นหลัก ศึกษาแบบบูรณาการ ใช้วิชาการหลายๆ อย่างทั่วไป ไม่ใช่ว่า ตรงนี้ป่าไม้ ประมง ปศุสัตว์ ห้ามเข้า และทุกคนหวังว่า วิชาการของตนจะช่วยสิ่งให้มีค่าขึ้นมาอย่างไร แล้วไปส่งเสริมให้เกษตรกรไปปฏิบัติให้เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง
หลายสิบปีแล้วได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปที่ห้วยฮ่องไคร้ จ.เชียงใหม่ ต้นไม้ก็ถูกตัดไปเยอะ เชื่อว่าเกิดเป็นป่าไม้สัมปทาน ยิ่งไปกว่านั้นดินก็ถูกขุด มีแต่ลูกรังแล้วเอาไปขาย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะที่ตรงนี้ ที่ดินของใครที่ไม่ไปดูบ่อยๆ จะเห็นว่าเอาไปขาย บางคนทำอะไรไม่ได้ นอกจากบ่อปลา ชนิดที่ว่า จับปลาไม่ได้ ก็คงตายอยู่ในนั้น
ใน พ.ศ. 2525 มีพระราชดำริให้ตั้งศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ หลังจากนั้นนอกจากปลูกไม้พื้นเมืองแล้ว เบื้องต้นจะปลูกไม้พื้นเมืองบางชนิดจะโตช้า ปลูกไม้สำหรับก้อสร้างทำเป็นบ้านเรือนและใช้สอย เช่นไม้ไทร ไม้สน ไม้หวาย และมีไม้กินผล เช่น กล้วย มะม่วง มะม่วง มะละกอ มะพร้าว และไม้อื่นๆ ทั่วไป นอกจากนี้ตามภูเขาจะมีแหล่งน้ำเล็กๆ ก็โปรดเกล้าฯให้ทำฝ่ายชะลอน้ำ ทำน้ำหล่อเลี้ยงป่า ไม่ไหลกัดเซาะดิน
ศูนย์ภูพาน จังหวัดสกลนคร มีการปลูกป่า ปลูกพืชทำให้ป่าที่เสื่อมโทรมกลับอุดมสมบูรณ์ และชนิดของป่าอยู่ในขั้นที่ชุ่มชื้นขึ้นและมีกิจกรรมต่างๆ มีการเลี้ยงสัตว์ ปลุกข้าว ปลูกถั่ว นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่9) พระราชดำริในการสร้างป่าเปียก เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น เป็นกำแพงกั้นไฟ การกักน้ำให้ป่าเปียกมีวิธีการ ดังนี้คือ ตั้งระบบป้องกันไฟป่า สร้างระบบการควบคุมไฟป่า ควรปลูกไม้โตเร็ว สร้างฝ่ายชะลอความชุ่มชื้น ส่งเสริมการปลูกป่า ปลูกต้นกล้วย เพราะสามารถเก็บน้ำมากกว่าพืชอื่นๆ
ป่าชายเลนที่มีความสัมพันธ์ต่อระบบทางทะเล ชายฝั่งทะเลที่ถูกทำลายไปมาก และต้องปลูกใหม่และดูแลให้ดี ตัวอย่างที่น่าสนใจคือศูนย์การศึกษาพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ตอนบนเป็นส่วนผลไม้ ต้องพยายามชักชวนให้ลด เลิก การใช้สารเคมีที่ไหลลงไปในป่าชายเลน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ จะทำให้สัตว์น้ำตาย
โครงการแหลมผักเบี้ย ที่จังหวัดเพชรบุรี ทดลองเกี่ยวกับประประโยชน์ของพืชที่สามารถดูดของเสีย บำบัดน้ำ บำบัดขยะมูลฝอย และยังมีโครงการอื่นๆ เช่นที่สิงหนคร จังหวัดสงขลา และหนอกจิก อ.ยะหริ่ง ในจังหวัดปัตตานี
สมเด็จพระเทพฯ ตรัสว่า ป่าพรุเป็นป่าที่สำคัญของความกินดีอยู่ดีของราษฎร ยังเป็นอ่างเก็บน้ำธรรมชาติที่ชะลอการไหลบ่าของน้ำก่อนระบายสู่ทะเล ได้เสด็จพระราชดำเนินไปจังหวัดนราธิวาส เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2516 แต่ในช่วงนั้นก็ถือว่าเป็นการศึกษา
