ศาลนัดพิพากษา 'จุฑามาศ' รับสินบนเทศกาลหนัง
ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดี"จุฑามาศ"อดีตผู้ว่าฯททท.-ลูกสาว รับสินบนจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ
เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่อัยการฟ้องนางจุฑามาศ ศิริวรรณ อายุ 70 ปี อดีตผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ นางสาวจิตตโสภา ศิริวรรณ บุตรสาว อายุ 43 ปี ร่วมกันทำผิด พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 มาตรา 12 กรณีเรียกรับ เงิน 60 ล้าน จากสามีและภรรยานักธุรกิจชาวอเมริกัน ในจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ Bangkok film ปี 2546 ซึ่งคดีนี้จำเลยได้รับการประกันตัว
สำหรับคดีนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งที่เป็นคดีประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการรับสินบนข้ามชาติ โดยจุดเริ่มต้นของคดีนี้มาจากกรณีที่ศาลสหรัฐอเมริกาและเอฟบีไอได้ดำเนินคดีตามกฎหมาย FCPA ของสหรัฐฯกับนายเจอรัลด์และนางแพทริเซีย กรีน ในข้อหาให้สินบนนางจุฑามาศ ซึ่งเป็นผู้ว่าการททท.ในขณะนั้น เพื่อให้ได้สิทธิในการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Film Festival ก่อนที่สหรัฐจะดำเนินคดีกับนางจุฑามาศและบุตรสาวว่าสมคบคิดรับสินบนดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2553 โดยศาลสหรัฐอเมริกาพิพากษาให้นายเจอรัลและนางแพตริเซีย มีความผิดและถูกตัดสินจำคุก 6 เดือน และต้องจ่ายค่าชดใช้ 250,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 8 ล้านบาท เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2553
หลังถูกดำเนินคดีในต่างประเทศคดีนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เมื่อปี 2554 และได้ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญาต่อนางจุฑามาศ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2554 และส่งสำนวนให้สำนักงานอัยการสูงสุด ก่อนที่อัยการจะมีความเห็นสั่งฟ้องนางจุฑามาศ พร้อมลูกสาว ว่ากระทำผิด พ.รบ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มีอัตราโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 20 ปี ตามมติของคณะทำงานร่วม ต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2558
ทั้งนี้ 9 พ.ย. 2558 นางจุฑามาศ พร้อมลูกสาวเดินทางมาขึ้นศาลในการไต่สวนคดีนัดแรก โดยให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและมีกำหนดสิ้นสุดการไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้ายในวันที่ 10 ส.ค. 2559 ปัจจุบันคดีนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญาแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ
สำหรับทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดรวมมูลค่าประมาณ 1 ล้าน 8 แสนเหรียญสหรัฐฯ หรือ ประมาณ 60 ล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อกลับคืนสู่ประเทศไทยในฐานะรัฐผู้เสียหาย ตามพันธกรณีสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางอาญา และตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ปี 2546