เคาะ 8 จ.ภาคกลางรับน้ำล้านไร่-จ่อผุด 5 เขื่อน
ทัวร์นกขมิ้นนายกฯ เห็นชอบ 8 จว. อยุธยา สุพรรณ ปราจีน สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี นครนายก รับน้ำล้านไร่ ด้าน กยน.ลุยสร้าง 5 เขื่อนใหม่ แม่วงก์ แม่แจ่ม แก่งเสือเต้น น้ำตาด
ทั้งนี้ วิทยา บูรณศิริ รมว.สาธารณสุข แถลงหลังนายกรัฐมนตรีได้ประชุมร่วมกับ 8 ผู้ว่าราชการจังหวัดดังกล่าวที่ศูนย์ ศิลปาชีพบางไทร อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ว่าการหาพื้นที่รับน้ำใน 8 จังหวัด ได้มีพื่นที่สำหรับการบริหารจัดการน้ำทั้งสิ้น 969,140 ไร่ หรือรวมประมาณ 1 ล้านไร่ ซึ่งจะเป็นพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำในส่วนลุ่มน้ำภาคกลางและกลางน้ำตอนล่าง
นอกจากนี้ ยังไม่ได้เสนอขอให้มีการแก้ไขในส่วนของโครงการแฟล็กชิป หรือโครงการระบบน้ำเร่งด่วนระยะสั้น 17 โครงการ วงเงิน 419.14 ล้านบาท อาทิ การขุดลอกคูคลอง โครงการแก้มลิงและโครงการซ่อมแซมฝายน้ำล้น และยังอนุมัติโครงการปรับปรุงและยกระดับทางหลวงใน 4 จังหวัด 6 โครงการ 279.27 ล้านบาท
ด้าน ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รม.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การประชุมในส่วนของการแก้ไขปัญหาของนิคมอุตสาหกรรมนั้น ทางผู้ประกอบการได้เสนอแนวทางมา 5 ข้อ คือ 1.เรื่องเร่งรัดชดเชยประกันภัยที่ยังมีผู้ประกอบการอีก 20% ที่ยังไม่ได้รับเงินชดเชย ในส่วนนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ประสานงานต่อไป
2.ผู้ประกอบการต้องการทราบรายละเอียดที่ชัดเจนในเรื่องของการจ่ายเงินสมทบการก่อสร้างเขื่อนดิน หรือแนวคันดินเพื่อป้องกันน้ำท่วม ว่าในรายละเอียดต้องทำอย่างไร ซึ่งจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในคราวต่อไป 3.เรื่องความประสงค์ในการได้รับข้อมูลประชาสัมพันธ์ในส่วนการป้องกันอุทกภัยภายนอกนิคมฯ และการเปิดเผยข้อมูลระดับน้ำภายในพื้นที่
ขณะที่ข้อ 4.เรื่องของการผันน้ำจาก จ.นครสวรรค์ ไปทางพื้นที่ฝั่งตะวันออกโดยผ่านเส้นทาง จ.ลพบุรี สระบุรี และฉะเชิงเทรา โดยพิจารณาความเหมาะสมในการจัดสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมใน จ.พระนครศรีอยุธยา และ 5.เสนอให้รัฐบาลปฏิบัติตามแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน ควรคำนึงถึงระดับโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนระบบโลจิสติกส์ การคมนาคมและขนส่งกระจายสินค้า
ด้าน ชัชชาติ ลัทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม กล่าวว่า ได้มีแนวทางการดำเนินการปรับปรุงเส้นทาง โลจิสติกส์ต่างๆ โดยโครงการเหล่านี้ได้บรรจุไว้ในแผนของ กยน.แล้ว และได้มีการออกแบบ เริ่มหาผู้จัดจ้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายใน 4 เดือน ทันกับช่วงที่น้ำจะมารอบใหม่
นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนในการบกระดับถนนริมแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นอีก 50-100 ซม. ตลอดความยาวของแม่น้ำเบื้องต้นได้เสนอ กยน.ไปเป็นระยะทาง 400 กม.
วิเชียร พวงลำเจียก อุปนายกสมาคมชาวนาไทยและแกนนำชาวนา จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า เรียกร้องรัฐบาลให้สนใจชาวนาในพื้นที่รับน้ำ โดยหากเอาพื้นที่ลุ่มภาคกลางโดยเฉพาะ จ.พระนครศรีอยุธยา รับน้ำนั้น ต้องการให้จ่ายชดเชยน้ำท่วมเดือน ก.ย.-ธ.ค. ไร่ละ 7,000 บาท และในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. จะต้องสามารถจัดหาน้ำเพื่อให้ทำนาปรังได้ 2รอบ/ปี และต้องดำเนินการรับจำนำข้าวที่ราคา 1.5 หมื่นบาท/ตัน และช่วยเรื่องปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และน้ำมันราคาถูก
ด้าน นายกิจจา ผลภาษี กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ (กยน.) และประธานอนุกรรมการด้านการวางแผนและกำหนดมาตรการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เปิดเผยว่าอนุกรรมการจะเสนอแผนให้ กยน.พิจารณาสร้างเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำหลักรวม 5 แห่ง เพื่อกักเก็บน้ำและแก้จุดอ่อนการจัดการน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
แผนสร้างเขื่อนใหม่ 5 แห่ง ประกอบด้วย 1.เขื่อนแม่วงก์ กั้นแม่น้ำสะแกกรัง ที่ จ.อุทัยธานี 2.เขื่อนแม่แจ่ม กั้นลำน้ำแม่แจ่ม ลำน้ำสาขาแม่ปิง จ.เชียงใหม่ 3.เขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำยม ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณา ว่าจะแบ่งเป็นการสร้างเขื่อน 2 จุดหรือสร้างเขื่อนจุดเดียว
4.เขื่อนน้ำตาด จ.น่าน และ 5.อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็ก 6-7 แห่ง เหนือแม่น้ำป่าสัก โดยพื้นที่ตั้งอ่างเก็บน้ำจะอยู่ จ.เพชรบูรณ์ เขื่อนทั้ง 5 แห่งดังกล่าวจะเก็บน้ำได้รวม 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนงบประมาณลงทุนยังระบุไม่ได้ขึ้นอยู่กับออกแบบ
นายชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล กรรมการ กยน. กล่าวว่า กยน.ได้วางแผนจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาพื้นที่ 1.6 แสนตารางกิโลเมตร แบ่งเป็น 1.พื้นที่รับน้ำในเขื่อนหลักภาคเหนือ
2.พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างจนถึง จ.นครสวรรค์ พื้นที่ 5 หมื่นตารางกิโลเมตร ซึ่งมีกำหนดพื้นที่รับน้ำนอง 1 ล้านไร่
3.พื้นที่ตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ ลงมาถึง จ.พระนครศรีอยุธยา พื้นที่ 5 หมื่นตารางกิโลเมตร ซึ่งมีการกำหนดพื้นที่รับน้ำนอง 1 ล้านไร่ และ 4.พื้นที่เศรษฐกิจหลัก หรือพื้นที่ปิดล้อม พื้นที่ 1 หมื่นตารางกิโลเมตร ที่ต้องมีการลงทุนระบบป้งกันน้ำท่วม เพราะพื้นที่แห่งนี้มีประชากร 10 ล้านคน เป็นพื้นที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ของประเทศ โดยได้เตรียมเงินลงทุนไว้ 1.2 แสนล้านบาท