มติ ครม.ช่วยกะเหรี่ยงไร้ผล 1 ปีค้างเติ่ง หน่วยงานไม่เดินเครื่อง
ชุมชนกะเหรี่ยงยังคงไร้ที่ทำกิน สิทธิ์รักษา การศึกษา สัญชาติ ยกไร่หมุนเวียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสะดุดเหตุสวนทางแนวคิดอนุรักษ์ป่ากรมทรัพย์ฯ ก.วัฒนธรรมเร่งคลอด 5 มาตรการสางปัญหา เตรียมเปิดเวทีระดมความคิด 15 จังหวัดเหนือ 25-27 พ.ค.
นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่าในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อติดตามและประสานงานการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยงเมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการหารือถึงแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี 3 ส.ค.53 โดยเฉพาะการส่งเสริมและยอมรับระบบการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยง เป็นประเด็นที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อประโยชน์ในการรักษาและจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และส่งเสริมสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล การศึกษา ฯลฯ
จนถึงขณะนี้การรับทราบของส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้องยังไม่มีความชัดเจน ดังนั้น วธ.จึงมีภาระกิจเร่งด่วน 5 ข้อเพื่อเร่งผลักดันฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง 1.สร้างความเข้าใจในระดับส่วนราชการ โดยส่งประเด็นบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานเพื่อพิจารณาดำเนินการ พร้อมกันนี้ได้มอบหมายส่วนราชการในพื้นที่ 15 จังหวัดที่มีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงอาศัยอยู่ ดำเนินการประชุมในระดับจังหวัดโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อสรุปประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ให้มีความชัดเจนภายใน 15 มิ.ย.นี้
2. มีการศึกษาเขตวัฒนธรรมพิเศษ และการผลักดันไร่หมุนเวียน เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งก่อนหน้านี้มีแย้งจากหน่วยงานที่ดูแลป่าอนุรักษ์ป่าว่าจะเป็นการทำลายป่ามากกว่านั้น ในเบื้องต้นได้มีกลุ่มวิชาการด้านสิทธิทางทรัพยากรและการศึกษา วัฒนธรรม สรุปผลการศึกษาเปรียบเทียบการจัดทำไร่เลื่อนลอยทั่วโลกมาแล้ว ยืนยันว่าการทำไร่หมุนเวียนที่ถูกต้องตามหลักจริงๆจะไม่เป็นการทำลายป่า แต่จะเป็นการฟื้นฟูสภาพป่า อย่างไรก็ตามจะได้ส่งข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวนี้ไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
3. จัดพิมพ์หนังสือความเข้าใจเกี่ยวกับชาติพันธุ์กะเหรี่ยง 5,000 เล่ม แจกจ่ายให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องและคนทั่วไปใช้เป็นคู่มือในการสร้างความ เข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ และการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมสิทธิทางวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง 4.วันที่ 25–27 พ.ค.นี้ วธ.จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องนี้ในพื้นที่ทั้ง 15 จังหวัดร่วมกับนักวิชาการ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด และกลุ่มชาติพันธุ์ ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นแนวทางดำเนินงานให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวกระเหรี่ยงแต่ละจังหวัด
5.ให้ไปศึกษาร่วมกัน 3 ฝ่าย ระหว่างนักวิชาการ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาสังคม ชาวกะเหรี่ยงหรือกลุ่มชาติพันธุ์ ในลักษณะการมีส่วนร่วมเข้มข้นตั้งแต่ระดับชุมชน อยากให้ท้องถิ่นเข้ามีบทบาทโดยตรง แต่ต้องพึ่งพาวิชาการกับหน่วยงานราชการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะขณะนี้ข้อมูลประชากรชาวกะเหรี่ยงในแต่ละจังหวัดไม่ตรงกับข้อมูลกรมการปกครอง จึงขอให้ทั้ง 15 จังหวัดสำรวจข้อมูลร่วมกันให้ตัวเลขชัดเจน เพราะมีผลต่อการขอสัญชาติไทย สิทธิขั้นพื้นฐาน
“ปัญหาที่หนักที่สุดคือที่ทำกิน เพราะมีเรื่องขัดแย้งกันอยู่ เจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำหน้าที่ปกป้องป่าหากมีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน แต่ชาวกะเหรี่ยงขอให้มีการผ่อนปรนการจับกุมดำเนินคดี อ้างว่าครอบครองมาก่อน ตรงนี้ระดับจังหวัดต้องหาข้อยุติให้ได้ว่าบุกรุกอย่างไร มีพื้นที่ผ่อนผันหรือไม่ ผู้ได้รับผลกระทบกี่คน อยากจะให้ได้ข้อยุติเพราะจะมีความเกี่ยวเนื่องการให้โฉนดชุมชน ที่ทำกินแก่ชาวกะเหรี่ยง เพื่อเสนอไปตามกระทรวงต่างๆให้รับทราบและเสนอ ครม.ต่อไป” ปลัด วธ.กล่าว.
ที่มาภาพ : http://karen.hilltribe.org/thai/