เรื่องของขยะบนเกาะพีพี
ทัศนียภาพของหมู่เกาะพีพี ที่นักท่องเที่ยวเห็นไม่มีขยะตกต้าง สะอาด สวยงามน่าท่องเที่ยวนั้น เบื้องลึกเบื้องหลัง อบต.อ่าวนางรับภาระหนักขนาดไหนกับขยะในแต่ละปีที่เพิ่มขึ้น สำนักข่าวอิศรา นำตัวเลขการจัดซื้อจัดจ้างของ อบต.อ่าวนางกับการจัดเก็บขยะมูลฝอย ย้อนหลังไปประมาณ 2 ปี คือ ปี 2558-2560 พบมี 12 สัญญา เสียงบประมาณไปกว่า 52 ล้านบาท
เกาะพีพี ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของไทย มีชื่อเสียงระดับโลก โดยในแต่ละปีมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพีเพิ่มขึ้นทุกปี ตัวเลขล่าสุดปี 2559 มีนักท่องเที่ยวกว่า 1.7 ล้านคน และในปี 2560 ยอดสิ้นสุดที่เดือน ก.พ. มีนักท่องเที่ยวแล้ว 6.8 แสนคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมากว่า 20,000 คน
ขณะที่จำนวนประชากรบนเกาะพีพี มี 1,649 คน 215 ครัวเรือน ประชากรแฝงราว 3,000 คน นับจำนวนโรงแรม 79 แห่ง สถานประกอบการทัวร์ 15 แห่ง ร้านอาหาร 46 แห่ง ร้านดำน้ำ 6 แห่ง ร้านนวด 22 แห่ง ธนาคาร 3 แห่ง ตลาดสด 1 แห่ง พลาซ่า 1 แห่ง มินิมาร์ท 12 แห่ง โรงไฟฟ้า 1 แห่ง และโรงพยาบาล 4 แห่ง
ด้วยความเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศนี้เอง ทำให้เกาะพีพีประสบปัญหาหนักด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในเรื่องของน้ำเสียที่ถูกปล่อยทิ้งจากสถานประกอบการ ขยะทั้งบนบกและในทะเล ที่สามารถพบเห็นได้
“การจ้างเหมาการกำจัดขยะบนเกาะพีพี ใน 1 ปี จะสูญเสียงบประมาณไปไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ในขณะเดียวกันทางอบต.อ่าวนาง ได้เก็บค่าขยะจากสถานประกอบการในแต่ละร้าน 1 ปีจะมีรายได้จากการเก็บค่าขยะเพียง 1-2 ล้านบาทเท่านั้น”
นายประเสริฐ วงศ์นา รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ ให้ข้อมูลกับคณะสื่อมวลชนที่เดินทางร่วมโครงการรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก สร้างสังคม “ปันเป๋า” ปลูกจิตสำนึกลด ละ เลิก ใช้ถุงพลาสติก จัดโดย เทสโก้ โลตัส กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กลุ่มพิทักษ์พีพี
รองนายกอบต.อ่าวนาง เล่าให้ฟังถึงโมเดลการกำจัดขยะที่เกาะพีพีว่า ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อน ขยะหนึ่งชิ้นนั้นมีการเดินทางอย่างไร ซึ่งการกำจัดขยะบนเกาะพีพีนั้น อบต.อ่าวนาง มีหน้าที่ในการจัดการขยะ เป็นผู้บริหารจัดการงบประมาณ โดยจ้างผู้รับเหมาให้ไปเก็บขยะตามครัวเรือน ร้านอาหารทุกแห่ง โรงแรมทุกแห่ง และให้ผู้ประกอบการนำขยะใส่ถุงดำเอาไว้ จากนั้นใช้รถซาเล้งขนส่งขยะจากสถานประกอบการไปที่ท่าเรือ
