ญี่ปุ่นฆ่าไก่ 3แสนสกัดหวัดนกลามดันไทยราคาพุ่ง
สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่น รายงานว่า เจ้าหน้าที่จังหวัดมิยางิ ทางตะวันออกของประเทศ และจังหวัดชิบะ ซึ่งอยู่ใกล้กับกรุงโตเกียว เตรียมฆ่าไก่รวม 3 แสนตัวในสัปดาห์หน้า เพื่อป้องกันเชื้อไข้หวัดนก สายพันธุ์ H5 ระบาด หลังตรวจพบว่าไก่ในฟาร์มเลี้ยงบางส่วนตายด้วยเชื้อไวรัสดังกล่าว
รายงานระบุว่า ทางจังหวัดมิยางิจะเตรียมฆ่าไก่ราว 2.2 แสนตัว ในวันจันทร์นี้ และฝังกลบใต้พื้นดิน โดยรัฐบาลท้องถิ่นจะระดมกำลังเจ้าหน้าที่จากกองกำลังป้องกันตนเองมาร่วมดำเนินการดังกล่าวด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นการกำจัดปศุสัตว์จำนวนมาก หลังพบเชื้อไข้หวัดนกจากไก่ราว 6 ตัวที่ตายไป จากทั้งหมด 96 ตัวเมื่อ 3 วันก่อนหน้านี้ ด้านจังหวัดชิบะ เปิดเผยว่า จะกำจัดไก่ทั้งหมดราว 2.8 หมื่นตัว เนื่องจากพบว่าไก่ราว 10 ตัว จาก 118 ตัว ตายจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ ทั้งสองจังหวัดวางมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ด้วยการกำจัดให้เคลื่อนย้ายไก่และไข่ไก่ภายในรัศมี 3 กิโลเมตร จากจุดที่พบเชื้อระบาด รวมถึงสั่งห้ามนำไก่และไข่ไก่ออกจากพื้นที่เกินรัศมี 10 กิโลเมตร
"มาตรการรับมือในเบื้องต้นนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อจำกัดไก่ที่ติดเชื้อดังกล่าว" ยูจิ ยามาโมโตะ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรกรรม ป่าไม้ และการประมง ของญี่ปุ่น กล่าว พร้อมเสริมว่า รัฐบาลกลางจะดำเนินการร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นของจังหวัดมิยางิและจังหวัดชิบะอย่างใกล้ชิด
ในช่วงที่ผ่านมา ญี่ปุ่นพบเชื้อไข้หวัดนกระบาดในจังหวัดมิยาซากิและจังหวัดซางะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ และคำสั่งล่าสุดนั้นทำให้ทางการญี่ปุ่นต้องฆ่าไก่รวมแล้วกว่า 1.67 ล้านตัว นับตั้งแต่เดือน พ.ย.ปีที่แล้ว เมื่อพบเชื้อไข้หวัดนกระบาดครั้งแรกที่จังหวัดอาโอโมริ ทางตอนเหนือ
สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยนั้น บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับทิศทางตลาดค้าเนื้อสัตว์ หลังเนื้อสัตว์จากบราซิลถูกแบนจากประเทศคู่ค้าว่าจะส่งผลบวกและโอกาสต่อธุรกิจไก่ส่งออกของไทยที่จะส่งออกเนื้อสัตว์ ซึ่งรวมถึงไก่ไปยังประเทศที่แบนสินค้าจากบราซิลได้มากขึ้นแม้จะเป็นเหตุการณ์ชั่วคราวก็ตาม
ทั้งนี้ การส่งออกที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ปริมาณผลิตในประเทศตึงตัวขึ้น จะส่งผลให้ราคาเนื้อสัตว์และสินค้าตามผลิตภัณฑ์ในประเทศมีโอกาสปรับขึ้น ซึ่งเป็นผลบวกกับผู้ประกอบการ ซึ่งบริษัทที่จด ทะเบียนในตลาด ได้แก่ จีเอฟพีที (GFPT) เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) เป็นต้น