ตั๋วครู : วิกฤตวิชาชีพครูจริงหรือ
"ถ้าเอาคนเก่งที่ไม่ได้จบครูเข้ามาสอนท่านจะเริ่มจากศูนย์และจะใช้เวลานานกว่าคนที่จบครูมาโดยตรง คำถามคือว่าท่านต้องการจะให้ลูกหลานของท่านเป็นหนูทดลองกับกลุ่มไหน"
แวดวงการศึกษา กระแสข่าวร้อนแรงช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหนีไม่พ้น ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีมติเห็นชอบปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่ง และแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ปี 2560 โดยเปิดทางให้ผู้ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู สมัครสอบได้
ประเด็น 'ไม่มีตั๋วสอบครูได้' ทำให้สภาคณบดีครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ออกมายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สั่งทบทวนมติ ก.ค.ศ.รับคนไร้ตั๋วครูเป็นแม่พิมพ์ พร้อมเบรก การรับสมัครก่อน
ขณะที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เหตุผลที่เปิดโอกาสให้คนข้างนอกเข้ามาเป็นครูได้ เพราะในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีครูที่เกษียณอายุราชการอีกประมาณ 270,000 คน
"เราไม่ได้ปิดกั้นคนเก่า แต่ขณะนี้มีปัญหาว่าหลายสาขา สรรหาเท่าไรก็ไม่เคยได้ และเราต้องการคนเก่งไม่ว่าจะเป็นกระบวนการครูคืนถิ่นซึ่งก็นำมาจากสาขาอื่นด้วย ครั้งนี้เราดีที่เปิดให้สอบ เพราะถ้าจะใช้วิธีเอาครูคืนถิ่นหมดเลย โดยขอมติคณะรัฐมนตรีแล้วเลือกเองหมดเลย โอกาสจะยิ่งไม่มี เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องการสรรหา ไม่เกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานหรือการทำลายศักดิ์ศรีใคร และเป็นเรื่องของเหตุผล จะมาเถียงกันเรื่องของจิตวิญญาณความเป็นครูก็จะมีการเถียงกันไปมาว่า วัดได้ไหม และเหนือสิ่งอื่นใดต้องมีใครสักคนตัดสินใจว่าประเทศจะเดินอย่างไร ตอนนี้ตัดสินใจแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะเคลื่อนไหวก็ขอให้เป็นเรื่องของวิชาการ คุยกันดี ๆ แต่อย่าทำให้เสียศักดิ์ศรี หรือแบล็คเมล์ หรือปลุกเร้าอารมณ์คน"
ตั๋วครู : วิกฤตวิชาชีพครูจริงหรือ"
เมื่อเร็วๆ นี้มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ร่วมกับศูนย์ประสานงานสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHESS) ที่ประชุมสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย จัดเวทีเสวนา "ตั๋วครู : วิกฤตวิชาชีพครูจริงหรือ" ขึ้น เพื่อร่วมเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นประเด็นร้อนของสังคม
ผศ.ดร.สุรวาท ทองบุ อดีตประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) และคณบดีคณะครุศาสตร์ มรภ.มหาสารคาม มองว่า คนที่ไม่ได้เรียนครูมาโดยตรงก็สามารถเป็นครูได้ แต่จะดีกว่า หากมีการฝึกฝนวิธีการสอน ไม่ใช่อยู่ดีๆให้มาเป็นครูได้ทันที หลังจากผ่านการฝึกฝนแล้ว คนที่ไม่ได้เรียนด้านครูมาก็จะสามารถเป็นผู้สอนได้ทั้งหมดในทุกระดับชั้น ทุกวิชา เพราะผู้เรียนแตกต่างกัน วิธีสอน วิธีความรู้ต้องแตกต่างกันด้วย
"วันนี้หมออาจจะสั่งยาพาราเซตามอน ให้กับผู้ปวดศีรษะ ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ได้เหมือนกัน แต่การเป็นครูนั้นไม่สามารถที่จะสอนด้วยวิธีเดียวกันกับนักเรียนทุกคน ในวงการครูมีครูที่ไม่จบครุศาสตร์มาสอนและสอนดีก็มี และก็มีครูที่จบครุศาสตร์โดยตรงมาสอนแย่ก็มี ผู้เรียนเป็นมนุษย์เหมือนกันแต่วิธีการสอนจะแตกต่างกัน"
