ศาลจังหวัดระนอง ยกฟ้องจำเลยคดีค้ามนุษย์แรงงานประมงชาวกัมพูชา 11 คน
ศาลจังหวัดระนอง พิพากษา ยกฟ้อง คดีไต้ก๋งเรือคดีค้ามนุษย์ 11 แรงงานกัมพูชา ยัน พยานหลักฐานไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า มีการกระทำความผิดจริง ผู้เสียหายไม่เต็มใจทำงาน ส่วนเรื่องยึดหนังสือเดินทาง ชี้กระทำด้วยเหตุผล
เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ศาลจังหวัดระนองได้อ่านคำพิพากษา ยกฟ้อง ในคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดระนอง เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายเรืองชัย ผิวงาม ไต๋ก๋งเรือ ก.นาวามงคลชัย 1 เป็นจำเลยที่ 1 และนายสมชาย เจตนาพรสำราญ เจ้าของกิจการแพปลาในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เป็นจำเลยที่ 2 (หมายเลขคดีดำที่ คม.2/2559 และคม.4/2559) ในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์, ร่วมกันค้ามนุษย์ตั้งแต่สามคนขึ้นไปโดยบังคับใช้แรงงาน ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพของผู้ถูกข่มขืนใจเองหรือโดยใช้กำลังประทุษร้าย หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และให้ผู้อื่นกระทำการใดให้แก่ผู้กระทำหรือบุคคลอื่นต่อผู้เสียหายแรงงานประมงชาวกัมพูชาจำนวน 11 คน
คคีนี้ ผู้เสียหาย ได้แต่งตั้งให้ทนายความโดยการสนับสนุนของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือทางกฎหมาย รวมทั้งยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดระนองเพื่อเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ
สำหรับคำพิพากษา ทื่ศาลจังหวัดระนองยกฟ้องนั้น เนื้อหาใจความสรุปว่า
1.จากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้เสียหายในคดีถูกนำพามายังประเทศไทยโดยช่องทางที่ถูกต้องตามกฎหมายและพักอยู่บนเรือ ก.นาวามงคลชัย 1 เพื่อรอทำงานอยู่ประมาณครึ่งเดือน และรู้แล้วว่าต้องไปทำงานบนเรือประมงมิใช่การคัดแยกปลา โจทก์ร่วมบางส่วน จึงได้หลบหนีเพื่อไปขอความช่วยเหลือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อตั้งใจให้ตำรวจจับและส่งกลับบ้าน แต่เมื่อพบกับตำรวจก็ไม่ได้แสดงท่าทีว่าตนถูกหลอกหรือถูกบังคับและยังขึ้นรถกระบะเพื่อกลับมายังที่พัก อีกทั้ง ผู้เสียหายยังมีโอกาสในการพบเจ้าหน้าที่อีกหลายครั้ง เช่น วันที่ไปทำหนังสือคนประจำเรือหรือวันที่ออกเรือ แม้ว่าผู้เสียหายจะสื่อสารภาษาไทยไม่ได้แต่หากแสดงท่าทางขัดขืนก็จะสามารถเข้าใจได้ ดังนี้การกระทำของผู้เสียหายจึงขัดกับวิสัยของผู้ที่อยู่ภายใต้การบังคับของผู้อื่น
2.เมื่อผู้เสียหายที่หลบหนีกลับมาถึงที่พักแล้ว ได้มีการเรียกประชุมชี้แจง ทำนองว่า หากใครประสงค์จะกลับบ้านให้นำเงินค่าใช้จ่ายและค่าหนังสือเดินทาง จำนวน 30,000 บาท มาจ่ายให้แก่นายหน้า โดยครั้งหนึ่งได้มีญาติของแรงงานคนหนึ่งได้นำเงินมาจ่ายให้กับนายหน้า จึงได้กลับบ้านไปโดยไม่มีการกักกันไว้ ส่วนกลุ่มผู้เสียหาย นายหน้ายังได้มีการดูแลพาไปซื้อของใช้เพื่อเตรียมออกไปทำงานและรอส่งผู้เสียหายลงเรือประมง ซึ่งหากนายหน้าหลอกลวงกลุ่มผู้เสียหายมาจริงก็ไม่จำเป็นต้องอยู่รอ
นอกจากนี้ช่วงเวลาที่ผู้เสียหายอาศัยอยู่ในสถานที่พักก่อนลงเรือ ก็ไม่ได้มีการปิดประตูที่อยู่อาศัย และไม่ปรากฏว่า มีผู้ใดถูกทำร้ายร่างกาย จึงเป็นการผิดวิสัยของผู้ที่บังคับ หลอกลวงผู้อื่นมาขาย
3. การทำงานบนเรือประมงนอกน่านน้ำจะมีเครื่องมือในการช่วยทุ่นแรงของแรงงานประมง โดยมีช่วงการทำงานที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับจำนวนปลาที่จับได้ โดยผู้เสียหายจะมีเวลาพักผ่อนช่วงเวลาปล่อยอวนจนถึงเวลากู้อวน นอกจากนี้เวลาที่มีการเปลี่ยนสถานที่จับปลาก็ได้มีการพักผ่อน การทำงานดังกล่าวเป็นเรื่องของสภาพงานที่ต้องทำต่อเนื่องกันไปจนเสร็จ มิเช่นนั้นอาจทำให้ปลาเน่าเสียได้