เวลาจะทำงานเรื่องการพัฒนาหรืออนุรักษ์ใดๆ ก็ตามจะเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่9) ทรงใช้เวลา ต้องไปศึกษา ซึ่งเสด็จไปทุกหมู่บ้านในจังหวัดนราธิวาสและทรงขับรถไปเอง จนถึงปี 2524 ได้เยี่ยมราษฎร ใช้เวลานานพอสมควร ก็เริ่มทราบถึงปัญหาความทุกยากของราษฎรที่ทำการเกษตร ได้ผลผลิตต่ำ เนื่องจากพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นลุ่มน้ำที่ตั้งขังอยู่ตลอดปีหรือคิดว่า เพราะมีสภาพดินเปรี้ยวจัด ไม่สามารถปลูกพืชได้ดี
ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสจะมี 2 ส่วนที่แย่ คือส่วนที่เป็นพรุ ที่เกิดจากน้ำในแม่น้ำ ไหลตะกอนไปแล้วถูกคลื่นในทะเลซัด ทำให้เกิดแหลมแบบก้ามปู ซึ่งต้องอนุรักษ์ป่าพรุ เพราะเป็นระบบนิเวศที่ควรไปศึกษาและเก็บเอาไว้ ส่วนที่ 2 คือ เป็นพื้นที่พรุที่ถูกทำลาย แต่ยังไม่มีการเข้าไปพัฒนา สาเหตุหลักที่ถูกทำลายคือการบุกรุกเข้าไปและไฟไหม้ป่าในภาวะแล้งจัด ลักษณะดินเปรี้ยวจัด น้ำท่วมขัง ก็มีการอนุรักษ์พื้นที่อย่างจริงจัง ซึ่งพยายามที่จะฟื้นฟูและให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้บ้าง
ข้อสำคัญคือ แนวเรื่องของชลประทานกับการพัฒนาที่ดินจะต้องคุยให้ดีๆ ว่าจะทำอย่างไรถึงจะใช้วิชาของแต่ละคน ถ้าระดับน้ำต่ำเกินไป จะเปรี้ยวจัด มีไฟป่าไหม้ น้ำก็จะไหลเข้าไปในนา ทำให้ราษฎรได้รับความเสียหาย แต่ถ้าน้ำสูงก็อาจไหลลงมาท่วมได้ เพราะฉะนั้นต้องจัดให้พอดี
"อย่างที่เรียกว่า การปลูกป่าไม้ในใจคน มีพระราชกระแสประมาณปี 2519 หรือก่อนหน้านั้น ซึ่งจะอธิบายให้คนเข้าใจว่า การมีป่าไม้มีประโยชน์อย่างไร และแนะนำปลูกพืชที่ขายเป็นรายได้โดยที่ไม่ต้องตัดไม้ หรือปล่อยส่วนหนึ่งเป็นป่าไม้ ส่วนไม้ที่มีคุณค่า สามารถขายได้ก็ต้องตัดไม้ การสอนจะทำให้ชินกับการอนุรักษ์รักป่า และมีการศึกษาพันธุ์ไม้ให้เห็นถึงประโยชน์ของป่าไม้
เมื่อปลูกต้นไม้ในใจคนเหล่านั้นได้ คนเหล่านั้นก็จะปลูกต้นไม้บนแผ่นดิน และดูแลรักษาเอง และให้ชาวบ้านร่วมกิจกรรมตั้งแต่การเพาะกล้า ชาวบ้านดูแลเรื่องไม่ให้มีการตัดไม้ทำลายป่า ป้องกันเกิดไฟป่า และใช้ของในป่าอย่างรู้คุณค่า"
นอกจากศูนย์การศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ และภูพาน แล้ว ยังมีห้วยทรายที่ ชะอำ จ.เพชรบุรี เขาหินซ้อน มหาสารคาม ฉะเชิงเทรา ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เข้าไปศึกษาต้นเหตุเพราะเป็นเรื่องป่าไม้ทั้งหมด ต้องการให้ประชาชน ข้าราชการ ศึกษาวิธีการพัฒนาพื้นที่และพัฒนาคุณภาพชีวิต รู้จักการทำงานสมัยใหม่ที่เรียกว่า บูรณาการ คือทุกหน่วยงาน ไม่ว่าเป็นป่าไม้ ประมง ปศุสัตว์ ชลประทาน การที่ดิน หรือโรงเรียน ครูตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.) จะศึกษาวิธีการทำงานร่วมกัน ปรึกษาหารือกัน เพื่อการพัฒนาคนและพื้นที่
ในพื้นที่ห้วยทรายเป็นพื้นที่ที่ ตชด. ดูแลอยู่ เล่ากันว่า สมัยก่อนอุดมสมบูรณ์จนมีเนื้อทรายจำนวนมาก ในสามสิบกว่าปี ผู้คนตัดป่า ทำการเกษตร จนทำการเกษตรไม่ได้ แห้งแล้ง น้ำแห้ง ทรงเริ่มพัฒนาเมื่อปี 2516 มีกิจกรรมป่าไม้อเนกประสงค์ หญ้าแฝก ป่าชายเลน เป็นต้น