ส่วนที่หลายคนบอกว่าที่ทุกวันนี้การศึกษาตกต่ำเป็นเพราะครู ผศ.ดร.สุรวาท บอกว่า โดยส่วนตัวไม่เชื่อแบบนั้น เพราะที่ผ่านมาคุรุสภาได้เข้าไปปรับปรุงมาตรฐานการผลิตครูมาตลอด
"ตอนนี้ครูทั้งประเทศ 75% ผลิตโดยหลักสูตรในระบบเดิม ที่คุรุสภายังไม่ควบคุม วันนี้ที่การศึกษาตกต่ำเพราะครูใหม่ๆที่จบจากหลักสูตรใหม่ได้เข้าสู่ระบบแค่ 10-15% เท่านั้น"
สำหรับแนวทางในการการผลิตครูให้ตอบโจทย์ หากต้องการคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริงรัฐบาล หรือกระทรวงศึกษาธิการควรกำหนดนโบายให้ชัดว่า ใช้ครู 1 คนต่อนักเรียนกี่คน และต้องการครูสาขาไหน สาขาไหนบ้างที่ขาดแคลนครู ซึ่งถ้าคุรุสภากับ ก.ค.ศ. บอกว่าผลิตครูไม่ทัน ต้องไปดูว่า มีช่องว่างอะไรทำให้เกิดปัญหาตรงนี้
ปัจจุบันมีสถาบันผลิตครู 200 แห่ง ที่เปิดโดยคุรุสภายังไม่รู้ เหตุเพราะคุรุสภาไม่มีระบบควบคุมสถาบันผลิตที่เข้มข้นมากพอ และก.ค.ศ.เองต้องกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ส่วนหน่วยงานผู้ใช้ครู ต้องมีแผนอย่างชัดเจน มีอัตราเกษียณอายุเท่าใด สาขาใด จำนวนเท่าใด และควรบอกล่วงหน้า
"วันนี้ เรายังไม่มีการบอกชัดเจน เช่นเดียวกับสถาบันการผลิตครู แม้จะเริ่มกำหนดทิศทางได้อย่างดีแล้ว ทั้งการรับผู้เรียน การเลือกอาจารย์ การพัฒนาอาจารย์ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมต้องสอดคล้องกับความต้องการทั้งปริมาณและคุณภาพ" อดีตประธาน ส.ค.ศ.ท. ระบุ และเห็นว่า จะใช้หลักสูตรครู 4 ปีหรือ 5 ปี ก็ได้ทั้งนั้น แต่ขอให้มีการฝึกฝน สร้างมาตรฐานการเรียนการสอน เพราะการเรียนครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ ได้คนที่เรียนครูโดยตรงมาเป็นครูจะดีกว่า มีความมั่นใจ และประกันได้ว่า เป็นครูที่ดีกว่า
ด้านผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย เล่าวถึงประสบการณ์ช่วงที่จบคณะครุศาสตร์และได้ไปสอนเด็กนักเรียน จึงได้รู้ว่า การที่จะสอนเด็กได้ไม่ใช่มีความรู้แล้วจะสามารถถ่ายทอดให้เด็กได้ทันที จะต้องมีหลายอย่างประกอบกัน ต้องรู้ เข้าใจในตัวเด็ก
"ผมใช้เวลานานมากกว่าที่จะรู้ว่าเด็กต้องการอะไร นี่เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีในตำราเรียน ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ คนมักจะมีมุมมองที่ตัดสินในสิ่งที่ตนเองเห็นและสัมผัส หลายคนสัมผัสกับคนที่จะได้จบครูและสอนดี ก็จะตัดสินว่า คนที่ไม่จบครูมาก็สอนดี แต่ ณ ตอนนี้ต้องมองภาพรวมของทั้งประเทศ ไม่ใช่มองแค่จุดใดจุดหนึ่งและตัดสิน โดยต้องมองถึงว่า จะไปสอนใคร เพราะการสอนเด็กแต่ละระดับมีความแตกต่างกัน สอนเด็กที่เก่ง และเด็กที่อ่อน ก็ต่างกัน หลายคนบอกติวเตอร์เก่งมาก ผมถามว่า ติวเตอร์สอนเด็กเก่งได้เท่านั้น ลองเอาติวเตอร์ไปสอนเด็กอ่อนซิ"
ผศ.ดร.รัฐกรณ์ ยังได้เล่าประสบการณ์ตอนไปฝึกสอนโรงเรียนสาธิตแต่ไม่ได้สอนอะไร แค่ก้าวเข้าไปเด็กถามอย่างเดียวจนหมดชั่วโมง แทบไม่ต้องสอนอะไรเพราะสิ่งที่เราจะสอนเด็กตัวเด็กนั้นรู้หมดแล้ว แต่พอมาสอนราชภัฏ พูดแทบเป็นแทบตาย สุดท้ายก็ไม่มีคนถาม นี่คือจุดที่ต่าง ทุกวันนี้จึงไม่อยากให้มาเถียงว่า ต้องจบครูหรือไม่ แต่อยากให้ดูถึงคุณภาพการศึกษาให้มีความเท่าเทียม
