เจาะมติครม.บิ๊กตู่ vs.หม่อมอุ๋ย แกะรอยท่าที รบ.ทหารกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ?
"...กระทรวงพลังงานมีความเห็นว่า ในขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เพราะมีหน่วยงานรัฐ คือ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติทำหน้าที่แทนรัฐในการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม กำกับดูแลผู้รับสัมปทาน การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติจะเป็นการทำหน้าที่ซ้ำซ้อนและสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน.."
"เมื่อผมพ้นหน้าที่จากคณะรัฐบาลชุดปัจจุบันมาแล้ว ผมระมัดระวังไม่ทำอะไรที่จะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐบาลนี้ ด้วยเห็นว่าจะต้องช่วยกันผลักดันให้ประเทศของเราก้าวหน้าต่อไปอย่างดีที่สุด อย่างไรก็ตามมีอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งผมเฝ้าติดตามเรื่อยมา เพราะหากเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงจะมีผลเสียต่อประเทศชาติเป็นอย่างมากชนิดที่ว่าจะแก้กลับไม่ได้ และนั่นก็คือความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งจะเข้ามามีอำนาจเหนือแหล่งพลังงานและกิจการพลังงานของชาติ”
คือ ข้อความเปิดประเด็นของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ในจดหมายเปิดผนึกถึง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อคัดค้านการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) ก่อนที่ สนช.จะมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับ ที่มีการบรรจุเรื่องของการตั้ง NOC ไว้ในบทเฉพาะกาล ในวันที่30 มี.ค. 2560 นี้ ตามข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอไปแล้ว
(อ่านจดหมายเปิดผนึกฉบับเต็ม ที่นี่ : ผู้มีอำนาจเหนือครม.ดันตั้ง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" ทำประเทศถอยหลังครึ่งศตวรรษ)
หากพิจารณาเนื้อหาโดยสรุปในจดหมายเปิดผนึกของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล จะพบว่ามีสาระสำคัญมุ่งตรงไปที่เรื่องของการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ว่ามีกลุ่มคนบางกลุ่มอยู่เบื้องหลัง และการจัดตั้งถูกสอดแทรกเข้ามาในกฎหมาย โดยไม่ถูกต้องตามขั้นตอน พร้อมเรียกร้อง ให้สมาชิกสนช. ที่จะเข้าประชุมในวันที่ 30 มี.ค.มี2560 นี้ ได้โปรดช่วยชาติด้วยการใช้ความระมัดระวังในการลงคะแนนเสียงเพื่อมีมติเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ปิโตรเลี่ยม ในวาระ 2 และ วาระ 3 ด้วย
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะเป็นอย่างไร? ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเอกสารมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ย้อนหลัง พบว่า ในการประชุมครม. เมื่อวันที่ 4 ส.ค.2558 มีการนำเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาด้วย
โดยที่ประชุมครม. มีมติดังนี้
1. รับทราบคำอธิบายและคำชี้แจงของกระทรวงพลังงานใน 3 ประเด็นต่อข้อสังเกตของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ดังนี้
1.1 ร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไว้เมื่อวันที่12 พฤษภาคม 2558 และได้ผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาแล้ว มีบทบัญญัติสำคัญ ๆ ระบุไว้ชัดเจนแล้ว ทั้งในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย การกำหนดระยะเวลาของสัญญา/ต่อระยะเวลา การแบ่งปันผลประโยชน์รัฐที่เหมาะสมและเป็นธรรม รวมถึงข้อกำหนดอื่น ๆ ที่จำเป็น โดยได้นำกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมบางมาตราในปัจจุบันมาใช้บังคับโดยอนุโลม
1.2 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 ที่ได้เห็นชอบในกรอบแนวทางการบริหารจัดการแหล่งก๊าซที่สัมปทานจะหมดอายุในปี 2565/66 โดยมอบให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้พิจารณาแนวทางในการบริหารจัดการแปลงดังกล่าวให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงความต่อเนื่องของการรักษาระดับการผลิตและผลประโยชน์ของรัฐเป็นสำคัญ แล้วจึงนำมาเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งภายในกรอบเวลา 3 ปี ดังนั้น จึงไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวที่เป็นการดำเนินการเพื่อรองรับการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่
1.3 กระทรวงพลังงานมีความเห็นว่า ในขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เพราะมีหน่วยงานรัฐ คือ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติทำหน้าที่แทนรัฐในการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม กำกับดูแลผู้รับสัมปทาน การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติจะเป็นการทำหน้าที่ซ้ำซ้อนและสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน
2. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้การให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีทางเลือกอีกทางหนึ่งให้รัฐสามารถพิจารณานำระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมนอกเหนือไปจากการพิจารณาให้สัมปทานปิโตรเลียมภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดอัตราและหลักเกณฑ์ในการคำนวณภาษีเงินได้ปิโตรเลียม รวม 2 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว โดยให้รองนายกรัฐมนตรี (ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล) ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานนำร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว รวมทั้งคำอธิบายและคำชี้แจงของกระทรวงพลังงานไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 สภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ได้ข้อสรุป ก่อนเสนอคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป (ดูมติประกอบ)
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ผลการประชุมครม. วันที่ 4 ส.ค.2558 ครั้งนี้ ปรากฏอยู่ในข้อมูลจดหมายเปิดผนึกของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ด้วย
โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ระบุว่า “ผมเสนอร่างดังกล่าวต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ในเดือนพฤษภาคม 2558 คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยเร่งพิจารณาให้จนเสร็จเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมแล้วส่งกลับมายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปรากฏว่า ไม่มีการนำเรื่องเสนอที่ประชุม ครม. จนผมต้องไปตามเรื่องจึงทราบว่าติดอยู่ที่นายกรัฐมนตรี ในที่สุดก็ยอมให้นำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 4 สิงหาคม 2558 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้นำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อตราเป็นกฎหมายออกใช้ เพื่อที่จะได้สามารถเริ่มการสำรวจก๊าซธรรมชาติได้ทันใช้
“ สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือทันทีที่ ครม.มีมติดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้บอกผมว่า ก่อนนำเสนอ สนช. ขอให้ผมชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการพลังงานของ สนช. ผมได้ปฏิบัติตามโดยเชิญคณะกรรมาธิการดังกล่าวมาสนทนากันที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ผู้ที่มาพบมีด้วยกัน 7 คน ปรากฏว่า เป็นอดีตนายทหารระดับสูงถึง 6 คน เมื่อผมชี้แจงแล้วก็ได้รับคำตอบว่า ไม่ขัดข้องที่จะเปิดทางเลือกในการสำรวจและการผลิตให้มีหลายวิธี แล้วเลือกจากวิธีที่ประเทศชาติได้รับประโยชน์สูงสุด แต่เห็นว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังขาดไปอีก 1 เรื่อง คือเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งทำให้ผมประหลาดใจเป็นอย่างมาก ผมได้ชี้แจงกลับทันทีว่าจุดมุ่งหมายของการออก พ.ร.บ.ใหม่ฉบับนี้ก็เพื่อจะเปิดโอกาสให้มีการสำรวจก๊าซธรรมชาติโดยให้ครอบคลุมถึงวิธีการต่างๆให้มากขึ้นกว่าระบบสัมปทานแต่อย่างเดียว ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ไม่เคยมีใครพูดถึงบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเลย กระทรวงพลังงานไม่มีนโยบายในเรื่องนี้ และเมื่อนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ผมร่างกฎหมาย ก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ตัวแทนคณะกรรมาธิการดังกล่าวก็ยังยืนยันว่าควรเพิ่มเติมเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้าไปด้วย ผมได้แจ้งว่าคงจะเติมให้ไม่ได้เพราะไม่ใช่นโยบายของรัฐบาล และจะขอเสนอร่างไปยัง สนช. ตามที่ร่างไว้”
“ครั้นถึง 19 สิงหาคม 2558 ผมก็พ้นจากตำแหน่งโดยยังไม่ทันได้เสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวต่อ สนช. รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนต่อมาได้นำร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเสนอต่อ สนช. ตามเนื้อหาที่ร่างไว้เดิม ปรากฏว่าคณะกรรมาธิการการพลังงานได้เสนอร่าง พ.ร.บ. เพิ่มเติมอีกฉบับหนึ่งเพื่อจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ รัฐบาลจึงส่งร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา หากเห็นด้วยก็อาจรวมเป็นร่างเดียวกันได้
“คณะกรรมการกฤษฎีกาได้เชิญรองนายกรัฐมนตรีที่คุมงานของกระทรวงพลังงานไปชี้แจง ซึ่งท่านได้ชี้แจงว่า ไม่เห็นด้วยและไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ คณะกรรมการกฤษฏีกาจึงได้ปฏิเสธที่จะเพิ่มเติมเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้าไปในร่าง พ.ร.บ. ของรัฐบาล และส่งเรื่องกลับไปยัง ครม. ซึ่งได้มีมติให้ส่งร่างเดิมของรัฐบาลไปยัง สนช. เพื่อพิจารณาออกเป็นกฎหมายต่อไป”
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลมติครม.ย้อนหลังพบข้อเท็จจริงว่า ภายหลังการประชุมครม. เมื่อวันที่ 4 ส.ค.2558 ดังกล่าว ครม.มีการพิจารณาเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ต่อมาอีกอย่างน้อย 4 ครั้ง (เท่าที่ตรวจสอบพบ) คือ
วันที่ 8 ธ.ค. 2558 ครม.มีมติดังนี้
1. รับทราบรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558 เกี่ยวกับการชี้แจงร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ
2. ให้รองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไปชี้แจงทำความเข้าใจต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) และองค์กรพัฒนาเอกชน (Non Government organizations : NGOs) เกี่ยวกับเหตุผลและความจำเป็นในการแก้ไขแผนพลังงานของประเทศ และในประเด็นที่ยังมีข้อขัดแย้งในสังคม เช่น จำนวนแหล่งปิโตรเลียมและปริมาณปิโตรเลียมที่พบ ปริมาณการผลิต รายได้ของรัฐบาลภายใต้ระบบให้สัมปทาน บริษัทต่างประเทศที่สนใจต่อการเปิดระบบสัมปทาน ข้อดีข้อเสียของระบบสัมปทาน ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) และระบบจ้างผลิต การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ และแนวทางแก้ไขการขาดแคลนพลังงาน เป็นต้น
3. ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไปปรับแก้ไขตามข้อสังเกตของรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ดังนี้
3.1 กรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยืนยันให้กระทรวงพลังงานแก้ไขกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมและกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมในประเด็นการเพิ่มระบบสัญญาจ้างผลิต (service contract) และการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาตินั้น ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับร่างพระราชบัญญัติ รวม 2 ฉบับ ไปเพิ่มหลักการตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ โดยอาจกำหนดรายละเอียดไว้ในกฎหมายเฉพาะหรืออนุบัญญัติต่อไป
3.2 กรณีประเด็นที่กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังเห็นว่า สามารถดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญได้ โดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย โดยกำหนดเป็นกฎกระทรวงหรือประกาศได้นั้น เห็นควรให้กระทรวงพลังงานชี้แจงให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ คปพ. และ NGOs ที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจถึงเหตุผลของการดำเนินการดังกล่าวอย่างชัดเจนด้วย (ดูมติประกอบ)
วันที่ 23 ก.พ. 2559 ครม.มีมติดังนี้
รับทราบข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลและการบริหารราชการแผ่นดิน ของ รองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) รายงานเกี่ยวกับการชี้แจงทำความเข้าใจกับคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาในประเด็นการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ นั้น ในขณะนี้กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. อยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติดังกล่าว ส่วนกรณีการปรับอัตราการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน นั้น คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานศึกษาความเหมาะสม ผลดี และผลเสียก่อนเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง (ดูมติประกอบ)
วันที่ 7 มิ.ย 2559 ครม. มีมติดังนี้
1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ของกระทรวงพลังงาน ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 เพื่อกำหนดให้การให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีทางเลือกให้รัฐสามารถพิจารณานำระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตหรือระบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิตมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม นอกเหนือไปจากการพิจารณาให้สัมปทานปิโตรเลียมภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งแก้ไขบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับประโยชน์หรือสิทธิของผู้รับสัมปทานและบทบัญญัติเกี่ยวกับค่าภาคหลวงให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 เพื่อกำหนดผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น รวมถึงกำหนดอัตราและหลักเกณฑ์ในการคำนวณภาษีเงินได้ปิโตรเลียมในระบบการทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม และส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
2. ให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เกี่ยวกับโครงสร้างบรรษัทน้ำมันแห่งชาติและการจัดเก็บรายได้จากการปิโตรเลียมของประเทศไทยทั้งระบบ
3. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรองและกรอบระยะเวลาตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ
4. ให้กระทรวงพลังงานเร่งเสนอกฎหมายลำดับรองตามร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2ฉบับ ต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 4 เดือน และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษเพื่อพิจารณากฎหมายลำดับรองดังกล่าวต่อไป (ดูมติประกอบ)
วันที่ 14 มิ.ย. 2559
ครม. มีมติรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน 2559 ซึ่งให้เสนอร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อบรรจุระเบียบวาระเป็นเรื่องด่วน
ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ระบุข้อมูลในจดหมายเปิดผนึกว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว (ที่ไม่มีเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ) ได้ผ่านการพิจารณาของ สนช. ในวาระหนึ่งและ สนช. ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาในวาระ 2 ปรากฏว่าได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของสภานิติบัญญัติ กล่าวคือในการพิจารณาในวาระ 2 คณะกรรมาธิการวิสามัญได้เพิ่มเติมเรื่องใหม่ซึ่งเป็นการแก้ไขหลักการของ พ.ร.บ. โดยเติมมาตราเกี่ยวกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้าไปในร่าง ทั้งๆ ที่รัฐบาลผู้เสนอร่างไม่มีนโยบายที่จะทำ และไม่มีการระบุหลักการและเหตุผลที่จำเป็นต้องจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติแต่ประการใด การเพิ่มเติมเรื่องใหม่นี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งปรากฏว่า มีการขอเพิ่มเติมข้อความในเรื่องนี้กลับไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการถึงสองครั้ง และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันก็ได้กระทำการที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน โดยการโอนอ่อนผ่อนตามให้มีการเพิ่มมาตราในเรื่องใหม่ดังกล่าว ทั้งที่รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่จะทำ และแม้กระทั่งการศึกษาถึงผลได้ผลเสียตลอดจนความจำเป็นในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ รัฐบาลก็ยังไม่เคยทำไว้ คณะรัฐมนตรีไม่มีความจำเป็นแต่ประการใดเลยที่จะต้องโอนอ่อนผ่อนตามคำขอที่ไม่ชอบมาพากลของคณะกรรมาธิการฯในเรื่องนี้ นอกเสียจากว่าจะเกรงใจใครบางคนหรือกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในคณะรัฐมนตรีด้วย
มาตราที่เพิ่มเติมใหม่นี้คือ มาตรา 10/1 ซึ่งมีข้อความว่า
มาตรา 10/1 ให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม โดยพิจารณาจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการดำเนินการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ
ร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ได้ถูกนำบรรจุวาระเพื่อการพิจารณาในวาระ 2 และ วาระ 3 ในวันที่ 30 มีนาคม 2560 นี้ ซึ่งหากที่ประชุม สนช. มีมติอนุมัติก็จะสามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ทันที ซึ่งหมายความว่ากลุ่มบุคคลที่ต้องการให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ สามารถเริ่มผลักดันด้วยการเริ่มเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ การศึกษาผลดีผลเสียก็คงจะเตรียมกันไว้แล้วในแนวทางที่ต้องการ หน่วยงานที่เห็นว่ายังไม่มีความพร้อมเพียงพอหรือมองเห็นถึงผลเสียเป็นอันมาก ก็คงจะไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะคัดค้านได้ เพราะแม้แต่เรื่องที่รัฐบาลไม่เห็นด้วย กลุ่มบุคคลกลุ่มนี้ก็ยังผลักดันให้ออกมาเป็นกฎหมายจนได้ ต้องมีผู้มีอำนาจหนุนหลังอยู่อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากข้อมูลของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ประกอบกับข้อมูลผลการประชุม ครม. ทั้ง 5 ครั้ง ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบ ปรากฏข้อเท็จจริงได้ดังนี้
ประการแรก ในช่วงที่ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร ยังอยู่ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และผลการประชุม ครม. เมื่อวันที่
4 ส.ค.2558 ดูเหมือนว่า การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ นอกจากจะไม่ถูกพูดถึงแล้ว ยังถูกปฏิเสธอีกด้วย เห็นได้ชัดจากความเห็นของกระทรวงพลังงาน (นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) ที่ระบุว่า ในขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เพราะมีหน่วยงานรัฐ คือ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติทำหน้าที่แทนรัฐในการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม กำกับดูแลผู้รับสัมปทาน การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติจะเป็นการทำหน้าที่ซ้ำซ้อนและสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน
ประการสอง หลังจากที่ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร พันตำแหน่งไปในช่วงกลางเดือน ส.ค.2558 การขับเคลื่อนการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ก็กลับมาปรากฏเป็นทางการอีกครั้ง โดยปรากฏชื่อ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และพลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (รมต.สายทหาร) เป็นผู้รับมอบหมายจากภารกิจจาก ครม. โดยตรง ทั้งในส่วนการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับกลุ่มเอ็นจีโอ กฤษฎีกา และสนช. จนกระทั่งถูกผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.
ส่วนข้อมูลเบื้องหลัง ที่ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร ระบุว่า มีทหารกลุ่มหนึ่ง ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม ที่มีอิทธิพลอยู่ในคณะรัฐมนตรี เป็นผู้ผลักดันแนวคิดเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งจะเข้ามามีอำนาจเหนือแหล่งพลังงานและกิจการพลังงานของชาติ จะมีมูลความจริงมากน้อยเพียงใด?
คงต้องรอฟังคำชี้แจงข้อมูลอีกด้านจากผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ถูกพาดพิง จนดูเหมือนจะกลายเป็นตัวละครเอกสำคัญของเรื่องนี้ไปแล้ว