เขาหินซ้อนเริ่มปีพ.ศ. 2522 เป็นพื้นที่แห้งแล้ง ชาวบ้านทำได้แต่มันสำปะหลัง ราคาตกต่ำ ต่อมาเมื่อศูนย์พัฒนาได้เต็มรูป ชาวบ้านก็มีรายได้เสริม มีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ชาวบ้านในหมู่บ้านก็มีรายได้เพิ่ม บางรายเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer) คิดวิธีการเกษตรแนวใหม่ของตนเอง และประสบความสำเร็จในชีวิต รักษาป่าไม้ได้ดี ซึ่งก็เรียกว่า เป็นเรื่องใหม่ เรื่องเก่าตามไปเสด็จเมื่อปี 2505 ที่เชียงใหม่ เดินป่า ไปเห็นว่าราษฎรยากจน ทำป่า ทำไร่ ต่อมาทำไม่ได้ เพราะคนอพยพมากขึ้น คือ สรรหาวิธีช่วยเหลือ เช่น หาพืช ถั่ว ผัก กาแฟ ไม้ผล ไม้ดอก สัตว์ต่างๆ ที่มีราคาแพง ก็สอนให้ชาวบ้านปลูก และเอาไปขายให้ ทำการตลาดให้ แต่ที่ลาดชันตามหลักทฤษฏีแล้ว พยายามปล่อยให้เป็นป่า ส่วนที่ไม่ลาดชัน ก็ทำนา เพาะปลูก ทำให้ใช้พื้นที่น้อยลง
ปัจจุบันชาวบ้านมีฐานะดีมาก ที่ได้ลองใช้วิธีนี้ พืชที่ขายก็เอาไปขายได้ถึงต่างประเทศ นอกจากนี้สอนเด็กๆ ให้ศึกษาพืชแต่ละชนิดและประโยชน์ของพืช ทำโครงงานเกี่ยวกับพืช สัตว์ ป่า ถึงปีก็ให้มาปลูกป่าแลกเปลี่ยนความรู้ มีศูนย์ที่คลองไผ่ จังหวัดนครราชสีมา เป็นศูนย์วิจัย มีอุปกรณ์และเครื่องมือสำคัญที่คนจะไปศึกษาได้ ส่วนการสร้างป่า สร้างรายได้ทำประมาณ 4-5 ปี แล้ว และจะทำต่อไป ประชาชนไม่จำเป็นต้องตัดต้นไม้ใหญ่ แต่สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้
ในบางที่ประชาชนเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่น พานักท่องเที่ยวชมพืช สัตว์ ซึ่งมีรายได้ดี โดยที่ไม่ต้องทำลายป่าไม้ แต่ปัญหาก็คือต้องหารือกันให้ดีในฝ่ายเจ้าหน้าที่พัฒนา ต้องมีผู้ที่ประสานงานให้ดี เช่น กรมป่าไม้หรือกรมอุทยานว่าจะอนุญาตให้ทำที่ไหน เช่น ปลูกกาแฟ แต่ฝ่ายเอกชนที่มีความสามารถก็ทำ MOU กับป่าไม้ก็สามารถทำได้ แต่ประชาชนรายย่อยหรือการตลาด
สมเด็จพระเทพฯ ตรัสถึงการเสด็จฯ ไปประเทศบราซิล เมื่อปีที่แล้ว ในพื้นที่มีป่าไม้มาก แต่ถูกทำลายเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เป็นฐานต้นไม้เพื่อทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ปรากฏว่า หญ้าก็ไม่งาม วัวก็ผอม
หลังจากนั้นเดินทางไปโครงการของเอกชนที่ร่วมมือกับรัฐและนักวิชาการตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในประเทศบราซิลและต่างประเทศ และศึกษาระบบนิเวศให้พืชไม่โดนทำลาย ซึ่งคนที่ทำโครงการนี้บอกว่า เป็นคนไม่ได้ใหญ่โตอะไร ทำพื้นที่เล็กๆ ในประเทศบราซิล ซึ่งประเทศนี้ก็เป็นประเทศที่ตัดป่าเหมือนอย่างประเทศไทยวิธีป้องกันที่สำคัญคือ จัดให้ประชาชน โดยเฉพาะให้เด็กและเยาวชนได้ศึกษาเรื่องพันธุ์ไม้ พันธุ์สัตว์ ลงทุนทำเอกสารวิชาการ ทำหนังสือแจก
เรื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่9) ทรงอนุรักษ์ป่าไม้ได้ คือ ต้องรักษาป่าไม้ สภาพดิน แหล่งน้ำ พัฒนาพันธุ์สัตว์ พันธุ์พืช และพัฒนาความรู้ การศึกษา ทุกอย่างต้องโยงกัน แต่ในที่สุดต้องพัฒนาคน สุขภาพคนให้มีสุขภาพที่ดี และมีความสุขเพื่อให้รักษาบ้านเมืองสืบต่อไป