"ผู้รับเหมาจะนำขยะไปลงเรือที่ท่าเรือ ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกระทั้งถึง 05:00 น. ก่อนที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางมาท่องเที่ยวบนเกาะพีพี หลังจากนั้นผู้รับเหมานำขยะทั้งหมดลงเรือเพื่อต่อให้กับเทศบาลเมืองกระบี่" ประเสริฐ อธิบายให้เห็นถึงขั้นตอนการแยกขยะในเบื้องต้น ก่อนนำไปฝังกลบเป็นขั้นตอนสุดท้าย
เมื่อถามถึงการจ้างเหมาเอกชนให้เข้ามากำจัดขยะนั้น “ประเสริฐ” บอกว่า ใน 1 ปี จะสูญเสียงบประมาณไป 10 ล้านบาท ในขณะเดียวกันทางอบต.อ่าวนาง เก็บค่าขยะจากสถานประกอบการในแต่ละร้าน 1 ปีมีรายได้จากการเก็บค่าขยะเพียง 1-2 ล้านบาทเท่านั้น
นอกจาก อบต.อ่าวนาง รับหน้าที่จัดการขยะที่มีอยู่มากมายบนเกาะพีพีแล้ว เขาบอกว่า เกาะพีพียังต้องรับมือกับปัญหาขยะที่มากับร่องมรสุมที่พัดพาขยะจากหลากหลายประเทศมาด้วย
ด้วยสภาพของเกาะพีพีเป็นเกาะที่อยู่กลางทะเล สิ่งแวดล้อมของเกาะพีพีก็จะเป็นเกาะแก่งต่าง ๆ ในช่วงหน้ามรสุมขยะจะลอยมาเป็นลักษณะคล้ายแพ ตามกระแสน้ำ ทั้งขวด ถุงพลาสติก ถุงกระสอบ และอื่น ๆ
“ทะเลของประเทศไทย อยู่ในน่านน้ำทะเลจีนใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก ล้อมรอบด้วยประเทศมาเลเซีย กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งร่องมรสุมนั้นพัดผ่านประเทศไทย จะนำพาขยะในทะเลมาด้วย ซึ่งเรายังไม่มีมาตรการกำจัดขยะทะเลแบบนี้เลย”
ขณะที่มีข้อมูลของกรีนพีซ ระบุว่า ทุกปีมนุษย์ผลิตพลาสติกใช้มากถึง 300 ล้านตัน และจะมีพลาสติกประมาณ 10 ล้านตัน เล็ดลอดเข้าไปอยู่ในท้องทะเลและมหาสมุทรทั่วโลก
ส่วนในประเทศไทยเอง ฐานข้อมูลขยะทะเลเมื่อปี 2558 ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบ 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลมีปริมาณขยะมากถึง 10 ล้านตัน และมีขยะมากถึง 5 ล้านตันที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง จนมีโอกาสถูกพัดพาลงทะเล กลายเป็นขยะทะเล ซึ่งแต่ละปีจะมีขยะพลาสติกลงทะเลมากถึง 5 หมื่นตัน หรือ 750 ล้านชิ้น จำนวนนี้เป็นถุงพลาสติกมากที่สุดถึง 13%
“ปัจุบันต้องยอมรับว่าในการจัดการขยะผู้รับผิดชอบหลักคือ กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น” นายสากล ฐินะกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ระบุถึงอำนาจหน้าที่ และเห็นว่า เรื่องของขยะที่รัฐบาลจัดให้เป็นวาระแห่งชาติ ก็เพราะที่ผ่านมาแต่ละคนผลิตขยะปริมาณ 1.1 กิโลกรัมต่อวัน ตัวเลขเมื่อปี 2558 ปริมาณขยะจากค่าเฉลี่ยได้มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คนหนึ่งคนผลิตขยะราว1.4-1.9 กิโลกรัมต่อวัน ดังนั้น ทางกระทรวงมหาดไทยจึงกำหนดว่า ทุกองค์กรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีการแยกหรือกำจัดขยะเบื้องต้นก่อน 5% หลังจากนั้นส่วนที่เหลือก็ต้องไปสู่กระบวนการกำจัดขยะต่อไป
อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม หวังว่า การกำจัดขยะก็จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นต่อจากนี้ไป
ในมุมมองภาคเอกชน นายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองประธานกรรมการ แผนกสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน เทสโก้ โลตัส เล่าถึงสิ่งที่เทสโก้ โลตัสทำมากว่า 5 ปี และยังคงมุ่งมั่นที่จะรณรงค์ให้ลูกค้า ประชาชนลดการใช้ถุงพลาสติกให้ได้มากที่สุด
เขาพบว่า ลูกค้าทั่วประเทศที่หันมาเห็นความสำคัญลดใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจังมีมากขึ้น จนสามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกได้ราว100 ล้านใบแล้ว
“ที่เกาะพีพีได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กลุ่มพิทักษ์พีพี ฯลฯ ตลอดจนกลุ่มเครือข่ายอิสระอย่างกรีนพีซ ประเทศไทย มาร่วมพูดคุยถึงวิฤตการใช้ถุงพลาสติกที่กำลังส่อเค้ารุนแรง ซึ่งเทสโก้ โลตัส ได้นำถุงผ้าจากโครงการ ปันเป๋า จำนวน 1,000 ใบ สร้างสังคมยืมคืนมุ่งปลูกฝังพฤติกรรมลดใช้ถุงอย่างจริงจัง”
พร้อมกับหวังว่า ภาครัฐจะให้ความสนใจกับปัญหาขยะจากถุงพลาสติกอย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมเปิดประชาพิจารณ์ 3 จังหวัดชายฝั่ง ได้แก่ กระบี่ ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และมองหามาตรการที่เหมาะสมในการลดการใช้ถุงพลาสติก
“แพขยะ” ขนาดใหญ่กลางอ่าวไทย ภาพที่หลายคนได้เห็นจากการแชร์ต่อกันในโลกโชเชียลมีเดีย “วุฒิศักดิ์ ทองเกิด” ประธานกลุ่มผู้พิทักษ์พีพี หนึ่งในจิตอาสาทำหน้าที่ดูแลปัญหาขยะทั้งบนบกและในทะเล รวมกลุ่มก่อตั้งผู้พิทักษ์พีพี มากว่า 2 ปี วันนี้มีสมาชิกที่เป็นอาสาสมัครแล้วกว่า 200 คน
ขยะในทะเล ก็คือหนึ่งในหน้าที่หลักของกลุ่มผู้พิทักษ์พีพี
เขาบอกว่า การดูแลปัญหาขยะทั้งบนบกและในทะเล การจัดการปัญหาขยะบนบกนั้น ฝ่ายที่รับผิดชอบคือ อบต.อ่าวนาง โดยที่ผ่านมามีมาตรการการเก็บขยะโดยการจ้างเหมาเรือขนขยะจากเกาะพีพีไปฝั่งกลบที่เทศบาลเมืองกระบี่ กลุ่มผู้พิทักษ์พีพีเป็นผู้ที่คอยช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระในการขนขยะขึ้นเรือเพื่อนำไปฝังกลบ ส่วนในเรื่องของมาตรการการกำจัดขยะในทะเลนั้น กลุ่มผู้พิทักษ์พีพีจะเก็บขยะหากมีการพบเจอขยะในทะเล ซึ่งโดยส่วนใหญ่ขยะนั้นพบเป็นจำนวนมากในช่วงมรสุม ซึ่งถูกพัดพามาตามกระแสน้ำ หากกลุ่มผู้พิทักษ์พีพีมีการพบเจอขยะในทะเล ก็จะดำเนินการเก็บทันที