"ถ้าเอาคนเก่งที่ไม่ได้จบครูเข้ามาสอน ท่านจะเริ่มจากศูนย์และจะใช้เวลานานกว่าคนที่จบครูมาโดยตรง คำถามคือว่า ท่านต้องการจะให้ลูกหลานของท่านเป็นหนูทดลองกับกลุ่มไหน" ผศ.ดร.รัฐกรณ์ ตั้งไว้เป็นคำถามให้คิด และเห็นว่า การศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาคน ต้องมีการคิดป็นระบบ พัฒนาต้องใช้เวลา ตอนนี้ไปโทษคุณภาพสถาบันผลิตครู ทั้งที่จริงๆ แล้วคุณภาพการศึกษาของไทยต่ำทุกสาขา ต่ำทั่วประเทศ และการตกต่ำของคนไทย ไม่ใช่เรื่องคุณภาพแต่เป็นเรื่องคุณธรรม ครูไม่ได้เป็นเพียงผู้ถ่ายทอดวิชา แต่เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ
เขายอมรับว่า วันนี้การมีใบประกอบวิชาชีพมีความจำเป็น โดยเฉพาะครูระดับประถมศึกษา เพราะเป็นครูที่ต้องสอนทุกอย่าง ทุกวันนี้การสอบของนักเรียนในวิชาต่าง ๆ หรือแม้แต่การสอบบรรจุครูเป็นการสอบตรวจแค่ความรู้ ไม่ได้วัดกันที่ "คุณธรรม" เลย หากมีข้อสอบแบบนี้ไม่ต้องเรียนครูมา แค่จำๆ และเอาเข้าไปสอบใครๆ ก็ทำได้ ถ้าความจำดี
ส่วนอ.กมลเทพ ชังชู ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลปราโมชพัฒนา บอกว่า แม้เขาไม่ได้จบจากคณะครุศาสตร์มา แต่จากประสบการณ์ที่ได้มาสอนหนังสือเด็ก เป็นเวลา 5-6 ปี โดยได้สอนตอนพึ่งเรียนจบเลย พอจำวิธีการสอนเด็กได้ว่า อาจารย์ต้องสอนแบบไหน มีวิธีไหนที่สอนเด็กบ้าง และได้มีโอกาสไปอบรมวิธีการสอนที่ต่างประเทศจึงทำให้รู้สึกว่า ที่สอนเด็กมาตลอด 2 ปีแรกนั้น คือ เราทำงานไม่เป็นและสอนที่ผิดวิธีมาตลอด ควบคุมชั้นรียนไม่ได้ ไม่รู้วิธีสอน
"เรามีองค์ความรู้ในตัวที่ แต่ไม่รู้ว่าจะถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านั้นให้เด็กได้อย่างไร"
นอกจากนี้ อ.กมลเทพ ยังยกตัวอย่างของรุ่นน้องที่จบครูมาจากสาขาอื่น แต่ได้ผ่านการเรียนป.บัณฑิต (วิชาชีพครู) และไปขอใบประกอบวิชาชีพครู ปัญหาที่เจอคือปีแรกๆที่เข้ามาทำงาน ตอนที่ยังไม่มีความรู้ทางด้านวิชาครูเลย คนเหล่านี้สอนหนังสือไม่ได้ คุมชั้นเรียนไม่อยู่ จิตวิทยาไม่มี ไม่รู้จะถ่ายทอดวิชาให้เด็กเข้าใจได้อย่างไร
"ครูคนนี้เป็นคนเก่ง แต่จุดอ่อนคือสอนเด็กไม่เป็น กว่าจะสอนได้ก็ต้องสะสมประสบกาณ์หลายปี สิ่งที่เป็นปัญหาตามมาคือเด็กต้องเรียนแบบลักจำไป เพราะต้องเรียนกับครูที่สอนหนังสือไม่เก่ง ส่วนปัญหาใหญ่ที่มาจากครูสายตรง ก็คือมุมมองแคบจะรู้แค่ในวงที่เรียนครูมา คนที่เป็นครูวิทยาศาสตร์ก็จะรู้แค่เรื่องวิทยาศาสตร์ เป็นต้น"
ทั้งหมดเป็นมุมมองที่แตกต่างกัน เมื่อนโยบายกระทรวงศึกษาธิการจะเดินแบบนี้ ให้ ก.ค.ศ. ประกาศรับสมัครสอบแข่งขัน ตำแหน่งครูผู้ช่วย สพฐ. จำนวน 61 สาขาวิชา ตำแหน่งว่างรวมทั้งสิ้น 6,437 อัตรา ในจำนวนนี้ผู้สมัครต้องมีใบประกอบวิชาชีพครูหรือผ่านหลักสูตรครู 5 ปีจำนวน 36 สาขาวิชา ส่วนอีก 25 สาขาวิชาซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เปิดสอนหลักสูตร 5 ปี และเป็นกลุ่มที่ขาดแคลนเรื้อรัง ผู้สมัครจะมีใบครูหรือไม่มีใบครูมาใช้ในวันสมัครก็ได้
อ่านประกอบ
ปฏิรูปการฝึกหัดและการคัดเลือกครูเร่งด่วน เพิ่มคุณภาพศึกษาไทย
ก.ค.ศ. ยันมติรับสมัครครูผู้ช่วย สพฐ. ไม่มีใบวิชาชีพสอบได้ 25 สาขา
อ.จุฬาฯ ค้านไม่มีใบวิชาชีพสอบครูผู้ช่วย ยันเสี่ยงเกินไป-ขัดหลักการ