4.จากคำให้การของผู้เสียหายที่ว่า ถูกไต้ก๋งทำร้ายร่างกายนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ร่วมบางคนไม่เคยทำงานประมงทะเลมาก่อน การทำงานในระยะแรก อาจยังไม่มีความชำนาญ จึงถูกไต๋กงเรือคนที่ 1 ดุด่าและทำร้าย และไต้ก๋งคนดังกล่าว ไม่ใช่ผู้กระทำความผิดในคดีนี้ จึงเห็นได้ชัดเจนว่า วิธีการทำงานนั้นขึ้นอยู่กับการจัดการและอุปนิสัยของไต้ก๋งเรือแต่ละคน
5. ส่วนคำให้การของผู้เสียหายที่กล่าวว่า มีลูกเรือคนไทยที่กระโดดเรือเพื่อหลบหนี ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ลูกเรือคนไทยบางคนได้กลับมาทำงานในเรืออีกครั้งและไม่ปรากฏว่าลูกเรือไทยคนใดร้องเรียนว่าถูกบังคับให้ทำงานและจากการสัมภาษณ์ก็ไม่พบว่า มีลูกเรือไทยคนใดที่เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์
6. เรื่องการยึดหนังสือเดินทางของโจทก์ร่วมไว้กับไต๋ก๋งนั้น ได้มีนายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมประมงนอกน่านไทย เบิกความเป็นพยานของจำเลย ว่า เมื่อเรือประมงออกเดินทางแล้ว ไต๋ก๋งจะเก็บหนังสือเดินทางและหนังสือคนประจำเรือไว้เพื่อสะดวกในการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบหากไม่มีให้ตรวจสอบลูกเรืออาจถูกจับกุม แต่เมื่อเดินทางกลับแล้วไต้ก๋งเรือจะคืนเอกสารให้แก่คนงาน จึงน่าเชื่อว่า การเก็บหนังสือเดินทางของโจทก์ร่วม กระทำด้วยเหตุผลดังกล่าวมากกว่ามิให้โจทก์ร่วมทั้งหมดหลบหนี
7. ครอบครัวของผู้เสียหายได้มีการยืนยันว่า ได้รับเงินจากนายหน้าเป็นค่าจ้างของผู้เสียหาย ส่วนประเด็นที่ว่านายหน้าได้มีการหักเงินเท่าใดนั้น เป็นคนละกรณี ส่วนค่าจ้างที่ค้างจ่ายนั้นเนื่องจากสภาพการทำงานประมงเป็นสภาพที่แตกต่างจากงานทั่วไปและการจ่ายค่าจ้างนั้นแรงงานกับนายจ้างสามารถตกลงกันเองได้ แต่เมื่อผู้เสียหายกลับขึ้นฝั่งก็ถูกนำไปอยู่ที่สถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จังหวัดระนอง จึงไม่เปิดโอกาสให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างที่ค้างกับผู้เสียหายได้ อย่างไรก็ตามนางคำนึงนวลได้นำเงินค่าจ้างของโจทก์ร่วมทั้งหมด ไปฝากไว้กับเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานให้นำจ่ายให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ด จนครบถ้วนแล้ว
8. ดังนั้นจากข้อเท็จจริง พยานหลักฐานที่กล่าวมาไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า มีการกระทำความผิดจริง ผู้เสียหายไม่เต็มใจทำงานเพราะรู้สึกเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานหนักและถูกไต้ก๋งเรือคนที่ 1 ดุด่าทำร้ายเนื่องจากทำงานล่าช้ามากกว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงาน จึงพิพากษายกฟ้อง
ทั้งนี้ ที่มาของคดีนี้ เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2559 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดระนอง ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 25 กองกำลังเทพสตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเข้าตรวจสอบสภาพความเป็นอยู่บนเรือประมงของลูกเรือทั้ง 3 ลำที่ได้ออกไปทำประมงนอกน่านน้ำที่ประเทศอินโดนีเซียและประเทศปาปัวนิวกินี กล่าวคือ เรือ ก.นาวามงคลชัย 1 มีลูกเรือทั้งหมด 21 คน ประกอบด้วยคนไทย 3 คน กัมพูชา 18 คน เรือ ก.นาวามงคลชัย 5 (ไม่ทราบจำนวนลูกเรือ) และเรือ ก.นาวามงคลชัย 8 มีลูกเรือทั้งหมด 24 คน ประกอบด้วยคนไทย 8 คน กัมพูชา 16 คน โดยสาเหตุที่มีการเรียกตรวจสอบเรือดังกล่าว สืบเนื่องจากการประสานของเจ้าหน้าที่จากจังหวัดสมุทรสงครามว่า มีเหตุลูกเรือชาวไทยจำนวน 5 คน ได้กระโดดออกจากเรือดังกล่าวก่อนที่จะออกจากน่านน้ำประเทศไทย ซึ่งได้มีการตั้งข้อหาค้ามนุษย์เป็นคดีในขณะนี้อยู่ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ โดยจากผลจากการตรวจสภาพความเป็นอยู่บนเรือ และการนำลูกเรือทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการคัดแยกเหยื่อจากการค้ามนุษย์ พบว่ามีการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์บนเรือประมงจำนวน 2 ใน 3 ลำ คือ เรือนาวามงคลชัย 1 พบว่ามีผู้เสียหายชาวกัมพูชาจำนวน 11 คน และเรือนาวามงคลชัย 8 พบผู้เสียหายชาวกัมพูชา 4 คน รวมผู้เสียหายทั้งหมด 15 คน