การดูแลและแก้ไขปัญหาน้ำเสีย ประธานกลุ่มผู้พิทักษ์พีพี ชี้ว่า ที่ผ่านมามีสถานประกอบกว่า 40 แห่งเกิดขึ้นบนเกาะพีพี ยอมรับว่า มีการแอบปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล โดยไม่มีการบำบัด กลุ่มผู้พิทักษ์พีพีก็จะมีหน้าที่ควบคุม พร้อมกำหนดมาตรการการบำบัดน้ำเสีย ทั้งการต่อท่อบำบัดน้ำเสียเข้ากับสถานประกอยการเกือบทุกแห่ง รวมไปถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมใต้ทะเล โดยเฉพาะปะการัง หลังชาวบ้านบนเกาะพีพีเอง หันมาทำอาชีพเกี่ยวกับการบริการนักท่องเที่ยวชมเกาะต่าง ๆ บริเวณหมู่เกาะพีพี ปัญหาที่พบมาสุด คือ เรื่องของการทิ้งสมอเรือลงบนแนวปะการัง มีผลทำให้ปะการังแตกหักเสียหายได้ ทางกลุ่มผู้พิทักษ์พีพีก็จะมีมาตรการในการช่วยสอดส่องดูแล จัดหาทุ่นลอยน้ำไว้สำหรับให้เรือใหญ่จอด จนสามารถลดความเสียหายของปะการังได้
ทัศนียภาพของหมู่เกาะพีพี ที่นักท่องเที่ยวเห็นไม่มีขยะตกต้าง สะอาด สวยงามน่าท่องเที่ยวนั้น เบื้องลึกเบื้องหลัง อบต.อ่าวนางรับภาระหนักขนาดไหนกับขยะในแต่ละปีที่เพิ่มขึ้น สำนักข่าวอิศรา นำตัวเลขการจัดซื้อจัดจ้างของ อบต.อ่าวนางกับการจัดเก็บขยะมูลฝอย ย้อนหลังไปประมาณ 2 ปี คือ ปี 2558-2560 พบมี 12 สัญญา เสียงบประมาณไปกว่า 52 ล้านบาท ดังนี้
ปี 2560
- อบต.อ่าวนาง ทำสัญญากับหจก.ส.สุระซัพพลาย ซื้อรถบรรทุกขยะแบบยกถังคอนเทนเนอร์ 1 คัน 3.6 ล้านบาท
- อบต.อ่าวนาง ทำสัญญากับ หจก.ชาจันดี จ้างดูแลรักษาต้นไม้และเก็บขยะ ม.2,3,5 วงเงิน 3.2 ล้านบาท
- อบต.อ่าวนาง ทำสัญญากับ หจก.ชาจันดี จ้างบรรทุกขยะมูลฝอยจากเกาะพีพีไปบังท่าเรือน้ำลึกกระบี่ วงเงิน 6.6 ล้านบาท
- อบต.อ่าวนาง ทำสัญญากับหจก.บริหารจัดการสิ่งแวดล้อมกระบี่ จ้างเก็บขนขยะม.1-6 วงเงิน 8.4 ล้านบาท
- อบต.อ่าวนาง ทำสัญญากับนายอิสม่าแอน บ้าเหร็ม จ้างเก็บกวาดบรรทุกขยะมูลฝอย ม.7 วงเงิน1.4 ล้านบาท
ปี 2559
- อบต.อ่าวนาง ทำสัญญากับหจก.ชาจันดี บรรทุกขยะจากเกาะพีพี วงเงิน 6.6 ล้านบาท
- อบต.อ่าวนาง ทำสัญญากับหจก.บริหารจัดการสิ่งแวดล้อม เก็บขยะหมู่ที่1-6 วงเงิน 8.5 ล้านบาท
- อบต.อ่าวนาง ทำสัญญากับ นายอิสม่าแอน บ้าเหล็ม เก็บขยะ หมู่ที่7 วงเงิน 1.4 ล้านบาท
ปี 2558
- อบต.อ่าวนาง ทำสัญญากับหจก.บริหารจัดการสิ่งแวดล้อมกระบี่ เก็บขนขยะม.1-6 และขยะจากท่าเทียบเรือ วงเงิน 2 ล้านบาท
- อบต.อ่าวนาง ทำสัญญากับหจก.บริหารจัดการสิ่งแวดล้อมกระบี่ จัดเก็บขยะ วงเงิน 4.6 ล้านบาท
- อบต.อ่าวนาง ทำสัญญากับหจก.ชาจันดี ขนขยะ วงเงิน 5 ล้านบาท
- อบต.อ่าวนาง ทำสัญญากับนายอิสม่าแอน บ้าหรีมเก็บ กวาด บรรทุกขยะ นายอิสม่าแอน บ้าหรีม วงเงิน 1.1 ล้านบาท