องค์กรสตรีจี้ พม.ตื่นตัวปัญหาคุกคามทางเพศ พบเกินครึ่งถูกลวนลามช่วงสงกรานต์
องค์กรสตรี จี้ พม. ตื่นตัวปัญหาลวนลามคุกคามทางเพศช่วงสงกรานต์ หวั่นทวีความรุนแรง พบสตรีเกินครึ่งเคยถูกลวนลามสงกรานต์ วอนกลไก 1300 ช่วยเหลือ เร่งรณรงค์เปลี่ยนมุมมองให้เกียรติ เคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย
เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2560 ที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว นายจะเด็จ เชาวน์วิไล มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และแกนนำผู้หญิง พ่อแม่ผู้ปกครองกว่า30คน เข้าพบ นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ออกมาตรการป้องกันปัญหาการถูกลวนลาม คุกคามทางเพศช่วงสงกรานต์
นายจะเด็จ กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์มักเกิดปัญหาการละเมิดสิทธิ ลวนลาม คุกคามทางเพศ และทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่เล่นน้ำที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นับวันยิ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ สร้างความเข้าใจที่ผิดๆให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สะท้อนจากผลสำรวจ ทัศนคติผู้หญิงไทยต่อเทศกาลสงกรานต์ ปี 2559 โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้หญิง 1,793 ราย อายุระหว่าง 10-40 ปี พบว่าเกือบทั้งหมดหรือ 85.9% เห็นว่าไม่ควรมีการฉวยโอกาสลวนลามในช่วงสงกรานต์และควรมีมาตรการควบคุมป้องกัน อีกทั้งกลุ่มตัวอย่างเกินครึ่ง หรือ 51.9% เคยถูกฉวยโอกาสถูกลวนลามคุกคามทางเพศมาแล้ว เมื่อถามถึงเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เคยเจอบ่อยที่สุดคือ ถูกฉวยโอกาสคุกคามทางเพศ ตามด้วยถูกก่อกวนจากคนเมาสุรา บังคับให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปัญหาการทะเลาะวิวาท ซึ่งปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ มาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นายจะเด็จ กล่าวว่า ทางมูลนิธิฯ และภาคีเครือข่ายฯขอแสดงความห่วงใยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พม.เป็นหน่วยงานที่ดูแลแก้ปัญหาโดยตรง จึงควรเร่งรณรงค์สร้างกระแสให้การเล่นน้ำสงกรานต์อยู่ในกรอบของการเคารพในเนื้อตัวร่างกาย ให้เกียรติกัน ไม่ฉวยโอกาสลวนลาม คุกคามทางเพศ และปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีข้อเสนอเพื่อให้พม.นำไปพิจารณาดังนี้
1. เร่งรณรงค์ยุติการลวนลามคุกคามทางเพศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและเด็ก รวมไปถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยการเร่งประชาสัมพันธ์กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกำหนดให้มีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์เพื่อการระงับเหตุและบังคับใช้กฎหมายได้ทันท่วงที
2.บูรณาการความร่วมมือกับส่วนราชการอื่นๆ สร้างความตระหนักและร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ตลอดจนภาคีเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่
3.ให้ความสำคัญในปัญหาอันเกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เป็นปัจจัยร่วมสำคัญต่อปัญหาการคุกคามทางเพศ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว จึงควรป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ต้นตอสำคัญ และ 4.มูลนิธิฯ และภาคีเครือข่ายงดเหล้าทุกจังหวัด ยินดีร่วมมือกับกระทรวงฯ ในการรณรงค์ เฝ้าระวังและแจ้งเหตุ เพื่อลดปัญหาดังกล่าว