“ธรรมนูญประชาชนฅนอำนาจเจริญ”ท้องถิ่นขอจัดการตนเอง
คนเรือนหมื่นร่วมปฏิรูปท้องถิ่นโดยประกาศ “ธรรมนูญฅนอำนาจเจริญ” ตุ้มโฮมคน-ภูมิปัญญา มุ่งความอยู่ดีมีสุข ฟื้นสภาหมู่บ้าน ตั้งสภากลางตำบล-สภากลางจังหวัด ยึดสัจจะอธิฐานว่า “ผืนดินนี้ชาวบ้านจะร่วมกันจัดการ”
………………...
เร็วๆนี้ ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ ประชาชน 63 ตำบล จาก 7 อำเภอ รวมพลเคลื่อนขบวนแสดงพลังภาคพลเมือง ประกาศใช้ธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย ปฏิญาณตนสร้างความอยู่ดีมีสุขด้วยการจัดการตนเอง โดยมีภาคีพัฒนาร่วมงานทั้งสภาพัฒนาการเมือง(สพม.) สำนักงานปฏิรูป(สปร.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด สภาองค์กรชุมชน 63 ตำบล ภาคีพัฒนาภาคประชาชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.)
"ธรรมนูญประชาชนฅนอำนาจเจริญ" เป็นกติกาหรือข้อตกลงของคนและชุมชนในพื้นที่จังหวัดใช้ร่วมกัน เพื่อความอยู่ดีมีสุข ซึ่งภาคพลเมืองจะลุกขึ้นมาดูแลและจัดการพัฒนาชุมชน ตำบล จังหวัดของตนเองโดยธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งได้ผ่านขั้นตอนการจัดทำเป็นมาอย่างดี
เริ่มต้นจากเวทีหมู่บ้าน นำข้อมูลมายกร่างโดยสภาองค์กรชุมชน 63 ตำบล จัดเวทีทุกตำบลกับภาคีต่างๆ ปรับปรุงยกร่างจากตำบล และนำมาประชาพิจารณ์ที่ตำบลอีกครั้ง กระทั้งประกาศใช้ธรรมนูญ
ชาติวัฒน์ ร่วมสุข สมาชิกสภาพัฒนาการเมืองจังหวัดอำนาจเจริญ เปิดเผยว่าธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากทุนทางสังคมของคนอำนาจเจริญที่สั่งสมกันมา โดยเฉพาะทุนคนและความรู้ภูมิปัญญาด้านเกษตรกรรม กองบุญสวัสดิการชุมชน การจัดการทรัพยากรที่ประชาชนเป็นเจ้าของร่วมกัน การจัดการภัยคุกคามด้านต่างๆ อย่างความมั่นคงทางอาหาร ฟื้นสิ่งที่สูญหายไปให้คืนกลับมา
เหตุผลในการจัดทำธรรมนูญฯ เพื่อเป็นเครื่องมือวางกรอบระเบียบกติกาชุมชน ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคีที่เกี่ยวข้อง ใช้เป็นมาตรการสร้างประชาธิปไตยชุมชน เป็นแนวทางกำหนดแผนพัฒนา
มีการเสนอฟื้น “สภาหมู่บ้าน” เป็นเวทีวางแผน กำหนดคุณสมบัติผู้นำ กำกับติดตามแผนพัฒนาของชุมชน และในระดับตำบลต้องมี “สภากลางตำบล” ประกอบด้วย สภาองค์กรชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ท้องที่ และภาคีพัฒนาในท้องถิ่น เป็นฟันเฟื่องสำคัญขยับการเปลี่ยนแปลงจากฐานราก และระดับจังหวัดต้องจัดตั้ง “สภากลางจังหวัด” มี 4 ส่วน องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ส่วนราชการ ธุรกิจ ภาคประชาชน
เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมสำคัญในการจัดการตนเองในด้านการเมือง การปกครอง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาท้องถิ่นในทุกด้านแบบองค์รวม เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งยั่งยืน
นายแพทย์ชัยพร พรประเสริฐกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอำนาจเจริญ เห็นว่าคนอำนาจเจริญต้องแก้ปัญหาด้วยเอง โดย อบจ.พร้อมหนุนให้เดินหน้าต่อเนื่อง โดยความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้นั้นต้องไม่ได้เกิดการจากคิดเพียงอย่างเดียว ต้องช่วยกันทำอย่างมุ่งมั่นและมีสัจจะอธิฐาน ตั้งใจร่วมกันสืบสานปณิธานของพ่อหลวง มีวิถีตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้อำนาจเจริญมีองค์การบริหารส่วนตำบล 42 แห่ง เทศบาลตำบล 20 แห่ง และเทศบาลเมือง 1 แห่ง
“องค์การบริหารส่วนจังหวัดก็จะนำเนื้อหาในธรรมนูญ ไปทำเป็นแผนคู่ขนานนโยบายจังหวัด เพราะเป็นหน้าที่ของท้องถิ่นที่จะนำไปปฏิบัติ ต้องมามองกรอบและแผนปฏิบัติการร่วมกัน อาจเป็นแผนร่วม 3 ปี ซึ่งเรามีนัดหมายประชุมกับขบวนชุมชนทุกวันจันทร์ 8 โมงเช้า เพื่อเอาธรรมนูญไปตีโจทย์ให้แตก”
