วอยซ์ ทีวี ก่อนจอดำ ขาดทุนหนัก 409.2 ล. - งบพีอาร์รัฐ หายเกลี้ยง
เปิดกระเป๋าเช็ก‘วอยซ์ ทีวี’ก่อนถูกลงดาบ กสทช.สั่งปิด 7 วัน อ้างเหตุมีรายการต้องห้าม งบการเงินรอบปี 58 ขาดทุน 409.2 ล. ยอดสะสม 1,363.3 ล. พีอาร์หน่วยงานรัฐ ปตท. แบงก์ออมสิน กฟผ. หายเกลี้ยง หลังกวาด หลายสิบล. ช่วงปี 54-56
โดนแจ๊กพอตอีกครั้ง! สถานีโทรทัศน์ บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด เจ้าของช่อง ดิจิทัล Voice TV 21 ธุรกิจของคนในตระกูลชินวัตร ถูกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติพักใช้ใบอนุญาต ทั้งช่อง เป็นระยะเวลา 7 วัน เริ่มตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 28 มีนาคมนี้ โดย พล.ท.พีระพงศ์ มานะกิจ กรรมการในคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้เหตุผลว่า ปล่อยให้มีรายงานวิพากษ์วิจารณ์ โดยดำเนินรายการในลักษณะเป็นการต้องห้ามมิให้ออกอากาศ โดย กสทช. ได้ดำเนินการตักเตือนแล้วหลายครั้ง ถือเป็นการทำผิดซ้ำซาก
แน่นอนว่าการถูกคำสั่งปิดดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อผลประกอบการทั้งทางตรงและอ้อม!
ขณะที่ท่าทีของ วอยซ์ ทีวี แถลงการณ์ระบุว่า จะพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน รวมทั้งการดำเนินการทางแพ่งและปกครองตามความเหมาะสม และ จะปรับการออกอากาศผ่านสื่อออนไลน์
พลิกงบการเงิน ทีวีดิจิตัลแห่งนี้รอบปีสิ้นสุด 2558 แจ้งว่ามีรายได้ 126,887,745 บาท ขาดทุนสุทธิ 409,204,113 บาท งบดุล สินทรัพย์ 1,542,560,409 บาท หนี้สิน 1,195,946,468 บาท ขาดทุนสะสม 1,363,386,059 บาท
ก่อนหน้านี้รอบปี 2557 แจ้งว่ามีรายได้ 117,323,146 บาท รายจ่าย 413,468,494 บาท ส่วนรายจ่ายแจ้งว่า มีต้นทุนบริการ 235,229,469 บาท ค่าใบอนุญาต 60,973,515 บาท ค่าใช้จ่ายในการขาย 37,556,374บาท ค่าใช้จ่ายในการบริหาร 79,709,134.51 บาท ขาดทุนสุทธิ 310,128,621.59 บาท รอบปี 2556 รายได้รวม 157,261,307 บาท รายจ่ายรวม 289,953,144 บาท ขาดทุนสุทธิ 134,094,264 บาท
ยังไม่มีข้อมูลงบการเงินรอบปี 2559
ทั้งนี้ บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2546 ในนาม บริษัท ฮาวคัมเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ทุนเริ่มแรก 5 ล้านบาท วันที่ 1 ธ.ค. 2551 เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท วอยซ์สเตชั่น จำกัด และเปลี่ยนบริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด เมื่อ 19 มิ.ย. 2552
หลังจากก่อตั้งจดทะเบียนเพิ่มทุนอีก 7 ครั้ง ล่าสุดวันที่ 12 ก.พ. 2557 ทุนจดทะเบียน 2,310 ล้าน บาท ตั้งอยู่เลขที่ 414 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจผลิตรายการเพื่อออกอากาศทั่วไป ณ วันที่ 9 ก.ย. 2559 นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ถือจำนวน 123,000,000 หุ้น (53.24%) บริษัท พี.ที.คอร์ปอเรชั่น จำกัด (กลุ่มชินวัตร) 92,400,000 หุ้น (40%) นายพานทองแท้ ชินวัตร 14,543,995 หุ้น (6.29%) น.ส. พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ 1,056,000 หุ้น (0.45%) นายเฉลิม แผลงศร 2 หุ้น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร 3 หุ้น นายพานทองแท้ ชินวัตร น.ส.พินทองทา ชินวัตร นายเฉลิม แผลงศร นายทรงศักดิ์ เปรมสุข น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายประทีป คงสิบ และ นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย เป็นกรรมการ
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2559 บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ออกเเถลงการณ์ ปรับลดพนักงานลงจำนวน 57 อัตรา โดยให้เหตุว่าเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตอย่างยั่งยืน และ เพื่อให้องค์กรมีขนาดที่เหมาะสมต่อการทำงานในภาวะการแข่งขันอย่างสูงมากในธุรกิจทีวีดิจิตอล
ในยุครัฐบาลก่อนหน้านี้ช่วง มิ.ย.2554-ธ.ค.2556 บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด เป็นคู่สัญญาประชาสัมพันธ์กับหน่วยงานภาครัฐ อาทิ ปตท. ธนาคารออมสิน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมการขนส่งทางบก รวม 9 สัญญา วงเงินอย่างน้อย 55.4 ล้านบาท
ไม่พบข้อมูลว่าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐในช่วงหลัง 22 พ.ค.2557 เป็นต้นมา
นี่คือสภาพผลประกอบการทางธุรกิจของบริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ธุรกิจสื่อของกลุ่มชินวัตร สุด พลิกผันในยามที่อำนาจการเมืองเปลี่ยนทิศ
อ่านประกอบ:
'วอยซ์ ทีวี' ปลดพนักงาน 57 คน อ้างปรับโครงสร้างองค์กร
“วอยซ์ทีวี”เดินหน้ากวาดโฆษณาหน่วยงานรัฐยอดทะลัก 53 ล้าน
"วอยซ์ทีวี" โชว์รายได้ดิจิทัลปีแรก 117ล. ขาดทุน 310 ล้าน หลังใส่เงินเพิ่มพันล.
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก News - Voice TV