ด้าน ดร.สุจิต บุญบงการ ประธานสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) กล่าวว่าการประกาศใช้ธรรมนูญคนอำนาจเจริญนั้น มุ่งหวังให้ชุมชนในจังหวัดอำนาจเจริญมีความร่มเย็นเป็นสุข ด้วยการพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เป็นข้อตกลงร่วมกันของประชาชน ที่ไม่ใช่การบังคับ ถือเป็นการร่วมสร้างประชาธิปไตยจากฐานราก สร้างการเปลี่ยนแปลงจากล่างขึ้นบน ถือเป็นเรื่องการบ้านของประชาชนที่ต้องการร่วมมือกับรัฐในการพัฒนา โดยไม่ได้มาตามพรรคการเมืองของใคร
กรรณิการ์ บรรเทิงจิตร รองผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูป แสดงความเห็นต่อธรรมนูญฅนอำนาจเจริญ ว่าวันนี้เป็นการผนึกกำลังพลังพลเมืองที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง เพราะการจะได้มาซึ่งธรรมนูญประชาชนฅนอำนาจเจริญนั้นได้ผ่านขั้นตอนอย่างเข้มข้น ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ยาก แต่การจะทำให้ธรรมนูญเป็นจริงนั้นยากยิ่งกว่า ทั้งนี้ควรเน้นการทำงานในลักษณะ “นำร่อง” สักครึ่งหนึ่งของพื้นที่ เพราะเนื้อหาแต่ละข้อนั้นการทำให้เป็นจริงยาก เช่น การบอกให้โรงเรียนปิดเทอมตามฤดูกาลทำนาของชุมชน ซึ่งในปี 2556 ต้องมาช่วยกันติดตามดูว่าปัญหาของคนอำนาจเจริญจะได้รับการคลี่คลายด้วยการมีธรรมนูญหรือไม่
ทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวว่าวันนี้เป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่นำร่องประชาธิปไตยชุมชน โดยคนอำนาจเจริญได้ออกมาประกาศธรรมนูญฯของตนเอง หรือข้อตกลงร่วม ที่มีที่มาจากงานพัฒนาที่ร่วมกันทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการ เรื่องสภาองค์กรชุมชนตำบล ฯลฯ เพราะมีฐานทุนที่ดี ทั้งภูมิปัญญา ความรู้ โดยเฉพาะทุนคนซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งเห็นได้ว่าจังหวัดนี้มีการบูรณาการหน่วยงานภาคีต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมเอาพลังความรู้ พลังปัญญา พลังสังคม พลังสื่อ มาร่วมทำงาน
ทั้งนี้ “ธรรมนูญประชาชนคนอำนาจเจริญ” มี 9 หมวด คือ 1.บททั่วไป 2.ปรัชญาแนวคิด 3.การเมืองภาคพลเมือง ที่มีเนื้อหาสร้างสังคมเครือข่ายแห่งการเรียนรู้ตามแนวทางวิถีประชาธิปไตยชุมชน โดยอาศัยสภาหมู่บ้าน ฯลฯ 4.ด้านสังคม เพื่อชุมชนเข้มแข็ง ผู้คนฮักแพงแบ่งปัน สานต่อวัฒนธรรมประเพณี โดยมีข้อเสนอจัดการด้านการศึกษา ด้านสตรี เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และศาสนาความเชื่อ 5.ระบบเศรษฐกิจชุมชน กล่าวถึงการยกระดับการกินดีอยู่ดีของคนในชุมชนโดยทุกครอบครัวจะปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินและแบ่งปัน กองทุนเพื่อการผลิตดอกเบี้ยต่ำ ปรับวิถีการผลิตพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นวิถีเกษตรอินทรีย์ฯลฯ
6.ด้านสุขภาพ สุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ หมวดนี้มีความน่าสนใจตรงการกำหนดให้มี “ธรรมนูญสุขภาพ” ซึ่งทางสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.)สนับสนุนในการจัดทำกระบวนการ 7.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องสิทธิชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเอง ที่ชาวบ้านขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดและตัดสินใจ
8.ด้านการรับรู้ การเข้าถึง และการกระจายข่าวสาร เป็นข้อเสนอด้านการสื่อสารของชุมชน โดยชุมชนต้องเข้าถึง อิสระ เท่าเทียม และเป็นเจ้าของพื้นที่สื่อสาธารณะ ผลิตเนื้อหาสาระด้วยตนเอง หลากหลายเนื้อหาสาร และ 9.บทเฉพาะกาล .